นายกฤษฎา จีนะวิจารณะ ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) เปิดเผยว่า หลังจากที่รัฐบาลได้เปิดโครงการแก้ปัญหาหนี้นอกระบบอย่างเป็นทางการตั้งแต่ต้นเดือน มี.ค.60 พบว่าการดำเนินงานมีความคืบหน้าใน 5 มิติ คือ มิติที่ 1 ด้านการปราบปรามเจ้าหนี้นอกระบบ ซึ่งเป็นการประสานความร่วมมือกันระหว่างกระทรวงมหาดไทย กระทรวงยุติธรรม และสำนักงานตำรวจแห่งชาติ (สตช.) โดยได้มีการจับกุมเจ้าหนี้นอกระบบแล้ว 62 รายทั่วประเทศ
มิติที่ 2 ด้านการเข้าถึงระบบสินเชื่อ ซึ่งดำเนินการผ่านโครงการพิโกไฟแนนซ์ ขณะนี้ สศค.ได้ออกใบอนุญาตประกอบธุรกิจแล้ว 20 ราย จากผู้ยื่นขอใบอนุญาตทั้งสิ้น 155 ราย และมียอดปล่อยกู้แล้วกว่า 3 พันล้านบาท และคาดว่าจะสามารถออกใบอนุญาตได้อีก 50 ราย ในเร็ว ๆ นี้ โดยผู้ประกอบการส่วนใหญ่อยู่ในจังหวัดทางภาคเหนือและตะวันออกเฉียงเหนือ ทั้งนี้ ยังเหลืออีกราว 20 จังหวัดที่ยังไม่มีผู้ประกอบการมายื่นขอใบอนุญาต เช่น ในเขต 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ จะเตรียมส่งเจ้าหน้าที่ไปโรดโชว์เพื่อชักชวนให้เจ้าหนี้นอกระบบเข้ามาอยู่ในโครงการดังกล่าวมากขึ้น
ขณะที่โครงการสินเชื่อรายย่อยเพื่อใช้จ่ายในกรณีฉุกเฉิน ของธนาคารออมสิน และธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) วงเงินดำเนินการแห่งละ 5,000 ล้านบาท รวมทั้งสิ้น 1 หมื่นล้านบาทนั้น มียอดการปล่อยสินเชื่อรวมล่าสุดอยู่ที่ 1,030 ล้านบาท คิดเป็นจำนวนผู้ได้รับการอนุมัติสินเชื่อราว 2.1 หมื่นราย
มิติที่ 3 ด้านการไกล่เกลี่ย ซึ่งมีคณะกรรมการไกล่เกลี่ยประจำทุกจังหวัด ขณะนี้มียอดผู้เข้าร่วมโครงการแล้ว 300-400 ราย โดยมีลูกหนี้ที่ไกล่เกลี่ยสำเร็จ 60 ราย ในส่วนนี้อาจยังอยู่ในระดับต่ำ เนื่องจากเจ้าหนี้ส่วนใหญ่ไม่ให้ความร่วมมือในการเข้ามาไกล่เกลี่ย
มิติที่ 4 ด้านการฟื้นฟูลูกหนี้ ซึ่งจะดำเนินการผ่านคณะกรรมการเพิ่มศักยภาพลูกหนี้ในการฟื้นฟูให้มีอาชีพ และมีรายได้เสริม เป็นต้น
มิติที่ 5 ด้านการสนับสนุนการดำเนินงานการแก้ไขหนี้นอกระบบผ่านหน่วยงานต่าง ๆ เช่น กองทุนหมู่บ้าน และสถาบันการเงินชุมชน เป็นต้น
"มิติที่ 1-3 ถือว่าเดินได้อย่างดีแล้ว อยู่ในระดับที่น่าพอใจ ส่วนมิติที่ 4 อาจจะต้องมีการเร่งดำเนินการผลักดันให้มีผล และมีประสิทธิภาพมากขึ้นอย่างต่อเนื่อง ขณะที่มิติที่ 5 อยู่ในเกณฑ์ที่ดี หลายหน่วยงานให้ความร่วมมือเป็นอย่างดีเช่นกัน" นายกฤษฎา กล่าว