ศูนย์วิจัยกสิกรไทย แนะผู้ส่งออกไทยเตรียมแผนรับมือมาตรการกดดันทางการค้าสหรัฐฯ ที่อาจกระทบทั้งทางตรง-ทางอ้อม

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday April 12, 2017 16:27 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

บริษัท ศูนย์วิจัยกสิกรไทย จำกัด การจัดการปัญหาขาดดุลการค้าเรื้อรังถือเป็นหนึ่งในนโยบายสำคัญของสหรัฐฯ ภายใต้การนำของประธานาธิบดีทรัมป์ อันจะมีผลเกี่ยวเนื่องไปยังการสร้างงานและเพิ่มรายได้ให้แก่ชนชั้นกลาง ภายใต้แคมเปญ America First โดยเมื่อวันที่ 31 มี.ค.60 ประธานาธิบดีสหรัฐฯ ได้ลงนามใน Executive Orders 2 ฉบับ ฉบับแรกสั่งการให้กระทรวงพาณิชย์สหรัฐฯ และสำนักงานผู้แทนการค้าสหรัฐฯ ศึกษาสาเหตุของการขาดดุลการค้าของสหรัฐฯ กับประเทศคู่ค้าสำคัญ รวมถึงไทย ภายใน 90 วัน ส่วนฉบับที่ 2 เป็นการหาแนวทางเพื่อให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องบังคับใช้มาตรการตอบโต้การค้าที่ไม่เป็นธรรม กล่าวคือ มาตรการตอบโต้การทุ่มตลาด (Anti-dumping Duties หรือ AD) และมาตรการตอบโต้การอุดหนุน (Countervailing Duties หรือ CVD) อย่างเข้มงวดมากขึ้น ซึ่งผลการศึกษาที่ออกมาภายใน 90 วันจากนี้ จะเป็นข้อมูลอ้างอิงสำคัญที่สหรัฐฯ จะใช้ในการเจรจาต่อรองกับประเทศคู่ค้าหรือออกมาตรการต่างๆ ที่ส่งผลในเชิงกีดกันทางการค้า

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มีมุมมองต่อประเด็นการแก้ไขปัญหาการขาดดุลการค้าเรื้อรังของสหรัฐฯ ว่า การลดการนำเข้าผ่านการกีดกันทางการค้าอย่างสุดโต่งไม่น่าจะเป็นทางเลือกเชิงนโยบายลำดับแรกๆ สำหรับสหรัฐฯ ที่ครัวเรือนพึ่งพาสินค้านำเข้าในระดับสูง โดยเฉพาะอย่างยิ่งการออกกฎหมายเพื่อเรียกเก็บภาษี Border Adjustment Tax (BAT) ซึ่งกว่าจะได้บทสรุปของนโยบาย BAT ต้องอาศัยเวลาและไม่น่าจะเกิดได้ใน 3 เดือนนี้ เนื่องจากส่งผลกระทบอย่างกว้างขวางต่อทั้งภาคการผลิตและภาคครัวเรือนของสหรัฐฯ ทำให้คงจะต้องเผชิญแรงต้านทานภายในสภาคองเกรสและจากกลุ่มผลประโยชน์ต่างๆ

ในอีกมิติหนึ่ง การเพิ่มการส่งออกทั้งสินค้าและบริการของสหรัฐฯ ไปยังประเทศคู่ค้า นอกจากจะช่วยลดขนาดการขาดดุลบัญชีเดินสะพัดแล้ว ยังเป็นแนวทางที่ก่อให้เกิดผลลัพธ์ที่ทั้งสองฝ่ายต่างก็ได้ประโยชน์ (Win-Win Situation) ต่อทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง ทำให้คาดว่าการเจรจาต่อรองกับประเทศคู่ค้าน่าจะเป็นแนวทางที่สหรัฐฯ ให้ความสำคัญ เพื่อหาทางเปิดตลาดให้แก่สินค้าและบริการส่งออกของสหรัฐฯ โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับประเทศคู่ค้าขนาดใหญ่ที่มีอำนาจต่อรองในระดับที่สูง แต่ในส่วนของประเทศคู่ค้าขนาดเล็กมีโอกาสที่จะเผชิญ Unilateral Trade Arrangement จากสหรัฐฯ มากกว่า

