นายอนุสรณ์ ธรรมใจ คณบดีคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยรังสิต แสดงความเห็นต่อผลของการประกาศใช้รัฐธรรมนูญที่มีต่อระบบเศรษฐกิจและภาคการลงทุนโดยรวมว่า จะส่งผลบวกและเป็นสัญญาณแรกของการกลับคืนสู่ประชาธิปไตย คืนอำนาจให้ประชาชนผ่านการเลือกตั้ง การมีระบอบการปกครองโดยรัฐธรรมนูญเป็นไปตามระบบนิติรัฐอันจะสร้างความเชื่อมั่นมากยิ่งขึ้นต่อภาคการลงทุนโดยเฉพาะการลงทุนจากต่างประเทศ
อย่างไรก็ตาม ต้องติดตามการร่างกฎหมายลูกว่าจะเป็นไปตามหลักการประชาธิปไตยหรือไม่ และเป็นกลไกส่งเสริมให้มีรัฐบาลหลังการเลือกตั้งที่มีเสถียรภาพและคุณภาพหรือไม่อย่างไร ยังคงไม่ปรับเปลี่ยนการคาดการณ์อัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจปีนี้ที่ระดับ 3.7-4.2% และต้องรอดูว่ากฎหมายลูกสามารถร่างให้แล้วเสร็จตามกรอบเวลา 8 เดือนหรือไม่ และจะเกิดความล่าช้าในกระบวนการพิจารณาของ สนช.หรือไม่ ความไม่แน่นอนทางการเมืองและการกลับคืนสู่ประชาธิปไตยยังคงมีอยู่แต่ลดความเสี่ยงลงไปมาก มีความชัดเจนมากขึ้นย่อมส่งผลบวกต่อความเชื่อมั่นการบริโภค ความเชื่อมั่นในการลงทุนภาคเศรษฐกิจจริงส่งผลดีต่อกำลังซื้อในภาคอสังหาริมทรัพย์ที่ชะลอตัวมาตั้งแต่ปลายปีที่แล้ว ความเชื่อมั่นภาคการผลิตอุตสาหกรรม
ส่วนภาคตลาดการเงินจะได้รับผลบวกแต่ไม่มีนัยยสำคัญ เพราะจะมีเลือกตั้งจริงก็น่าจะอยู่ในช่วงไตรมาส 3 หรือ 4 ปี 2561 มีรัฐบาลใหม่จากการเลือกตั้งต้นปี 2562 แม้นจะได้รับผลบวกจากการประกาศใช้รัฐธรรมนูญ การเร่งรัดการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานทางเศรษฐกิจของรัฐบาลและการลงทุนภาคเอกชนมีความสำคัญ เนื่องจากยังมีปัจจัยเสี่ยงจากการกีดกันทางการค้าของสหรัฐอเมริกาเพิ่มขึ้น
นายอนุสรณ์ กล่าวอีกว่า ผลบวกของประกาศใช้รัฐธรรมนูญจะมีต่อภาคการลงทุน โดยเฉพาะการลงทุนจากต่างประเทศมากที่สุด ในระยะสั้นจะส่งผลบวกแต่ไม่มีนัยยสำคัญมากนักต่อการลงทุนในตลาดการเงิน ระยะต่อไป กองทุนต่างชาติน่าจะเพิ่มน้ำหนักการลงทุนในหุ้นไทยและตราสารหนี้ไทยมากขึ้น รวมทั้งจะส่งผลให้เงินบาทแข็งค่าขึ้นอีกจากระดับปัจจุบัน การลงทุนของบรรษัทข้ามชาติที่ต้องการใช้ประเทศไทยเป็นฐานการผลิตเพื่อส่งออกไปยังประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนจะมีการตัดสินใจที่ชัดเจนมากขึ้น
