พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการนโยบายการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (EEC) ครั้งที่ 1/2560 ที่ท่าอากาศยานอู่ตะเภา อ.บ้านฉาง จ.ระยอง โดยมีนายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรีฝ่ายเศรษฐกิจ ตลอดจนรัฐมนตรี และหัวหน้าส่วนราชการที่เกี่ยวข้องเข้าร่วมประชุม
การประชุมวันนี้รองนายกรัฐมนตรีฝ่ายเศรษฐกิจเตรียมเสนอให้ประกาศพื้นที่บริเวณสนามบินอู่ตะเภาเป็นเขตส่งเสริมระเบียงเขตเศรษฐกิจภาคตะวันออก หรือเมืองการบินภาคตะวันออก (Eastern Airport City) ในพื้นที่ 6,500 ไร่ และการพัฒนารถไฟความเร็วสูง เส้นทางกรุงเทพ-ระยองที่จะต้องประกาศ TOR ให้เอกชนมาลงทุนในกลางปีนี้และเปิดประมูลให้ได้ในปีนี้ หลังผ่านขั้นตอนการจัดทำรายงานผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA) แล้ว
พร้อมกันนั้น นายกรัฐมนตรีจะพบปะผู้บริหารระดับสูงของบริษัทเอกชนชั้นนำต่างชาติที่สนใจเขามาลงทุน ทั้งกลุ่มผลิตยานยนต์ อุตสาหกรรมยางรถยนต์ อุตสาหกรรมพลังงาน และอุตสาหกรรมไอซีทีกว่า 20 ราย รวมทั้งจะมีการหารือถึงแผน EEC การสร้างรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน รถไฟรางคู่เชื่อม 3 ท่าเรือ เขตนวัตกรรมด้านเทคโนโลยีและดิจิตัล และการสร้างเมืองใหม่ ในจังหวัดฉะเชิงเทราเป็นต้น
นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า การพัฒนาสนามบินอู่ตะเภามีความคืบหน้าไปมาก เพราะจากการลงพื้นที่เมื่อ 9 เดือนที่แล้วภาพรวมยังไม่เป็นแบบนี้ ดังนั้น วันนี้จึงรู้สึกอารมณ์ดี เพราะได้เห็นอนาคต และขอทุกคนอย่าติดกับดักตัวเอง ก่อนที่นายกรัฐมนตรีจะชูมือทำสัญลักษณ์ "ไอเลิฟยู" ให้กับเจ้าหน้าที่และสื่อมวลชนในอาคาร
ด้าน พล.ท.วีรชน สุคนธปฏิภาค รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ผู้บริหารระดับสูงของบริษัทเอกชนชั้นนำต่างชาติที่สนใจลงทุนในโครงการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (EEC) เข้าเยี่ยมคารวะพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี โดยนายกรัฐมนตรีแสดงความยินดีที่ได้พบกับคณะภาคเอกชนในวันนี้ พร้อมแสดงความขอบคุณในความเชื่อมั่นต่อศักยภาพของประเทศไทย และขอบคุณในความร่วมมือที่มีให้กับประเทศไทยมาโดยตลอด
โอกาสนี้ นายกรัฐมนตรีได้แนะนำคณะรองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีที่เข้าร่วมการหารือ อาทิ นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม นายอุตตม สาวนายน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม และนางอรรชกา สีบุญเรือง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี เป็นต้น
