โฆษกคลังแจงข้อมูลเวิลด์แบงก์แนะไทยลดความยากจน-ยกระดับศักยภาพการเติบโตไม่อัพเดท

ข่าวเศรษฐกิจ Tuesday April 11, 2017 11:49 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายกฤษฎา จีนะวิจารณะ ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) และโฆษกกระทรวงการคลัง กล่าวถึงกรณีที่ธนาคารโลก (World Bank) ออกรายงานการวิเคราะห์แนวทางการพัฒนาประเทศอย่างเป็นระบบ (Systematic Conutry Diagnostic : SCD) ซึ่งแนะนำให้ประเทศไทยลดความยากจนและกระจายความมั่งคั่งอย่างทั่วถึงว่า รายงานดังกล่าวเป็นการแนะนำแนวทางการพัฒนาประเทศไทยที่สำคัญ 10 เรื่อง แต่ยืนยันว่าข้อเสนอแนะทั้งหมดของธนาคารโลกนั้นประเทศไทยได้มีการดำเนินการทุกส่วนไปแล้ว

"รายงาน SCD ของธนาคารโลกนั้นได้ออกมาตั้งแต่ช่วงเดือนพฤศจิกายน 2559 ซึ่งหน่วยงานดังกล่าวอาจจะยังไม่ได้มีการเข้ามาทำการศึกษาหรือวิเคราะห์จากข้อมูลพื้นฐานของประเทศไทยอย่างแท้จริง โดยหลังจากนี้หากจะมีการออกรายงานอะไรก็ควรเข้ามาดูว่าที่ผ่านมาประเทศไทยทำอะไรไปแล้วบ้าง แต่เท่าที่ทราบคือรายงานดังกล่าวธนาคารโลกไม่ได้มีการเผยแพร่ แต่กลับมีบุคคลบางกลุ่มที่ไปหยิบยกเอาข้อมูลจากรายงาน SCD บางส่วนมาแล้วแชร์ผ่านโซเชียลมีเดีย ทำให้เกิดกระแสวิพากษ์วิจารณ์อยู่ในขณะนี้" นายกฤษฎา กล่าว

โฆษกกระทรวงการคลัง ยืนยันว่า นโยบายการทำงานของประเทศไทยมีการตอบสนองต่อข้อเสนอแนะตามรายงาน SCD แล้ว โดย 10 ข้อเสนอแนะของธนาคารโลก ได้แก่ 1. ส่งเสริมการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐาน ซึ่งไทยได้ดำเนินการแล้วผ่านยุทธศาสตร์การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคมขนส่งของไทยระยะ 8 ปี (พ.ศ. 2558-2565) และแผนปฏิบัติการลงทุนด้านคมนาคมขนส่ง พ.ศ.2560

2.การเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันผ่านข้อตกลงการค้าเสรีและลดกฎระเบียบ ซึ่งไทยได้ดำเนินการแล้วผ่านมาตรการภาษีเพื่อส่งเสริมการลงทุนในพื้นที่เขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษ มาตรการยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลสำหรับค่าใช้จ่ายด้านการวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรม รวมถึงวาระปฏิรูปที่ 12 การผูกขาดและการแข่งขันที่เป็นธรรม

3. เพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันระดับบริษัทโดยใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรม ซึ่งไทยได้ดำเนินการผ่านโครงการพัฒนาระเบียบเศรษฐกิจภาคตะวันออก (EEC) เพื่อให้เป็นที่ตั้งของ 10 อุตสาหกรรม พ.ร.บ.การเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศสำหรับอุตสาหกรรมเป้าหมาย เป็นต้น

4.พัฒนาการศึกษาและทักษะของแรงงาน ซึ่งไทยได้ดำเนินการผ่านการจัดทำแผนการศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. 2560-2579 รวมทั้งมีการปฏิรูประบบทรัพยากรและการเงินเพื่อการศึกษา การมีโครงการเพิ่มประสิทธิภาพการบริหารจัดการโรงเรียนขนาดเล็ก แต่ไม่มีแผนยุบรวม เป็นต้น

5.ดำเนินการนโยบายที่มีประสิทธิภาพเพื่อเพิ่มผลิตภาพทางการเกษตร ซึ่งไทยได้ดำเนินการผ่าน แผนการพัฒนาระบบชลประทานระยะเร่งด่วน ปี 2560 การมีสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัยสนับสนุนด้านการเกษตรยั่งยืน วิทยาการหลังการเก็บเกี่ยวและการแปรรูปอาหาร เป็นต้น

6.สร้างระบบการปกป้องทางสังคม ซึ่งไทยดำเนินการผ่านการบูรณาการข้อมูลจากคนจนผ่านการลงทะเบียนคนจน แผนการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติฉบับที่ 12 กล่าวถึงการเพิ่มเบี้ยคนพิการและเบี้ยผู้สูงอายุ ซึ่งจะช่วยให้มีรายได้เพียงพอ

7.การจัดการแหล่งทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ไทยดำเนินการผ่านแผนยุทธศาสตร์กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม พ.ศ.2559-2564 เป็นต้น

8.ลดความอ่อนไหวต่อภัยธรรมชาติ ซึ่งไทยดำเนินการผ่านองค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจกได้มีกิจกรรมชดเชยคาร์บอนและกิจกรรมช่วยลดคาร์บอนหลายโครงการ เพื่อสร้างแรงจูงใจในรูปตัวเงิน โดยการลดก๊าซเรือนกระจกจะลดโอกาสเกิดภัยธรรมชาติที่รุนแรง

9.ส่งเสริมการใช้พลังงานที่มีประสิทธิภาพและสะอาด โดยเน้นการดำเนินการเพื่อบรรลุเป้าหมายตามแผนการใช้พลังงานอย่างมีประสิทธิภาพและการใช้พลังงานทดแทนที่ได้วางไว้ ซึ่งไทยดำเนินการผ่ายยุทธศาสตร์การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานการขนส่งทางรถไฟของกระทรวงคมนาคม และรัฐบาลมีโครงการโครงสร้างพื้นฐานเกี่ยวกับรถไฟหลายโครงการ เป็นต้น

10.เสริมสร้างความแข็งแกร่งให้แก่องค์กรภาครัฐเพื่อดำเนินการตามลำดับความสำคัญในการปฏิรูป ซึ่งไทยดำเนินการผ่าน พ.ร.บ. การจัดซื้อจัดจ้างและการบริหารจัดการพัสดุภาครัฐ พ.ศ. 2560 การจัดตั้งคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามทุจริตกระทรวงการคลัง (ปปช.กค.) การปฏิรูประบบการบริหารจัดการรัฐวิสาหกิจ และการบันทึกข้อตกลง (MOU) ระหว่างกระทรวงการคลัง สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ปปช.) สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตใจภาครัฐ (ปปท.) และองค์การต่อต้านคอร์รัปชั่น


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