สำหรับประเด็นที่เนื้อหาบางส่วนของรัฐธรรมนูญที่ไม่เป็นไปตามหลักประชาธิปไตยสากล ก็ต้องมีการแก้ไขกันในภายหลังหลังจากใช้ไปได้ระยะหนึ่ง ยังไม่น่าจะเป็นอุปสรรคต่อการลงทุนในระยะนี้ หลังการเลือกตั้งหากได้รัฐบาลที่มีความสามารถและโปร่งใส มีเสถียรภาพ จะทำให้ยุทธศาสตร์การพัฒนาประเทศเดินหน้าโดยไม่สะดุด หากไม่ได้รัฐบาลอย่างที่คาดหวัง
"ปัญหาความไม่มีเสถียรภาพและความไม่แน่นอนทางการเมืองกลับมาอีกหลังการเลือกตั้ง ความเสี่ยงของเศรษฐกิจและภาคการลงทุนก็จะเพิ่มขึ้น สิ่งที่ผมกังวลมากที่สุด เกรงว่าจะเกิดรัฐบาลผสมที่อ่อนแอและไร้เสถียรภาพ เนื่องจากระบบเลือกตั้งแบบจัดสรรปันส่วนในรัฐธรรมนูญปี 60 จะก่อให้เกิดพรรคเล็กพรรคน้อยจำนวนมาก และพรรคที่ได้ ส.ส.มากที่สุดอาจไม่ได้เป็นรัฐบาลก็ได้" นายอนุสรณ์ กล่าว
พร้อมระบุว่า สิ่งที่น่ากังวลเฉพาะหน้า คือ เรื่องการลงนามคำสั่งของประธานาธิบดีโดนัล ทรัมป์ ให้มีการดำเนินการตอบโตทางการค้ากับคู่ค้าที่ทำการค้าไม่เป็นธรรมกับสหรัฐอเมริกา สำหรับการเตรียมรับมือกับการกีดกันการค้าของสหรัฐอเมริกานั้น ขอเสนอข้อเสนอ 8 ข้อ ดังต่อไปนี้
1.ขอให้เตรียมความพร้อมในการรับมือภาษีต่อต้านการทุ่มตลาด (Antidumping Countervailing Duty) จากสหรัฐอเมริกาใน 3 เดือนข้างหน้า ผู้ประกอบการไทยควรติดตามข่าวความคืบหน้าด้านนโยบายและมาตรการทางเศรษฐกิจ การค้าของสหรัฐฯอย่างใกล้ชิดเพื่อเป็นข้อมูลในการเตรียมรับมือการกีดกันการค้าที่เพิ่มมากขึ้นในอนาคต
2.ผู้นำเข้ารายใหม่หรือผู้ที่เคยละเมิดการค้า (Abuse Trade Practice) ที่เป็นกิจการสัญชาติไทย ต้องวางเงินมัดจำสินค้าก่อนสินค้าถึงท่าเรือปลายทางในสหรัฐฯ อาจทำให้ต้นทุนการส่งออกสูงขึ้น หน่วยงานรัฐและเอกชนควรหารือกันเพื่อบรรเทาปัญหาดังกล่าว
3.ให้ศึกษาผลกระทบที่จะเกิดขึ้นกับส่งออกสินค้าและบริการต่างๆ ของไทยอย่างละเอียด ทั้งสินค้าประเภทวัตถุดิบ สินค้าขั้นกลาง สินค้าสำเร็จรูป ประเมินผลกระทบโดยตรงและโดยอ้อมผ่านการส่งออกของจีน อินโดนีเซีย มาเลเซียและประเทศที่อยู่ในบัญชีรายชื่อ 16 ประเทศที่สหรัฐอเมริกากล่าวหาว่าทำการค้าไม่เป็นธรรมกับสหรัฐฯ เป้าหมายอุตสาหกรรมส่งออกที่สหรัฐฯ จะให้ความสำคัญในการตรวจสอบเป็นพิเศษ คือ ชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ ชิ้นส่วนยานยนต์ เหล็ก อลูมิเนียม ผลิตภัณฑ์ยาง เป็นต้น สมาคมอุตสาหกรรมเหล่านี้ควรเตรียมการรับมือให้ดี
