นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รมว.คมนาคม เปิดเผยถึงความคืบหน้าโครงการรถไฟความเร็วสูง กรุงเทพ-นครราชสีมา ซึ่งเป็นความร่วมมือระหว่างรัฐบาลไทยและรัฐบาลจีน ระยะทาง 252.5 กม.มูลค่าโครงการ 1.79 แสนล้านบาท คาดว่าจะสามารถนำเสนอต่อที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) พิจารณาและอนุมัติโครงการภายในเดือน มิ.ย.ก่อนเสนอให้สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) พิจารณาอนุมัติ จากนั้นจะลงนามสัญญา Engineering Procurement and construction:EPC ที่มี 2 สัญญา คือ สัญญางานออกแบบและสัญญาควบคุมงาน
ทั้งนี้ จากการประชุมร่วมกับจีนเมื่อครั้งที่ 17 ระหว่างวันที่ 9-10 เม.ย.ที่ผ่านมาได้ข้อตกลงร่วมกันแล้วในการปรับแผนแบบก่อสร้าง โดยให้ปรับรหัสมาตรฐานวัสดุก่อสร้างของจีนมาเป็นรหัสมาตรฐานของไทย โดยวัสดุก่อสร้างที่เหลือ 1 รายการที่เพิ่งตกลงกันได้ คือ เหล็กก่อสร้าง ที่จีนติงว่าเหล็กก่อสร้างของไทยมีคาร์บอนผสมอยุ่สูง ซึ่งไม่มีความจำเป็น ซึ่งไทยได้ตกลงปรับลดคาร์บอนในเหล็กที่จะสั่งโรงงานทำเป็นพิเศษ ทั้งนี้ โครงการนี้ระบุไว้ต้องใช้วัสดุก่อสร้างในประเทศทั้งหมด
นอกจากนี้ ได้ประสานงานสภาวิศวกรฯ และสภาสถาปนิกฯ เพื่อจัดให้มีการประเมินและให้ใบอนุญาตแก่วิศวกรของจีนเพื่อสามารถทำงานในไทยได้ เพราะต้องเข้ามาควบคุมงานในประเทศไทย
"จะขออนุมัติโครงการ ซึ่งการรถไฟฯ ปรับปรุงโครงการและเสนอต่อคณะรัฐมนตรี จากเดิมโครงการรถไฟความเร็วสูงเส้นนี้จากกรุงเทพ-หนองคาย ปรับเป็นกรุงเทพ-โคราช โดยขณะนี้มีการปรับปรุงประมาณผู้โดยสารใหม่ การปรับปรุงแล้วเสร็จจะส่งให้สภาพัฒน์ฯ ก่อนเข้า ครม."นายอาคม กล่าว
นายอาคม คาดว่า เบื้องต้นตามแผนงานกำหนดว่าหลังจาก ครม.อนุมัติโครงการแล้วจะมีการลงนามกับรัฐบาลจีนในเดือน มิ.ย. และในเดือน ก.ค.จะเปิดประมูลงานก่อสร้าง 2 ตอนแรกก่อน คือ ระยะทาง 3.5 กม. (สถานีกลางดง-ปางอโศก) และ ระยะทาง 11 กม. (ปากช่อง-คลองขนานจิตร) เมื่อได้ตัวผู้รับเหมาก่อสร้างในเดือนก.ค.ก็จะสามารถเริ่มก่อสร้างในเดือน ส.ค.
ส่วนที่เหลือระยะทาง 238 กม. (ตอนที่ 3 แก่งคอย-โคราช และ ตอนที่ 4 กรุงเทพ-แก่งคอย) จะออกแบบต่อเนื่องให้แล้วเสร็จภายใน 6 เดือน หรือประมาณสิ้นปีนี้
อย่างไรก็ตาม รายงานผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม (EIA) ผ่านเพียงระยะทางช่วงกรุงเทพ- บ้านภาชี ส่วนช่วงบ้านภาชี-โคราชยังไม่ผ่าน ซึ่งได้ส่งข้อมูลเพิ่มเติมไปแล้ว 4 ครั้ง หากไม่ผ่านอีกจะทำให้การก่อสร้างตอนที่ 1 และตอนที่ 2 ยังไม่สามารถุดำเนินการได้ ดังนั้น กระทรวงคมนาคมจะขอให้กระทรวงทรัพยากรและสิ่งแวดล้อม และ คณะกรรมสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ (สผ.) ให้ช่วยพิจารณาโดยเร็ว เพราะเส้นทางนี้ถือว่ามีความสำคัญ
ขณะที่การจัดหาระบบราง ระบบอาณัติสัญญาณ และตัวรถไฟฟ้า จะดำเนินการต่อไประหว่างงานก่อสร้าง โดยขั้นตอนนี้จะคุยกับทางการจีนต่อไป ทั้งนี้ งานก่อสร้างด้านโยธาคาดว่าจะใช้เวลาประมาณ 4 ปี