(เพิ่มเติม) ม.หอการค้า เผยดัชนีเชื่อมั่นผู้บริโภค มี.ค.อยู่ที่ 76.8 ดีขึ้นต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 4 และสูงสุดในรอบ 24 เดือน

ข่าวเศรษฐกิจ Friday April 7, 2017 12:33 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

ศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย เปิดเผยว่า ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภค ในเดือน มี.ค.60 อยู่ที่ 76.8 จาก 75.8 ในเดือน ก.พ.60 ขณะที่ดัชนีความเชื่อมั่นต่อเศรษฐกิจโดยรวม อยู่ที่ 65.1 จาก 64.3 ในเดือน ก.พ.60

ส่วนดัชนีความเชื่อมั่นเกี่ยวกับโอกาสการหางานทำ อยู่ที่ 71.4 จาก 70.3 และ ดัชนีความเชื่อมั่นเกี่ยวกับรายได้ในอนาคต อยู่ที่ 93.8 จาก 92.8

ทั้งนี้ ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคในเดือน มี.ค.60 ปรับตัวดีขึ้นต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 4 และสูงสุดในรอบ 24 เดือน

สำหรับปัจจัยบวกที่ส่งผลต่อดัชนีฯ มาจากคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ปรับคาดการณ์อัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจของไทยในปี 60 เพิ่มเป็น 3.4% จากเดิม 3.2% พร้อมทั้งคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ 1.5%, ราคาน้ำมันขายปลีกในประเทศปรับตัวลดลง และ ค่าเงินบาทแข็งค่าขึ้น

ขณะที่ปัจจัยลบ ได้แก่ การส่งออกในเดือน ก.พ.60 หดตัว 2.76% เป็นการกลับมาติดลบอีกครั้งในรอบ 4 เดือน, ราคาสินค้าเกษตรยังทรงตัวในระดับต่ำ โดยเฉพาะข้าว, ผู้บริโภคยังกังวลปัญหาค่าครองชีพ รวมทั้ง ความกังวลเกี่ยวกับความไม่แน่นอนในการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก และนโยบายเศรษฐกิจของนายโดนัลด์ ทรัมป์ ประธานาธิบดีสหรัฐ

นายธนวรรธน์ พลวิชัย ผู้อำนวยการ ศูนย์พยากรณ์ฯ เปิดเผยว่า ในเดือนมี.ค.60 ดัชนีความเชื่อมั่นปรับตัวดีขึ้นทุกรายการต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 4 ซึ่งส่งผลให้ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคโดยรวมอยู่ที่ระดับ 76.8 ซึ่งเป็นระดับที่ดีที่สุดในรอบ 24 เดือน นับตั้งแต่เดือนมี.ค.58 เป็นต้นมา

ศูนย์พยากรณ์ฯ คาดการณ์ว่าการบริโภคของภาคประชาชนจะพื้นตัวดีขึ้นเป็นลำดับในช่วงครึ่งแรกของปีนี้ โดยเฉพาะในช่วงเดือน พ.ค. หรือปลายไตรมาส 2 หากรัฐบาลอัดฉีดเม็ดเงินงบประมาณกลางปีกว่า 1 แสนล้านบาท ผ่านโครงการพัฒนาใน 18 กลุ่มจังหวัดได้ในช่วงไตรมาส 2 ตามแผนที่วางไว้

อย่างไรก็ดี ผู้บริโภคยังมีความระมัดระวังต่อการจับจ่ายใช้สอย เพราะยังกังวลต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจในปัจจุบันและในอนาคต เพราะเศรษฐกิจไทยยังอยู่ในช่วงของการเริ่มฟื้นตัวและการฟื้นตัวยังไม่ได้กระจายตัวไปยังทุกภาคอุตสาหกรรมหรือทุกพื้นที่ อีกทั้งราคาพืชผลเกษตร โดยเฉพาะข้าวยังทรงตัวอยู่ในระดับต่ำ ทำให้กำลังซื้อในภูมิภาคต่างๆ ของประเทศยังฟื้นตัวไม่มากนัก

“การฟื้นตัวของการบริโภคน่าจะค่อยๆ ปรับตัวดีขึ้นอย่างชัดเจนในช่วงครึ่งปีหลัง ถ้าสถานการณ์ความผันผวันของเศรษฐกิจโลกคลี่คลายลง และการส่งออกฟื้นตัวดีขึ้นตามลำดับ ตลอดจนราคาพืชผลเกษตรปรับตัวสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง และที่สำคัญรัฐบาลใช้งบประมาณกลางปีกระตุ้นเศรษฐกิจในภูมิภาคต่างๆ ได้อย่างรวดเร็ว และเป็นรูปธรรมในไตรมาสที่ 2 ของปีนี้" นายธนวรรธน์ กล่าว