"ดังนั้นเมื่อผ่านพ้นช่วงเวลา 90 วัน หรือในช่วงครึ่งหลังของปี ศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดว่าสหรัฐฯ จะเพิ่มแรงกดดันให้แก่ประเทศคู่ค้าผ่านการออกมาตรการทางการค้าในลักษณะเฉพาะเจาะจงเป็นรายประเทศและรายสินค้า ผ่าน AD และ CVD หรือแม้แต่การตัดสิทธิ GSP ก็อยู่ในวิสัยที่กระทำได้ ภายใต้ขอบเขตอำนาจของฝ่ายบริหาร และไม่ผิดกติกาของ WTO และ/หรืออาจรวมไปถึงการใช้มาตรการกีดกันที่ไม่ใช่ภาษีอากรต่างๆ" เอกสารเผยแพร่ระบุ

ทั้งนี้ ความเป็นไปได้ที่สหรัฐฯ จะออกมาตรการทางการค้า เพื่อลดการนำเข้าและกดดันประเทศคู่ค้าในช่วงไตรมาสที่ 3 นี้ จะส่งผ่านแรงกดดันจากเครื่องมือทางการค้าที่มีอยู่ อาทิ AD/CVD และ GSP ซึ่งผลต่อไทยโดยตรงนั้นจะกระทบผ่านความสัมพันธ์ทางการค้าระหว่างกัน รวมถึงอาจได้รับผลกระทบทางอ้อมผ่านห่วงโซ่การผลิตสินค้าของไทยที่มีความเหนี่ยวแน่นกับจีนและญี่ปุ่น ที่ก็ถูกสหรัฐฯ เพ่งเล็งเช่นเดียวกับไทย เพราะเป็นประเทศอันดับ 1 และอันดับ 2 ที่สหรัฐฯ ขาดดุลด้วยตามลำดับ

โดยมิติของผลกระทบทางตรงต่อไทยผ่านการค้ากับสหรัฐฯ ภาคธุรกิจของไทยที่พึ่งพาสหรัฐฯ เป็นตลาดส่งออกหลักมีความเสี่ยงที่จะได้รับผลกระทบ จากความสามารถทางการแข่งขันที่อาจจะเปลี่ยนแปลงไป จำแนกเป็น 2 กลุ่มหลัก คือ 1.สินค้าที่ถูกมาตรการ AD/CVD ของสหรัฐฯ และมีความเสี่ยงที่สหรัฐฯ จะเพิ่มแรงกดดันต่อสินค้ากลุ่มนี้หรือเพิ่มจำนวนรายการสินค้าจากปัจจุบันสินค้าที่ถูกมาตรการดังกล่าวประกอบด้วย ข้อต่อท่อเหล็กชนิด Butt Weld ท่อเหล็ก เหล็กแผ่นรีดร้อน ลวดเหล็กแรงดึงสูง ถุงพลาสติกชนิดใช้หิ้ว กุ้งแช่แข็ง ท่อเชื่อมทำด้วยเหล็กกล้าไร้สนิม และแผ่นเหล็กรีดร้อนที่ถูกมาตรการทั้ง AD/CVD คิดเป็นมูลค่าการส่งออกไปสหรัฐฯ รวมกันประมาณ 1,100 ล้านดอลลาร์ฯ

สำหรับสินค้าที่อาจถูกมาตรการ AD/CVD เพิ่มเติม กลุ่มที่เป็นไปได้คงอยู่ในกลุ่มสินค้าใกล้เคียงกับรายการเดิม หรือสินค้าแผงเซลล์แสงอาทิตย์ ซึ่งเป็นสินค้าที่นักลงทุนต่างชาติใช้ไทยเป็นฐานการผลิตเพื่อหลบเลี่ยงมาตรการตอบโต้การทุ่มตลาดจากสหรัฐฯ ในประเทศตนเอง ซึ่งในกรณีนี้ขึ้นอยู่กับการเจรจาของผู้ผลิตที่อยู่ในไทยกับสหรัฐฯ หากมีข้อชี้แจงที่สะท้อนการค้าที่เป็นธรรมและมีน้ำหนักพอก็มีโอกาสหลุดพ้นจากมาตรการนี้ได้

