นายคณิศ แสงสุพรรณ เลขาธิการคณะกรรมการนโยบายการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก (EEC) เปิดเผยว่า ในการประชุมคณะกรรมการ EEC นัดแรกที่มี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นประธานวันนี้ ที่ประชุมฯ เห็นชอบตามข้อเสนอของกองทัพเรือที่ให้ประกาศพื้นที่ 6,500 ไร่ ของสนามบินอู่ตะเภา เป็นเขตส่งเสริมระเบียงเศรษฐกิจพิเศษตะวันออก "เมืองการบินภาคตะวันออก"
พร้อมระดมการลงทุนในกิจกรรมสำคัญ อาทิ เพิ่มทางวิ่งมาตรฐานอีก 1 ทางวิ่ง ลงทุนในกลุ่มกิจกรรมหลัก 5 กลุ่ม ได้แก่ 1.กลุ่มอาคารผู้โดยสารและการค้า 2.กลุ่มอุตสาหกรรมอากาศยาน 3.กลุ่มธุรกิจขนส่งทางอากาศ 4.กลุ่มธุรกิจซ่อมเครื่องบิน และ 5. กลุ่มศูนย์ฝึกอบรมบุคลากรอากาศยานและธุรกิจการบิน
ขณะที่ในอนาคตอาจมีอีก 3 กิจกรรมเพิ่มเติมในพื้นที่ใกล้เคียง คือ 1.กลุ่มธุรกิจท่าเรือพาณิชย์ 2.ศูนย์การแพทย์เฉพาะด้าน และ 3.อุตสาหกรรมเทคโนโลยีป้องกันประเทศ รวมถึงให้ศึกษาความเป็นไปได้ของโครงการโดยให้มีการรับฟังความคิดเห็นจากนักลงทุน จัดทำรูปแบบให้เอกชนร่วมทุน และจัดทำสัญญาการร่วมทุนกับเอกชนให้แล้วเสร็จภายในสิ้นปีนี้
นายคณิศ กล่าวด้วยว่า ที่ประชุมฯ ยังเห็นชอบตามข้อเสนอของกระทรวงคมนาคมให้ปรับปรุงระบบขนส่งทางรางให้รถไฟความเร็วสูงสายตะวันออก ความเร็ว 250 กิโลเมตร/ชม. สามารถวิ่งเชื่อมโยงทั้ง 3 สนามบิน คือ สนามบินสุวรรณภูมิ, สนามบินดอนเมือง และสนามบินอู่ตะเภา โดยวิ่งให้บริการในเส้นทางร่วมกับรถไฟฟ้าแอร์พอร์ตลิงค์ พญาไท-สุวรรณภูมิ และแอร์พอร์ตลิงค์ส่วนขยาย พญาไท-ดอนเมือง ซึ่งผู้โดยสารจะใช้เวลาเดินทางจาก กทม.-ระยอง โดยไม่ต้องเปลี่ยนขบวนรถในเวลาไม่เกิน 1 ชั่วโมง ซึ่งมอบหมายให้การรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) เร่งทำการศึกษาความเหมาะสมและขอรับการจัดสรรงบประมาณ
คณะกรรมการฯ ยังรับทราบความก้าวหน้าการปรับปรุงกฎระเบียบและวิธีทำงานให้มีประสิทธิภาพมากขึ้นใน 3 เรื่อง คือ เร่งรัดกระบวนการร่วมทุนกับเอกชนสำหรับโครงการสำคัญใน EEC ให้แล้วเสร็จภายใน 8-10 เดือน, เรื่องของเขตปลอดอากรที่ปลอดเอกสาร เพื่อให้เกิดความสะดวก รวดเร็ว, การชักจูงผู้ลงทุนรายสำคัญมาลงทุนในอุตสาหกรรมเป้าหมาย อาทิ รถยนต์ไฟฟ้า อุตสาหกรรมดิจิทัล และศูนย์การแพทย์