"นายกรัฐมนตรียืนยันว่า รัฐบาลมีเจตนารมย์อย่างมุ่งมั่น ที่จะทำให้พื้นที่ระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออกเป็นการสร้างอนาคตของประเทศไทย ซึ่งจำเป็นต้องได้รับการสนับสนุนจากภาคเอกชน โดยรัฐบาลได้ดำเนินการอย่างต่อเนื่องเพื่ออำนวยความสะดวกแก่นักลงทุน ทั้งทางด้านกฎหมาย และสิทธิประโยชน์ต่างๆ อย่างไรก็ตามการพัฒนาต้องเป็นไปอย่างสมดุลกับธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ตามแนวทางของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช
ทั้งนี้ นายกรัฐมนตรีเชื่อมั่นว่าโครงการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก จะเป็นประโยชน์อย่างสูงกับประเทศไทย ภูมิภาค CLMV รวมถึงประชาชนในพื้นที่ ซึ่งรัฐบาลจะดูแลประชาชนโดยรอบให้ได้รับประโยชน์สูงสุด มีการเติบโตอย่างเข้มแข็ง มีรายได้ที่เพียงพอ นอกจากนี้รัฐบาลยังได้จัดหาบุคลากร พัฒนาด้านการศึกษา การผลิตคน เพื่อให้รองรับการเติบโตของ EEC ในอนาคต
โอกาสนี้ภาคเอกชนได้แสดงความคิดเห็นและสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับนโยบายการพัฒนาพื้นที่ระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก อาทิ BMW แสดงความขอบคุณรัฐบาลที่ให้การสนับสนุนการดำเนินธุรกิจของบริษัทฯ ในไทยมาโดยตลอด โดยเห็นว่า EEC จะเป็นประโยชน์ด้านการขนส่งสินค้าแก่บริษัทฯ และยืนยันความพร้อมในการทำงานร่วมกับรัฐบาลอย่างใกล้ชิด
โดย LAZADA ระบุว่า บริษัทฯ ได้ดำเนินธุรกิจในไทยกว่า 5 ปี ในด้าน E-commerce โดยหวังให้รัฐบาลพัฒนาด้านบุคลากรเพื่อรองรับด้านดิจิทัลในอนาคต
ส่วน Toyota ระบุว่า บริษัทฯ มีแผนการลงทุนในไทยอย่างเต็มที่ โดยมีพื้นที่การผลิตหลักอยู่ที่จังหวัดฉะเชิงเทรา อย่างไรก็ดี ขอให้รัฐบาลดูแลเรื่องถนนหนทางที่ขาดแสงสว่าง ซึ่งอาจก่อให้เกิดอุบัติเหตุได้
ขณะที่ PPTGC กล่าวว่า พร้อมให้การสนับสนุน EEC อย่างเต็มที่ โดยเห็นว่าการพัฒนาด้านการศึกษา เทคโนโลยีระดับสูง นวัตกรรม และการให้ข้อมูลแก่นักลงทุนเป็นสิ่งที่สำคัญ
ส่วน Google และ Microsoft ได้แสดงความคิดเห็นด้านนวัตกรรม และความสำคัญของการพัฒนาบุคลากร การลงทุนด้านการศึกษา โดยเฉพาะในด้านดิจิทัล
พล.ท.วีรชน กล่าวว่า นายกรัฐมนตรีแสดงความขอบคุณภาคเอกชนที่ร่วมหารือในวันนี้ และขอบคุณในข้อคิดเห็นที่เป็นประโยชน์ โดยเฉพาะในด้านการศึกษานั้นขอให้มั่นใจว่ารัฐบาลกำลังพัฒนาบุคลากรอย่างเต็มที่ เพื่อให้รองรับต่อการเติบโตทางเศรษฐกิจในอนาคต ทั้งนี้ นายกรัฐมนตรียินดีหากทุกท่านจะมีส่วนร่วมในการสร้างประวัติศาสตร์ให้ประเทศไทยหลุดพ้นจากกับดักรายได้ปานกลาง โดยขอให้ภาคเอกชนมั่นใจว่า EEC จะเป็นไปตามแผนยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี มีความต่อเนื่องและยั่งยืน โดยไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง นายกรัฐมนตรีขอให้ภาคเอกชนมีความไว้เนื้อเชื่อใจ สร้างประโยชน์ร่วมกัน และลดความหวาดระแวง พร้อมยืนยันว่ารัฐบาลยินดีเปิดรับภาคเอกชนทุกราย
