รมว.พลังงาน เผยเอกชนใน-ตปท.กว่า 10 รายสนใจเข้าประมูลแหล่งปิโตรเลียมเดิม

ข่าวเศรษฐกิจ Friday April 7, 2017 12:58 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

พลเอก อนันตพร กาญจนรัตน์ รมว.พลังงาน กล่าวว่า การเปิดประมูลแหล่งปิโตรเลียมที่จะหมดอายุในปี 2565-2566 จะได้รับความสนใจจากผู้ประกอบการจำนวนมาก โดยล่าสุดมีผู้แสดงความสนใจกว่า 10 ราย ทั้งบมจ.ปตท.สำรวจและผลิตปิโตรเลียม (PTTEP) และกลุ่มเชฟรอน ซึ่งเป็นผู้รับสัมปทานรายเดิม รวมถึงมีผู้ประกอบการจากตะวันออกลางและจีน โดยการเปิดประมูลดังกล่าวยังไม่ได้สรุปว่าจะเป็นรูปแบบใดจาก 3 รูปแบบ ได้แก่ ระบบสัมปทาน ,ระบบแบ่งปันผลผลิต (PSC) และระบบการจ้างผลิต (SC)

ปัจจุบันแม้ว่าร่าง พ.ร.บ.ปิโตรเลียม และร่างพ.ร.บ.ภาษีเงินได้ปิโตรเลียม ผ่านสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) แล้ว แต่ สนช.ยังไม่ได้ส่งกลับมาให้รัฐบาล ขั้นตอนต่อจากนี้ไปคณะอนุกรรมการปิโตรเลียม ภายใต้คณะกรรมการปิโตรเลียม จะพิจารณารายละเอียด รูปแบบการเปิดประมูลแหล่งเอราวัณและบงกช ซึ่งทั้ง 2 แหล่งจะหมดอายุสัมปทานในปี 2565-2566 หลังจากที่กรมเชื้อเพลิงธรรมชาติได้จัดโฟกัส กรุ๊ป เพื่อรับฟังความคิดเห็นจากภาคเอกชน นักวิชาการ ในรอบแรกแล้ว ก็จะจัดรอบสองในวันที่ 20 เม.ย.นี้ ก่อนกำหนดรูปแบบการประมูล ซึ่งจะพิจารณาจากปริมาณสำรอง จำนวนหลุมผลิต และราคาน้ำมัน

หลังจากคณะอนุกรรมการปิโตรเลียมพิจารณาแล้วเสร็จ ก็จะเสนอต่อคณะกรรมการปิโตรเลียม แล้วเสนอมายัง รมว.พลังงาน พิจารณาก่อนส่งให้คณะรัฐมนตรี (ครม.) พิจารณาอนุมัติต่อไป ซึ่งคาดว่าจะเป็นช่วงเดือน พ.ค.จากนั้นจะจัดทำร่างกฎกระทรวงให้แล้วเสร็จในเดือนมิ.ย. และประกาศเอกสารเชิญชวนประมูล (TOR) ได้ในเดือน ก.ค.ก่อนจะสรุปผลประมูลได้ในเดือน ธ.ค.นี้

"จะพยายามเร่งรัดให้เป็นไปตามแผนงาน แต่ถ้าการเร่งรัดแล้วทำให้เกิดความเสียหาย ก็อาจจะต้องเลื่อนเวลาออกไปเล็กน้อยอาจทำให้ล่าช้ากว่าแผน ก็ได้หารือกับผู้ประกอบการเบื้องต้น ซึ่งก็เห็นว่าจะยังไม่กระทบมากนัก"พลเอกอนันตพร กล่าว

ส่วนการความคืบหน้าในการจัดตั้งคณะกรรมการศึกษาการจัดตั้งบรรษัทน้ำมันแห่งชาติ (NOC) นั้นกระทรวงพลังงานก็จะขอเข้าร่วมเป็นกรรมการด้วย แต่คงไม่เป็นประธานคณะกรรมการเพราะมีส่วนได้ส่วนเสีย แต่กระทรวงยืนยันว่ากระทรวงไม่ขัดข้องต่อกรณีการจะตั้ง NOC หรือไม่มี แต่ต้องพิจารณาถึงความเหมาะสมหรือไม่ด้วย

รมว.พลังงาน กล่าวถึงความคืบหน้าการดำเนินโครงการโรงไฟฟ้าถ่านหินกระบี่นั้น ขณะนี้รอคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) สรุปว่าจะให้ดำเนินการอย่างไรต่อไป หลังจากที่เปิดรับฟังความคิดเห็นจากทุกฝ่ายมาแล้วก่อนหน้านี้ ซึ่งกระทรวงจะนำการพิจารณาดังกล่าวมาประกอบการพิจารณาว่าหากโรงไฟฟ้ากระบี่ ขนาด 800 เมกะวัตต์เกิดขึ้นไม่ได้ จำเป็นจะต้องจัดตั้งโรงไฟฟ้าใช้ก๊าซธรรมชาติเหลว (LNG) ทดแทนในพื้นที่ใดหรือไม่ โดยจะต้องมีความชัดเจนภายในปีนี้

“ตามแผนถ้าสร้างตอนนี้ ปี 63 เสร็จ คิดว่าทั้งหมดต้องตัดสินใจในปีนี้ว่าจะเอาถ่านหินหรือ LNG"พลเอกอนันตพร กล่าว


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