2.สินค้าที่ได้รับแต้มต่อจากการใช้สิทธิ GSP ของสหรัฐฯ ซึ่งกำลังจะสิ้นสุดลงในปีนี้และอาจมีการทบทวนระหว่างทางหากสหรัฐฯ ต้องการเพิ่มแรงกดดันต่อสินค้าไทย สินค้าในกลุ่มนี้ ได้แก่ ส่วนประกอบของเครื่องใช้ไฟฟ้า ถุงมือยาง กลุ่มอาหาร เครื่องดื่มที่ไม่มีแอลกอฮอล์ ชิ้นส่วนยานยนต์ เลนส์แว่นตา เป็นต้น ในปี 2559 สินค้าส่งออกของไทยที่ใช้สิทธิ GSP ของสหรัฐฯ คิดเป็นมูลค่าราว 3,939 ล้านดอลลาร์ฯ สำหรับการให้สิทธิ GSP มีความเป็นไปได้เช่นกันที่สินค้าไทยบางรายการจะไม่ถูกตัดสิทธิหากเป็นสินค้าที่มีความต้องการบริโภคในสหรัฐฯ ขณะเดียวกันก็มีโอกาสที่สินค้าไทยจะถูกระงับสิทธิทุกรายการสินค้า หากทางการสหรัฐฯ ใช้มาตรการเข้มข้นเพื่อลดการขาดดุลการค้า ซึ่งในอีกด้านหนึ่งเป็นการบีบให้นักลงทุนไปขยายฐานการผลิตในสหรัฐฯ และสร้างการจ้างงานเพิ่มขึ้น

"สินค้ากลุ่ม 1 และ 2 รวมกันแล้วมีส่วนทำให้สหรัฐฯ ขาดดุลการค้าราว 9,150 ล้านดอลลาร์ฯ หรือคิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 48.4 ของยอดที่สหรัฐฯ ขาดดุลการค้ากับไทยที่มีมูลค่า 18,920 ล้านดอลลาร์ฯ (โดยไทยเป็นประเทศในลำดับ 11 จาก 16 ประเทศที่สหรัฐฯ ขาดดุลการค้าเกินกว่า 10,000 ล้านดอลลาร์ฯ) จึงนำมาสู่ข้อสันนิษฐานที่ว่าใน 90 วันข้างหน้า มีโอกาสที่สหรัฐฯ อาจจะเพิ่มแรงกดดันทางการค้ากับไทยผ่านสินค้าทั้งสองกลุ่มดังกล่าว" เอกสารเผยแพร่ระบุ

หากสหรัฐฯ เดินหน้ากดดันทางการค้ากับไทยก็ยากจะเลี่ยงผลกระทบ เนื่องจากสินค้าไทยที่เกี่ยวข้องกับมาตรการ AD/CVD และ GSP นับว่าเป็นกลุ่มที่อาจจะมีความอ่อนไหวต่อมาตรการกีดกันทางการค้าจากสหรัฐฯ ซึ่งมีมูลค่าการส่งออกไปสหรัฐฯ 5,039 ล้านดอลลาร์ฯ หรือคิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 20.6 ของมูลค่าการส่งออกทั้งหมดของไทยไปสหรัฐฯ ในปี 2559 ที่มีมูลค่าการส่งออกทั้งสิ้น 24,495 ล้านดอลลาร์ฯ อย่างไรก็ตาม มูลค่าผลกระทบต่อสินค้าส่งออกของไทย ยังคงต้องรอประเมินระดับความรุนแรงของมาตรการที่สหรัฐฯ จะนำมาใช้ ตลอดจนความยืดหยุ่นในการประกอบกิจการและอำนาจต่อรองของผู้ส่งออกไทยแต่ละสินค้าและแต่ละรายด้วย อย่างไรก็ดี ก็มีความเป็นไปได้ว่าสหรัฐฯ จะใช้นโยบายกดดันทางการค้าที่ฉีกไปจากที่กล่าวมาข้างต้นกับกลุ่มสินค้าอื่นนอกเหนือจากสินค้าใน AD/CVD และ GSP ที่ยังต้องติดตามต่อไป

