นางอภิรดี ตันตราภรณ์ รมว.พาณิชย์ เปิดเผยว่า รัฐอิสราเอลเป็นประเทศคู่ค้าลำดับที่ 4 ในด้านมูลค่าการส่งออก และเป็นประเทศคู่ค้าลำดับที่ 5 ในด้านมูลค่าการนำเข้าของไทยในกลุ่มประเทศตะวันออกกลาง 15 ประเทศ การค้ารวมไทย-อิสราเอลปี 2559 มีมูลค่า 1,068.40 ล้านเหรียญสหรัฐฯ แบ่งเป็นไทยส่งออกไปอิสราเอล 675.43 ล้านเหรียญสหรัฐฯ และนำเข้าจากอิสราเอล 392.97 ล้านเหรียญสหรัฐฯ สำหรับในปี 2560 นี้ กระทรวงพาณิชย์ตั้งเป้าหมายการส่งออกไทยไปยังอิสราเอลจะขยายตัวร้อยละ 1-1.5 โดยสินค้าไทยที่มีโอกาสดีในตลาดอิสราเอลได้แก่ สินค้ายานยนต์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ ซึ่งเป็นสินค้าสำคัญอันดับหนึ่งที่ไทยส่งออกไปอิสราเอล
อย่างไรก็ตามในภาพรวมอิสราเอลมีการนำเข้ารถยนต์ประมาณ 290,000 คันในปี 2559 เพิ่มขึ้นกว่าร้อยละ 12 เมื่อเทียบกับปี 2558 และมีแนวโน้มจะนำเข้ารถยนต์เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ส่งผลให้ตลาดสินค้าที่เกี่ยวเนื่องเติบโตตามไปด้วย ผู้นำเข้าสินค้าชิ้นส่วนยานยนต์และยางรถยนต์ของอิสราเอลต่างเห็นว่าสินค้าของประเทศไทยมีคุณภาพดี และผู้ส่งออกไทยมีความน่าเชื่อ ถึงแม้ว่าจะมีราคาสูงกว่าคู่แข่งหากสินค้าไทยกลับได้รับความนิยมในตลาดนี้
นอกจากนี้สินค้าอัญมณีและเครื่องประดับจากประเทศไทยเป็นสินค้าที่เป็นที่ต้องการของตลาดอิสราเอลเช่นกัน สหพันธ์ตลาดกลางค้าเพชรและอัญมณีของอิสราเอลคาดการณ์ว่าภาพรวมธุรกิจการค้าอัญมณีและเครื่องประดับของอิสราเอลกำลังมีภาวะที่ดีขึ้น ถึงแม้ว่าแนวโน้มความต้องการเพชรของผู้ซื้อลดลง แต่พลอยและสินค้าอัญมณีอื่น ๆ เป็นที่ต้องการเพิ่มขึ้น ข้อมูลจากสหพันธ์ฯ ระบุว่า อิสราเอลมีการนำเข้าไพลินจากประเทศไทยถึงร้อยละ 70 และนำเข้าจากประเทศศรีลังการ้อยละ 30
ขณะที่สินค้าข้าว อาหาร สินค้าอุปโภคบริโภคต่าง ๆ ต่างมีแนวโน้มดีในอิสราเอล ชาวอิสราเอลนิยมบริโภคข้าว เช่น ข้าวหอมมะลิ ข้าวบาสมาติ ข้าวขาวเมล็ดยาว ข้าวขาวเมล็ดกลม เป็นต้น เนื่องจากรัฐอิสราเอลไม่มีการผลิตข้าวในประเทศ จึงต้องนำเข้าเพื่อการบริโภค โดยเฉลี่ยมีปริมาณการนำเข้าข้าวปีละ 105,000-115,000 ตัน ตลาดนำเข้าหลัก 5 อันดับแรก ได้แก่ ประเทศไทย โดยปีที่ผ่านมาอิสราเอลนำเข้าข้าวจากไทยประมาณ 49,900 ตัน รองลงมาเป็นออสเตรเลีย อินเดีย สหรัฐอเมริกา และสิงคโปร์ อย่างไรก็ตามเนื่องจากราคาข้าวของไทยสูงกว่าราคาข้าวของประเทศคู่แข่ง ผู้ประกอบการและผู้ส่งออกข้าวไทยจึงควรพัฒนาสินค้าหรือนำนวัตกรรมมาเพิ่มมูลค่าให้กับสินค้าข้าวไทย เพื่อให้สามารถครองส่วนแบ่งในตลาดไว้ได้
นอกจากนี้สินค้าที่กำลังเป็นที่นิยมในตลาดอิสราเอล ได้แก่ สินค้าอาหารเสริม อาหารออร์แกนิกส์ รวมถึงผลิตภัณฑ์สปา เนื่องจากมีความต้องการสินค้าเพื่อสุขภาพและความงาม สินค้าอาหารและของเล่นสำหรับสัตว์เลี้ยง เนื่องจากชาวอิสราเอลนิยมเลี้ยงสุนัขและแมวมาก จากการสำรวจพบว่าอิสราเอลเป็นประเทศที่มีการเลี้ยงสุนัขและแมวมากที่สุดในโลกวัดเป็นค่าเฉลี่ย per capita ของจำนวนประชากรที่มีสัตว์เลี้ยง และสินค้าเฟอร์นิเจอร์และของตกแต่งบ้าน เนื่องจากในปัจจุบันมีการขยายตัวด้านการก่อสร้างอาคารที่พัก อาคารสำนักงาน จะเห็นว่าอาคารที่อยู่อาศัยที่สูงมากกว่า 21 ชั้นได้ถูกสร้างขึ้นเป็นจำนวนมากโดยเพิ่มขึ้นกว่าร้อยละ 70 ทั่วประเทศอิสราเอล
นางอภิรดี กล่าวอีกว่า กระทรวงพาณิชย์มีนโยบายขยายความร่วมมือและสร้างโอกาสทางการค้าระหว่างกันสองประเทศทั้งในรูปแบบรัฐกับรัฐ เช่น การใช้ประโยชน์จากการเจรจาภายใต้กรอบคณะกรรมการร่วมทางการค้า (JTC) ไทย-อิสราเอล สนับสนุนความร่วมมือระหว่างภาคเอกชนกับเอกชนเพื่อสร้างความสัมพันธ์ที่แน่นแฟ้นยิ่งขึ้น ตลอดจนจัดกิจกรรมส่งเสริมการตลาด การสร้างเครือข่าย การเจรจาธุรกิจ (Business Matching) ทั้งในประเทศไทยและรัฐอิสราเอล