ก.พาณิชย์ แนะผู้ส่งออกไทยตรวจสอบคุณสมบัตรผู้นำเข้าในสหรัฐฯ หลังติดตามคำสั่งพิเศษจากปธน.สหรัฐฯ

ข่าวเศรษฐกิจ Saturday April 8, 2017 08:32 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

น.ส.พิมพ์ชนก วอนขอพร ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า และโฆษกกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า กระทรวงพาณิชย์ได้ติดตามการประกาศคำสั่งพิเศษ (Executive Order) ของประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกาอย่างใกล้ชิด โดยเฉพาะกรณีที่สหรัฐฯ ประกาศว่า ภายในเวลา 90 วัน สหรัฐฯ จะกำหนดให้ผู้นำเข้าของสหรัฐฯ ที่มีคุณสมบัติอย่างหนึ่งต่อไปนี้ คือ

(1) หน่วยงาน U.S. Customs and Border Protection (CBP) ไม่เคยมีข้อมูลการนำเข้าจากผู้นำเข้ามาก่อน (เป็นผู้นำเข้ารายใหม่)

(2) CBP มีข้อมูลว่าผู้นำเข้าดังกล่าวเคยหลีกเลี่ยงไม่จ่ายอากร AD หรือ CVD

(3) CBP มีข้อมูลว่าผู้นำเข้าดังกล่าวไม่จ่ายอากร AD หรือ CVD ภายในระยะเวลาที่กำหนด

ต้องวางเงินประกัน (bond) ในการนำเข้าสินค้าที่สหรัฐฯ เก็บ AD/CVD เข้ามา แต่ในขณะนี้ สหรัฐฯ ยังไม่ได้กำหนดรายละเอียดต่าง ๆ เช่น เก็บอัตราเท่าใด เก็บอย่างไร เป็นต้น คาดว่าจะต้องมีการออกประกาศให้รายละเอียดเพิ่มเติมต่อไป

ทั้งนี้ จากการตรวจสอบนโยบายการค้าของสหรัฐฯ เบื้องต้น พบว่า สหรัฐฯ มีมาตรการ AD/CVD กับประเทศต่าง ๆ หลายสินค้า โดยแยกเป็น AD 325 กรณี และ CVD 121 กรณี โดยเฉพาะในหมวดผลิตภัณฑ์เหล็ก เคมีภัณฑ์ ยานพาหนะและชิ้นส่วน ยางและพลาสติก อุปกรณ์ไฟฟ้า สิ่งทอ แร่ธาตุ และอาหารที่มีมูลค่าสูงและมีการบังคับใช้มาตรการดังกล่าวในหลายรายการ ซึ่งประกาศของสหรัฐฯ จะกระทบกับผู้นำเข้าสินค้าบางประเภทจากไทย คือ

(1) สินค้าที่สหรัฐฯ เคยใช้ AD/CVD กับไทย อาทิ เหล็กแผ่นรีดร้อน ท่อสเตนเลส ข้อต่อท่อเหล็ก ท่อเหล็ก ลวดแรงดึงสูง ถุงพลาสติกหิ้ว และกุ้งแช่แข็ง

(2) สินค้าที่สหรัฐฯ ใช้มาตรการ AD/CVD กับประเทศอื่น ๆ โดยเฉพาะจีน ที่ไทยมีการส่งออกด้วย อาทิ ยางรถยนต์ แผงโซลาร์เซลล์ เหล็กและผลิตภัณฑ์ กุ้งแช่แข็ง เป็นต้น

โฆษกกระทรวงพาณิชย์ กล่าวว่า เพื่อมิให้การส่งออกสินค้าไทยประเภทที่กล่าวถึงข้างต้น ต้องได้รับผลกระทบโดยไม่จำเป็น กระทรวงพาณิชย์จึงอยากขอให้ผู้ส่งออกไทยตรวจสอบคุณสมบัติของผู้นำเข้าในสหรัฐฯ ที่เป็นผู้นำเข้าสินค้าของตนอย่างระมัดระวังว่า ไม่เคยเป็นผู้ที่ไม่จ่ายเงินค่าอากร AD/CVD ให้สหรัฐฯ หรือเป็นผู้นำเข้ารายใหม่เลย เพื่อมิให้ผู้นำเข้าถูกเรียกวางเงินประกันเพิ่ม ซึ่งอาจมีความเสี่ยงที่จะมาเรียกร้องให้ผู้ส่งออกไทยร่วมรับภาระค่าใช้จ่ายนั้นด้วย นอกจากนี้ การวางเงินประกันอาจกลายเป็นการเพิ่มต้นทุนการส่งออกของไทย หรือการนำเข้าสินค้าจากไทย โดยเฉพาะหากการคืนเงินใช้เวลานาน หรือเกิดกรณีพิพาทกันสำหรับประกาศฉบับที่ใช้เรื่อง AD/CVD ของสหรัฐฯนี้ ไม่ได้กล่าวถึงการประเมินเพื่อระบุประเทศเหมือนประกาศอีกฉบับเกี่ยวกับการขาดดุล (trade deficits) แต่จะใช้กับสินค้าจากทุกประเทศที่ถูกเรียกเก็บอากร AD/CVD เมื่อสหรัฐฯ ได้จัดทำรายละเอียดแนวทางปฏิบัติที่ชัดเจนออกมาใน 90 วัน

ทั้งนี้ AD หรือ anti-dumping คือ การเก็บอากรเพื่อชดเชยการทุ่มตลาด (ขายของต่ำกว่าราคาทุน) และ CVD หรือ countervailing duties คือ อากรที่เก็บจากการที่ประเทศคู่ค้ามีการอุดหนุนในสินค้านั้นๆ โดยเป็นการอุดหนุนที่ไม่สามารถทำได้ภายใต้ WTO

โฆษกกระทรวงพาณิชย์กล่าวตอนท้ายว่า กระทรวงพาณิชย์มิได้นิ่งนอนใจเรื่องมาตรการสหรัฐฯ โดยได้ติดตามประเมินสถานการณ์อย่างใกล้ชิดตลอดเวลา มีการหารือกับทั้งภาครัฐและภาคเอกชนอย่างต่อเนื่อง และจะให้ข้อมูลที่จำเป็นต่อสาธารณะเป็นระยะ ๆ ต่อไป


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