สำหรับมิติของผลกระทบทางอ้อมต่อไทยผ่านการเป็นส่วนหนึ่งของห่วงโซ่การผลิตของญี่ปุ่นและจีน ที่มีจุดหมายปลายทางการส่งออกไปที่สหรัฐฯ นั้น น่าจะกระทบกับธุรกิจที่ส่งออกชิ้นส่วนสินค้าขั้นกลางและวัตถุดิบไปยังญี่ปุ่นและจีน อาทิ ชิ้นส่วนรถยนต์และอิเล็กทรอนิกส์สำหรับยานยนต์ ชิ้นส่วนคอมพิวเตอร์และอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ และเม็ดพลาสติก เป็นต้น

"กว่าที่นโยบายของสหรัฐฯ จะระบุขอบข่ายการบังคับใช้อย่างชัดเจน ก็น่าจะเกิดในช่วงไตรมาสสุดท้ายของปีเป็นต้นไป ดังนั้นจึงไม่น่าจะส่งผลต่อการส่งออกของไทยไปสหรัฐฯ ในปี 2560 แต่ผลที่เกิดขึ้นหากสหรัฐฯ นำมาตรการทางการค้ามาใช้น่าจะกระทบการส่งออกของไทยไปสหรัฐฯ ในปี 2561" เอกสารเผยแพร่ระบุ

สำหรับตลาดในประเทศไทยอาจมีสัญญาณที่ต้องเผชิญการแข่งขันยิ่งขึ้นอีกในระยะข้างหน้า โดยทางสหรัฐฯ คงเจรจาเพื่อให้ไทยเปิดตลาดในประเทศให้แก่สหรัฐฯ โดยการหยิบยกประเด็นเกี่ยวกับการคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญา การจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐบาล การผูกขาดของรัฐวิสาหกิจ สิทธิมนุษยชน รวมไปถึงสภาพการจ้างงาน ซึ่งเป็นมาตรฐานการเจรจาทางการค้าของสหรัฐฯ โดยในเบื้องต้น ตามรายงานของ USTR ประเด็นที่สหรัฐฯ กล่าวถึงอุปสรรคในการเจาะตลาดไทย และมีความเป็นไปได้ที่สหรัฐฯ จะเพิ่มแรงกดดันให้ไทยเปิดตลาดให้กับสินค้านำเข้าจากสหรัฐฯ

โดยธุรกิจไทยที่อาจจะได้รับผลกระทบ ได้แก่ อาหารสัตว์ ปศุสัตว์ (เนื้อหมู เนื้อวัว) และธัญพืช เป็นต้น ซึ่งกลุ่มนี้เป็นสินค้าที่สหรัฐฯ มีศักยภาพทางการแข่งขันและต้องการเจาะตลาดในไทย แต่ยังไม่สามารถเข้ามาเจาะตลาดภายในไทยได้จากกฎระเบียบของไทยเพื่อคุ้มครองผู้บริโภคและธุรกิจในประเทศที่มีต่อสินค้าเหล่านี้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งมาตรการด้านสุขภาพอนามัย เช่น ข้อกำหนดปริมาณการใช้สารเร่งเนื้อแดง การกำหนดโควต้านำเข้า หรือการขออนุญาตนำเข้าสำหรับสินค้าบางประเภท รวมถึงการเก็บภาษีสินค้าเกษตรนำเข้าในอัตรา MFN ที่ค่อนข้างสูง

ในส่วนการเปิดตลาดภาคการบริการภายในประเทศ ไม่น่าจะได้รับผลกระทบอย่างมีนัยสำคัญ เนื่องจากภาคการบริการที่สหรัฐฯ มีความพร้อมในการแข่งขันและต้องการให้เปิดเสรีนั้น เป็นภาคที่มีความสำคัญเชิงยุทธศาสตร์และมีความอ่อนไหวสูง เช่น ธุรกิจวิทยุโทรทัศน์ กฎหมาย การบัญชี ธุรกิจโทรคมนาคมและภาคการเงิน เป็นต้น


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