ทางด้านนายฮิโรกิ มิทสึมาตะ ประธานองค์การส่งเสริมการค้าต่างประเทศของญี่ปุ่น (เจโทร) และหัวหน้าผู้แทนประจำภูมิภาคอาเซียน กล่าวภายหลังจากมีการหารือและรับฟังแนวนโยบายในการส่งเสริมการลงทุนใน EEC จากนายกรัฐมนตรี ทางญี่ปุ่นมีความเชื่อมั่นมากขึ้นและพร้อมเข้ามาลงทุนในไทย
นอกจากนี้ อยากให้ทางรัฐบาลเพิ่มสิทธิ์ประโยชน์พิเศษให้กับบริษัทญี่ปุ่นที่มีความสามารถด้านนวัตกรรมใหม่ เช่น ยานยนต์อัตโนมัติ โรงงานผลิตพืชผล หรืออุตสาหกรรมหุ่นยนต์ เป็นต้น และสนใจเข้ามาลงทุนในอีอีซี ซึ่งเชื่อว่าจะมีส่วนช่วยในการดึงดูดให้เข้ามาลงทุนใน EEC มากขึ้น
นายฮิโรกิ กล่าวต่อว่า สำหรับสิทธิประโยชน์พิเศษนั้น อยากให้รัฐบาลยกเว้นกฏเกณฑ์ด้านแรงงานที่มีศักภาพ ซึ่งปกติจะสามารถจ้างแรงงานต่างชาติ 1 คนต่อ 4 คนแรงงานไทย เพราะหากมีแรงงานต่างชาติที่ศักภาพมากขึ้นจะช่วยยกระดับบุคลากรไทยที่ทำงานใน EEC ได้มากขึ้นด้วย พร้อมทั้งอยากให้รัฐบาลให้สิทธิพิเศษให้กับบริษัทที่ลงทุนใน EEC หากมีการนำเข้าสินค้าที่ต้องมีการขึ้นทะเบียนกับ อย. อยากให้มีการเร่งกระบวนการการขึ้นทะเบียนสินค้าให้เร็วขึ้น
"สิทธิประโยชน์ด้านภาษี มีส่วนช่วยในดูงดึดนักลงทุนได้ในระดับหนึ่ง แต่หากเป็นอุตสาหกรรมที่เป็นนวัตกรรมใหม่ๆ สิทธิประโยชน์ทางภาษีเพียงอย่างเดียวอาจไม่เพียงพอ จึงอยากให้มีการพิจารณาเป็นรายกรณีไป"นายฮิโรกิ กล่าว
ด้านนายวิกรม กรมดิษฐ์ ผู้ก่อตั้ง บมจ. อมตะ คอร์ปอเรชัน (AMATA) กล่าวว่า โครงการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (EEC) ต้องมีการส่งเสริมให้เกิดอุตสาหกรรมในนวัตกรรมใหม่ๆ ไม่ว่าจะเป็นด้ายอุตสาหกรรมการบิน ส่งเสริมการวิจัยและพัฒนาบุคลากร ด้านการแพทย์ การสร้างเมืองใหม่และต้องพัฒนาผลิตภัณฑ์ให้มีความทันสมัย ซึ่งทางอมตะได้เตรียมพื้นที่ประมาณ 10,000 ไร่เพื่อรองรับในการพัฒนาเข้าสู่อีอีซี โดยได้ยึดแนวทางรัฐบาลในการก้าวสู่ไทยแลนด์ 4.0 และเห็นว่าต้องเปลี่ยนลักษณะการลงทุน การบริหาร และการพัฒนาการศึกษาเพื่อรองรับ EEC
"นายกรัฐมนตรีได้ให้ความมั่นใจกับนักลงทุนที่หารือร่วมกันว่า การลงทุนใน EEC จะมีการประกาศออกมาเป็นกฏหมาย เพื่อให้เกิดผลด้านการพัฒนาในระยะยาว ซึ่งเม็ดเงินลงทุน 1.5 ล้านล้านบาท จะเข้าไปลงทุนทั้งทางด้านสาธารณูปโภค การขนส่ง ท่าเรือน้ำลึกและสนามบิน แต่เห็นว่าโครงการที่จำเป็นเร่งด่วนที่รัฐบาลต้องดำเนินการ คือ โครงการรถไฟความเร็วสูง ซึ่งเชื่อว่าจะเปลี่ยนแปลงภาพลักษณ์ของ EEC ได้ และหากจัดทำหลักเกณฑ์ที่ชัดเจนให้ทันในปีนี้จะทำให้เกิดการพัฒนาภายในประเทศ ส่งผลดีต่อการส่งออกและมีผลทำให้ GDP ของประเทศปรับตัวดีขึ้นได้"นายวิกรม กล่าว