ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ประเมินแนวโน้มค่าเงินบาทในสัปดาห์หน้า (10-12 เม.ย.) ว่า ธนาคารกสิกรไทยประเมินกรอบการเคลื่อนไหวของเงินบาทที่ 34.50-34.80 บาทต่อดอลลาร์ฯ โดยจุดสนใจในช่วงต้นสัปดาห์ น่าจะอยู่ที่การตอบรับของตลาดต่อตัวเลขการจ้างงานนอกภาคเกษตรของสหรัฐฯ รวมถึงผลการหารือระหว่างประธานาธิบดีสหรัฐฯ และจีน ส่วนตัวเลขเศรษฐกิจสหรัฐฯ ที่สำคัญในระหว่างสัปดาห์ ได้แก่ ยอดค้าปลีก ดัชนีราคาผู้บริโภค ดัชนีราคาผู้ผลิตเดือนมี.ค. และดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภค (เบื้องต้น) เดือนเม.ย. นอกจากนี้ นักลงทุนอาจรอประเมินข้อมูลการส่งออกและตัวเลขเศรษฐกิจอื่นๆ ในเดือนมี.ค.ของจีนด้วยเช่นกัน
สัปดาห์ที่ผ่านมา เงินบาทแตะระดับแข็งค่าสุดในรอบ 20 เดือนที่ 34.28 บาทต่อดอลลาร์ฯ ก่อนกลับมาอ่อนค่าลงในช่วงที่เหลือของสัปดาห์ โดยเงินบาทแข็งค่าขึ้นท่ามกลางแรงซื้อสุทธิพันธบัตรไทยของต่างชาติที่ยังคงมีต่อเนื่องในช่วงต้นสัปดาห์ แต่เริ่มลดช่วงบวกและทยอยอ่อนค่าลงตั้งแต่ในช่วงกลางสัปดาห์ สวนทางเงินดอลลาร์ฯ ที่ฟื้นตัวขึ้น โดยมีแรงหนุนจากตัวเลขการจ้างงานภาคเอกชนของสหรัฐฯ และบันทึกการประชุมเฟดที่มีการระบุถึงโอกาสของการปรับลดงบดุลของเฟดในช่วงที่เหลือของปีนี้ หากเศรษฐกิจสหรัฐฯ ยังคงขยายตัวได้ดีต่อเนื่อง นอกจากนี้ เงินบาทและสกุลเงินอื่นๆ ในภูมิภาคยังถูกกดดันเพิ่มเติมในช่วงท้ายสัปดาห์จากข่าวสหรัฐฯ โจมตีซีเรีย
สำหรับในวันศุกร์ (7 เม.ย.) เงินบาทอยู่ที่ 34.61 บาทต่อดอลลาร์ฯ เทียบกับ 34.35 บาทต่อดอลลาร์ฯ ในวันศุกร์ก่อนหน้า (31 มี.ค.)
สำหรับแนวโน้มการลงทุนในตลาดหลักทรัพย์ในสัปดาห์หน้า (10-12 เม.ย.) บล.กสิกรไทย มองว่า ดัชนีหุ้นไทยมีแนวรับที่ 1,560 และ 1,540 จุด ขณะที่ แนวต้านอยู่ที่ 1,595 และ 1,615 จุด ตามลำดับ โดยปัจจัยสำคัญที่ต้องติดตาม คงได้แก่ ผลการพบปะระหว่างประธานาธิบดีสหรัฐฯ และประธานาธิบดีจีน และข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐฯ ที่สำคัญ อาทิ ยอดค้าปลีก ดัชนีราคาผู้บริโภค และดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภค ส่วนปัจจัยต่างประเทศอื่นๆ ที่น่าสนใจ ได้แก่ ดัชนีราคาผู้บริโภคของอังกฤษ และตัวเลขการค้าระหว่างประเทศของจีน
เมื่อวานนี้ (7 เม.ย.) ดัชนีหุ้นไทยปรับขึ้นเล็กน้อย โดยดัชนี SET ปิดที่ระดับ 1,583.53 จุด เพิ่มขึ้น 0.53% จากสัปดาห์ก่อน มูลค่าการซื้อขายเฉลี่ยต่อวันลดลง 4.57% จากสัปดาห์ก่อน มาที่ 37,519.23 ล้านบาท ส่วนตลาดหลักทรัพย์ MAI ปิดที่ 596.08 จุด ลดลง 0.23% จากสัปดาห์ก่อน
ดัชนีตลาดหุ้นไทยขยับขึ้นเล็กน้อย โดยได้รับอานิสงส์จากราคาน้ำมันในตลาดโลกที่ปรับเพิ่มขึ้น อย่างไรก็ดี การเคลื่อนไหวในภาพรวม ยังคงเป็นกรอบแคบๆ เนื่องจากตลาดยังคงรอปัจจัยใหม่ๆ มากระตุ้น ประกอบกับหุ้นใหญ่หลายตัวขึ้น XD และตลาดหุ้นในภูมิภาคมีปัจจัยลบเพิ่มเติมในช่วงปลายสัปดาห์จากเหตุสหรัฐฯ โจมตีซีเรีย