นักวิชาการแนะรัฐออกแบบนโยบายเข้าถึงแหล่งทุนของภาคครัวเรือนให้เหมาะสมหวั่นเป็นภาระงบประมาณ

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday April 5, 2017 15:43 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายกฤษฎ์เลิศ สัมพันธารักษ์ ที่ปรึกษาสถาบันวิจัยเศรษฐกิจป๋วย อึ๊งภากรณ์ กล่าวในงาน PIER Research Brief หัวข้อ "พฤติกรรมการใช้จ่ายของครัวเรือน" โดยระบุว่า ภาคครัวเรือนของไทยโดยเฉพาะในพื้นที่ชนบทยังประสบปัญหาข้อจำกัดทางการเงินหลายด้าน เช่น ข้อจำกัดในการบริหารสภาพคล่องและกระจายความเสี่ยง, ข้อจำกัดการเข้าถึงแหล่งเงินทุนเพื่อการลงทุนในธุรกิจ, ข้อจำกัดในการเข้าถึงอาชีพที่มีความเสี่ยงของรายได้ต่ำ และข้อจำกัดในการเข้าถึงบริการทางการเงินที่ช่วยลดการผันผวนของการบริโภค เป็นต้น

ทั้งนี้ การบริโภคของภาคครัวเรือนในชนบทของไทยมีความผันผวนสูง ซึ่งเป็นไปตามรายได้ เนื่องจากไม่มีเงินออม หรือไม่มีความสามารถกู้เงินเพื่อมาใช้จ่ายได้ อีกทั้งยังไม่สามารถเลือกอาชีพที่สามารถสร้างรายได้ที่มีความมั่นคง ดังนั้น นโยบายรัฐบาล ควรให้การสนับสนุนให้ตรงจุดมากขึ้น ซึ่งที่ผ่านมามักเกิดปัญหาจากการใช้นโยบาย เพราะเป็นลักษณะนโยบายเดียวแต่ใช้ปฏิบัติกับทุกครัวเรือน ไม่แยกแยะตามลักษณะของประชากร จึงทำให้ผลตอบสนองต่อการบริโภคมีประสิทธิผลไม่เท่ากัน

"ตัวอย่างเช่นนโยบายกองทุนหมู่บ้าน ซึ่งบางแห่งก็ต่อยอดได้ดี บางแห่งก็บริหารติดลบ เนื่องจากวัตถุประสงค์ รัฐบาลต้องการเอาเงินไปใส่ในหมู่บ้าน และให้ชุมชนมากู้ไปใช้เพื่อลงทุน แต่ก็ไม่สามารถทำให้เกิดการลงทุนได้มากนัก เนื่องจากมีข้อจำกัดเช่น เงินทุนที่ได้มาน้อยเกินไป หรือไม่มีความสามารถในการลงทุน จึงนำเงินนั้นไปบริโภคแทน แสดงให้เห็นว่านโยบายยังไม่สามารถจำกัดความที่ตอบสนองต่อลักษณะของแต่ละคนได้ดีพอ" นายกฤษฎ์เลิศ กล่าว

พร้อมระบุว่า ต้องติดตามโครงการลงทะเบียนผู้มีรายได้น้อยของรัฐบาลในระยะต่อไป เพราะหากไม่มีการนิยามคำว่า "ผู้มีรายได้" ให้ตรงจุดได้ ก็จะเป็นต้นทุนของรัฐบาล ทำให้การใช้เงินภาษีของประเทสไม่เกิดประสิทธิภาพ เนื่องจากจะไม่สามารถตรวจสอบได้อย่างทั่วถึงว่าบุคคลนั้นมีรายได้หรือทรัพย์สินเป็นไปตามหลักเกณฑ์หรือไม่ เพราะเป็นการให้ประชาชนแจ้งข้อมูลด้วยตัวเอง ในขณะที่ต่างประเทศการดำเนินนโยบายในลักษณะนี้ จะมอบหมายให้ชุมชนเข้ามาทำหน้าที่ตรวจสอบอีกขั้นหนึ่ง

นายกฤษฎ์เลิศ กล่าวว่า การกำหนดนโยบายเพื่อลดข้อจำกัดทางการเงินต่างๆ จะต้องออกแบบและนำไปใช้ด้วยความระมัดระวัง เช่น กรณีการเข้าถึงแหล่งเงินทุน ซึ่งพบว่ามีธุรกิจครัวเรือนจำนวนมากให้ผลตอบแทนสูงกว่าอัตราดอกเบี้ย แต่ครัวเรือนไม่สามารถขอสินเชื่อเพื่อนำมาขยายธุรกิจได้ ดังนั้น หากภาครัฐต้องการสนับสนุนก็ต้องให้นโยบายช่วยเหลือเข้าถึงแหล่งเงินทุน เช่น การค้ำประกันสินเชื่อหรือร่วมลงทุน มากกว่าการให้นโยบายสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำที่ไม่ได้แก้ปัญหาให้ครัวครัวเรือนบางกลุ่มเข้าถึงแหล่งเงินทุนได้


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