เลขาธิการ EEC กล่าวด้วยว่า คณะกรรมการฯ ยังเห็นชอบแนวทางการพัฒนาเขตเทคโนโลยีระดับโลกของไทย 2 แห่ง คือ 1.เขตนวัตกรรมระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก ระยะแรก พื้นที่ 350 ไร่ ที่วังจันทร์วัลเล่ย์ จังหวัดระยอง โดยให้กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีไปศึกษาความเป็นไปได้ เพื่อประกาศเป็นเขตส่งเสริมเศรษฐกิจพิเศษ ภาคตะวันออกโดยเร็ว และ 2.เขตนวัตกรรมดิจิตัลภาคตะวันออก ในพื้นที่ 800 ไร่ บริเวณอำเภอศรีราชา จังหวัดชลบุรี ซึ่งมอบหมายให้กระทรวงดิจิตัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมเป็นผู้ดำเนินการ
พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี แถลงผลการประชุมคณะกรรมการ EEC ว่า EEC ถือเป็นก้าวแรกในการเปลี่ยนแปลงประเทศไทยใหม่ไปสู่ประเทศที่มีรายได้สูง ซึ่งในอนาคตอาจจะมีการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจในพื้นที่อื่นเพื่อเชื่อมโยงกับทุกพื้นที่อุตสาหกรรม นอกจากนี้ รัฐบาลยังได้ผลักดันเขตเศรษฐกิจพิเศษใน 10จังหวัด ที่จะเชื่อมโยงกับ EEC เพื่อเชื่อมต่อไปยังกลุ่มประเทศ CLMV และประชาคมโลกต่อไป
สำหรับการพบปะหารือกับผู้บริหารภาคเอกชน พบว่าทุกคนมีความพึงพอใจในโครงการของรัฐบาล ซึ่งประเด็นสำคัญคือการสร้างความไว้เนื้อเชื่อใจซึ่งกันและกัน สร้างผลประโยชน์ที่เท่าเทียมและเป็นธรรม สร้างผลประโยชน์กับประชาชนในพื้นที่และประชาชนโดยรวม พร้อมกับฝากให้ทุกคนช่วยกันสร้างสิ่งดีๆ ให้กับประเทศไทย เพราะหากไม่ทำวันนี้ อนาคตก็จะไม่มี จึงต้องแก้ปัญหาและสร้างอนาคตจากวันนี้สู่วันหน้าด้วยการผลักดันโครงการในลักษณะเช่นเดียวกับ EEC อย่างต่อเนื่อง
นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ขณะนี้มีความคืบหน้าในการปรับปรุงกฎหมาย ระเบียบ สิทธิประโยชน์ และการรับฟังความคิดเห็นจากภาคเอกชน และรัฐบาลได้เดินหน้าผลักดันการอำนวยความสะดวกด้านการลงทุน ซึ่งถือเป็นการปฏิรูปมาโดยตลอด โดยถือเป็นการเริ่มต้นในช่วง 5 ปีแรกของยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี พร้อมเน้นย้ำเรื่องการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ที่จะต้องผลิตบุคลากรให้ตรงกับความต้องการของตลาดแรงงาน โดยเฉพาะแรงงานมีฝีมือ และพัฒนาทักษะด้านภาษา และสร้างแรงกระตุ้นให้เกิดการพัฒนาตนเอง ซึ่งภาพรวมทั้งหมดเป็นหน้าที่ของรัฐบาลที่ต้องผลักดัน
พล.อ.ประยุทธ์ ยืนยันด้วยว่าการพัฒนาสนามบินอู่ตะเภา ไม่เกี่ยวข้องกับการเอื้อประโยชน์ให้กองทัพเรือ ซึ่งพื้นที่ดังกล่าวเป็นพื้นที่ด้านความมั่นคง แต่ได้มีการหารือและมีข้อตกลงที่จะใช้ประโยชน์ในพื้นที่ดังกล่าวทั้งเชิงพาณิชย์และความมั่นคง ซึ่งมีการจัดทำแนวทางไว้ในขณะนี้และในอนาคตไว้แล้ว