4.รัฐบาลควรมอบหมายให้สำนักผู้แทนการค้าไทย กระทรวงต่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ กระทรวงการคลัง กระทรวงแรงงาน ธนาคารแห่งประเทศไทย สมาคมการค้าและสมาคมอุตสาหกรรมส่งออกต่างๆ จัดตั้งคณะทำงานเพื่อเจรจากับสหรัฐอเมริกา โดยประสานความร่วมมือไปยังสมาชิกอาเซียนอื่นในการเข้าร่วมเจรจาต่อรองการค้ากับสหรัฐอเมริกา
5.เร่งรัดการหาตลาดใหม่ๆ เพื่อชดเชยการส่งออกไปสหรัฐอเมริกา
6.ใช้มาตรการต่างๆ ในการดึงดูดบรรษัทสัญชาติสหรัฐฯ ในการเข้ามาลงทุนในประเทศไทยมากขึ้น
7.ขจัดเงื่อนไขในการที่สหรัฐอเมริกาจะใช้เป็นข้ออ้างในการกีดกันสินค้าจากไทย เช่น แก้ไขปัญหาสิทธิแรงงาน (ปัญหาแรงงานทาส) แก้ไขปัญหาสิทธิมนุษยชน ปัญหาสารเคมีตกค้างในสินค้าอาหารและเกษตร ประเด็นเรื่องสิ่งแวดล้อม สุขอนามัย ประเด็นคุณภาพสินค้ามาตรฐานสินค้า เป็นต้น
8.ธนาคารแห่งประเทศไทย เตรียมชี้แจงว่าทางการไทยไม่ได้มีนโยบายแทรกแซงให้เงินบาทอ่อนค่ากว่าปกติ เช่น ประเทศจีนหรือญี่ปุ่น ซึ่งการที่ทางการไทยอาจถูกกล่าวหาจากสหรัฐฯ ว่า ธนาคารแห่งประเทศไทยแทรกแซงค่าเงินให้อ่อนค่ากว่าปัจจัยพื้นฐานมากเพื่อช่วยส่งออกนั้น ไม่มีข้อเท็จจริงรองรับ เพราะทางการไทยเพียงบริหารจัดการค่าเงินให้ไปตามภาวะตลาดและป้องกันไม่ให้กระแสเงินระยะสั้นเก็งกำไรกดดันให้เงินบาทแข็งค่ากว่าความเป็นจริงเท่านั้น และตั้งแต่ต้นปีจนถึงขณะนี้ ค่าเงินบาทก็แข็งค่ามากกว่าเงินสกุลในภูมิภาคอยู่แล้ว
นายอนุสรณ์ กล่าวว่า จีนคือเป้าหมายใหญ่ในการแก้ไขปัญหาดุลการค้าสหรัฐฯ เพราะสหรัฐฯ ขาดดุลการค้ากับจีนสูงถึง 11 ล้านล้านบาท (มากกว่า 3 แสนล้านดอลลาร์) แต่ด้วยอำนาจต่อรองของจีนที่มีอยู่สูง บรรดาประเทศเล็กๆ ในรายชื่อ 16 ประเทศที่มีอำนาจต่อรองต่ำจะโดนกดดันการค้าอย่างหนักก่อน ไทยจึงต้องผนึกกับสมาชิกอาเซียน เวียดนาม อินโดนีเซีย มาเลเซีย เพื่อวางแผนรับมือให้ดี ฉะนั้นมีความเป็นไปได้ที่สหรัฐฯ จะสร้างแรงกดดันมาที่สินค้าขั้นกลางที่ส่งเข้าจีนเพื่อส่งออก ขณะเดียวกัน ขอให้ ราเตรียมรับมือภาวะการชะลอตัวของการส่งออกสินค้ากลุ่มอาหารที่อาจเกิดขึ้นในช่วงปลายปีนี้ต่อเนื่องจนถึงต้นปีหน้า เนื่องจากมีความเสี่ยงสูงที่จะไม่ได้รับการต่ออายุสิทธิจีเอสพียกเว้นภาษีนำเข้ารอบใหม่จากสหรัฐฯ นอกจากนี้รัฐบาลไทย ควรเตรียมพร้อมเรื่องประเด็นทรัพย์สินทางปัญญาและการละเมิดลิขสิทธิ์ และการเจรจาเปิดเสรีการค้าระดับทวิภาคีกับสหรัฐฯ