พร้อมระบุว่า สัญญาณของเศรษฐกิจยังมีภาพการฟื้นตัวอย่างอ่อน จากข้อมูลของสำนักงานสถิติแห่งชาติพบว่าอัตราการว่างงานในเดือน มี.ค.60 อยู่ที่ 1.3% เพิ่มขึ้นสูงสุดในรอบ 7 ปี ซึ่งเป็นเครื่องชี้ว่าเศรษฐกิจยังฟื้นตัวไม่โดดเด่นนัก ทำให้การจับจ่ายใช้สอยของประชาชนยังไม่คึกคัก ประกอบกับสัญญาณการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกที่ยังไม่โดดเด่นมาก จึงทำให้การจ้างงานยังไม่เพิ่มขึ้น

แต่เชื่อว่าตั้งแต่ครึ่งปีหลังเป็นต้นไป การฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยจะเริ่มมีความโดดเด่นขึ้นเป็นลำดับ จากที่ได้เห็นนายกรัฐมนตรีลงพื้นที่เพื่อติดตามการเดินหน้าการลงทุนในโครงการระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (EEC) รวมทั้งการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานขนาดใหญ่ของภาครัฐที่คาดว่าจะเริ่มขับเคลื่อนได้ราวเดือน ก.ค.นี้ จะส่งผลให้ความเชื่อมั่นของประชาชนปรับตัวดีขึ้น

ประกอบกับแนวโน้มเศรษฐกิจโลกที่เชื่อว่าจะเริ่มเห็นสัญญาณการปรับตัวดีขึ้น หลังจากที่ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ปรับขึ้นดอกเบี้ยนโยบายเนื่องจากมองว่าเครื่องชี้เศรษฐกิจหลายตัวเริ่มปรับตัวดีขึ้นอย่างยั่งยืนและมั่นคง รวมทั้งในสหภาพยุโรปเองที่ธนาคารกลางบางประเทศ เช่น เยอรมนี เริ่มมีการส่งสัญญาณว่าธนาคารกลางยุโรป (ECB) ควรปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบาย และลดการทำ QE ซึ่งเป็นสิ่งที่สะท้อนให้เห็นว่าเศรษฐกิจของยุโรปเริ่มดีขึ้นเป็นลำดับ

นายธนวรรธน์ ยังคงคาดการณ์ว่าเศรษฐกิจไทยในปีนี้จะขยายตัวได้ 3.6% การส่งออกขยายตัว 2-3% และอัตราเงินเฟ้อที่ระดับ 1.6-2.1% ซึ่งภายหลังการประกาศใช้รัฐธรรมนูญฉบับใหม่เชื่อว่าจะส่งผลดีต่อเศรษฐกิจไทย โดยเฉพาะการลงทุนจากต่างชาติที่จะเกิดความมั่นใจว่ารัฐบาลไทยจะเดินหน้าการปฏิรูปประเทศได้ตามโรดแมพที่กำหนดไว้ ซึ่งทำให้ง่ายต่อการตัดสินใจเข้ามาลงทุนของต่างชาติ โดยเฉพาะการลงทุนในโครงการ EEC

ส่วนการพบปะหารือระหว่างประธานาธิบดีสหรัฐและประธานาธิบดีจีนในวันนี้นั้น นายธนวรรธน์ กล่าวว่า การหารือร่วมกันในวันแรกไม่พบว่าว่ามีการสร้างแรงกดดันต่อกัน เพราะเชื่อว่าสหรัฐฯ ยังมองว่าจะต้องพึ่งพาและเป็นมิตรกับจีนต่อไปในอนาคต

“จากที่มีการพูดคุยกันวันแรก ยังไม่มีปัจจัยเชิงลบที่สหรัฐจะส่งสัญญาณกดดันประเทศจีนในเรื่องการตอบโต้ทางการค้า หรือการขึ้นภาษี ซึ่งคาดว่าบรรยากาศการเจรจาในวันต่อๆ ไป จะดีขึ้น และคาดว่าจีนกับสหรัฐจะมีการเปิดตลาดระหว่างกันมากขึ้น ทิศทางเงินหยวนก็คงจะไม่อ่อนค่ามากเพื่อที่สหรัฐจะได้ไม่เสียดุลการค้าจีนมากนัก" นายธนวรรธน์ ระบุ


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