น.ส.ชุติมา บุณยประภัศร รมช.เกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยว่า กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ได้มอบหมายให้กรมส่งเสริมการเกษตรดำเนินการปรับปรุงและพัฒนาเกี่ยวกับทะเบียนเกษตรกรใน 3 กิจกรรม คือ 1) ฐานข้อมูลเครื่องจักรกลการเกษตร ร่วมกับศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ 2) ระบบฐานข้อมูลเกษตรอินทรีย์ ร่วมกับกรมวิชาการเกษตรเป็นเจ้าภาพหลัก และ 3) ระบบบัตรเกษตรกรอิเล็กทรอนิกส์ (E-Card) ร่วมกับสำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) และบริษัทอีการ์ดสตูดิโอ
สำหรับระบบบัตรเกษตรกรอิเล็กทรอนิกส์ (E-Card) นั้น ได้ดำเนินการโครงการนำร่องสำหรับเกษตรกร "Smart Farmer" เพื่อให้เกษตรกรก้าวทันยุคดิจิตอล โดยการนำเทคโนโลยี GEO Location หรือระบบแผนที่ และบัตรประจำตัวเกษตรกรอิเล็กทรอนิกส์ (E-Card) มาใช้ เพื่อเป็นเครื่องมือในการอำนวยความสะดวกสำหรับเกษตรกรในการแจ้งการเพาะปลูก การแจ้งขึ้นทะเบียนเกษตรกร ตลอดจนการรับสวัสดิการของรัฐ เพื่อประโยชน์ของภาครัฐในด้านการบริหารจัดการภาคการเกษตรของสินค้าเกษตร และโครงการอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง รวมทั้งการให้ความช่วยเหลือเกษตรกรอย่างรวดเร็วผ่านการใช้เทคโนโลยีดังกล่าว
นายประสงค์ ประไพตระกูล รองอธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร กล่าวเพิ่มเติมว่า กรมส่งเสริมการเกษตร ร่วมกับบริษัท อีคาร์ท สตูดิโอ จัดทดสอบระบบบัตรเกษตรกรอิเล็กทรอนิกส์เพื่อประยุกต์ใช้ในการขึ้นทะเบียนเกษตรกร โดยวิเคราะห์ ออกแบบ และพัฒนาระบบบัตรเกษตรกรอิเล็กทรอนิกส์ให้รองรับระบบขึ้นทะเบียนเกษตรกรผ่านแอปพลิเคชันบนโทรศัพท์เคลื่อนที่ ซึ่งทดสอบกับกลุ่มเป้าหมาย 256 ครัวเรือน ณ วัดลานตากฟ้า ตำบลลานตากฟ้า อำเภอนครชัยศรี จังหวัดนครปฐม โดยการทดสอบครั้งนี้ จะเป็นการรับทราบข้อคิดเห็น และพิจารณาทิศทางการยอมรับของเกษตรกร เพื่อทำการปรับปรุงระบบต่อไป
นอกจากนี้ ยังได้รับความร่วมมือจากผู้ประกอบการโทรศัพท์เคลื่อนที่ทุกเครือข่าย พิจารณายกเว้นค่าบริการเครือข่ายและสนับสนุนการเปลี่ยนอุปกรณ์มือถือสมาร์ทโฟน และสนับสนุนขั้นตอนการเปิดใช้บริการหากเกษตรกรมีความประสงค์ สำหรับการเข้าถึงเว็บไซต์แจ้งปลูกผ่านระบบบัตรเกษตรกรอิเล็กทรอนิกส์ให้แก่เกษตรกรที่ใช้บริการดังกล่าว
ทั้งนี้ หากการทดสอบระบบบัตรเกษตรกรอิเล็กทรอนิกส์ประสบผลสำเร็จ จะเกิดประโยชน์อย่างยิ่งในการเพิ่มช่องทางการขึ้นทะเบียนเกษตรกรได้โดยตนเอง ลดเวลาและค่าใช้จ่ายในการเดินทางและสามารถตอบสนองการให้บริการของรัฐได้รวดเร็วและมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น