นายนิธิศ มนุญพร กรรมการและผู้จัดการทั่วไป บรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม (บสย.) และ นายมงคล ลีลาธรรม กรรมการผู้จัดการ ธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย (ธพว. หรือ SME Development Bank) ลงนามความร่วมมือดำเนินการโครงการค้ำประกันสินเชื่อ SMEs Transformation Loan วงเงิน 15,000 ล้านบาท พร้อมเสริมศักยภาพ เพิ่มขีดความสามารถ สร้างความเข้มแข็งผู้ประกอบการสู่ยุคอุตสาหกรรม 4.0 และ SMEs 4.0
นายนิธิศ กล่าวว่า บสย.พร้อมดำเนินการให้ความช่วยเหลือผู้ประกอบการ SMEs เข้าถึงสินเชื่อในโครงการค้ำประกันสินเชื่อ SMEs Transformation Loan วงเงิน 15,000 ล้านบาท มั่นใจตอบโจทย์ผู้ประกอบการ SMEs กลุ่มเป้าหมายคือ ผู้ประกอบการที่ได้รับผลกระทบทางเศรษฐกิจและต้องการเสริมสภาพคล่อง กลุ่มผู้ประกอบการใหม่ (Start up) กลุ่มผู้ประกอบการที่มีนวัตกรรม กลุ่มผู้ประกอบการที่มีศักยภาพหรือมีแนวโน้มการเติบโตสู่ยุคอุตสาหกรรม 4.0 และ SMEs 4.0 ในกลุ่มธุรกิจ S-Curve และกลุ่มธุรกิจส่งออกหรือขยายธุรกิจในต่างประเทศ
ทั้งนี้มีระยะเวลาค้ำประกัน 7 ปี วงเงินค้ำประกันสินเชื่อสูงสุดต่อรายไม่เกิน 15 ล้านบาท คิดค่าธรรมเนียมค้ำประกัน 1.75% ของวงเงินค้ำประกัน ค่าธรรมเนียมค้ำประกันสินเชื่อ 3 ปีแรก รัฐบาลเป็นผู้จ่ายชดเชยค่าธรรมเนียมค้ำประกันแทนผู้ประกอบการ โดยปีแรกชดเชยค่าธรรมเนียมค้ำประกัน 1.75% ในปีที่ 2-3 รัฐบาลจ่ายชดเชยค่าธรรมเนียมค้ำประกันในอัตรา 0.75%
สำหรับคุณสมบัติของผู้ประกอบการ SMEs ที่เข้าร่วมโครงการค้ำประกันสินเชื่อ SMEs Transformation Loan จะต้องเป็น SMEs ที่ได้รับสินเชื่อใหม่ และไม่นำไปใช้ชำระหนี้เดิมกับผู้ให้กู้เป็น SMEs ที่มีสินทรัพย์ถาวรไม่เกิน 200 ล้านบาท ประกอบกิจการที่ชอบด้วยกฎหมายและไม่ขัดต่อศีลธรรมอันดี
โครงการค้ำประกันสินเชื่อ SMEs Transformation Loan เป็นโครงการความร่วมมือครั้งสำคัญระหว่าง บสย.และ ธพว.เพื่อให้ความช่วยเหลือ SMEs เข้าถึงสินเชื่อง่ายขึ้น โดยมีบสย.เป็นกลไกสำคัญค้ำประกันสินเชื่อ คาดว่าจะช่วยผู้ประกอบการ SMEs ได้รับสินเชื่อและค้ำประกันสินเชื่อ 3,000-5,000 ราย สร้างเงินทุนหมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจ 68,700 ล้านบาท หรือ 4.58 เท่าของวงเงินสินเชื่อ
ด้านนายมงคล กล่าวว่า การลงนามใน MOU โครงการสินเชื่อ SMEs Transformation Loan เป็นภารกิจหลักร่วมกันของธนาคารและ บสย. ในการสานต่อนโยบายรัฐบาล เป็นสินเชื่ออัตราดอกเบี้ยเงินกู้พิเศษเพียง 3% ในช่วง 3 ปีแรก ระยะเวลาผ่อนชำระนาน 7 ปี ซึ่งต้องการให้ผู้ประกอบการได้รับความช่วยเหลือผ่านนโยบายภาครัฐตามแผนยุทธศาสตร์ของชาติ เช่น ยุทธศาสตร์ด้านการสร้างความสามารถในการแข่งขัน มุ่งเน้นไปที่การพัฒนาทักษะผู้ประกอบการ SMEs วิสาหกิจชุมชน และสถาบันเกษตรกร เพื่อยกระดับผลิตภาพแรงงาน ผลักดันเศรษฐกิจชุมชนก้าวสู่สากล และยุทธศาสตร์ด้านการสร้างโอกาสความเสมอภาคและเท่าเทียมกันทางสังคม เร่งกระจายโอกาสด้านการพัฒนาศักยภาพ สร้างความมั่นคง เพื่อลดความเลื่อมล้ำด้านเศรษฐกิจและสังคม มุ่งหวังเพียงประโยชน์สูงสุดที่ผู้ประกอบการได้รับ ทั้งการสนับสนุนด้านเงินทุนและการพัฒนาเติมเต็มองค์ความรู้ครบทุกมิติ เพื่อก้าวสู่ SMEs ไทยแลนด์ 4.0 อย่างยั่งยืนต่อไป
โดย ธพว. ยังเป็นแกนหลักร่วมกับ บสย. และหน่วยงานพันธมิตร ได้แก่ กระทรวงอุตสาหกรรม กระทรวงการคลัง กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม จัดกิจกรรม "เติมเต็มเงินทุน ติดอาวุธความรู้ ติดปีก SMEs ไทย" ซึ่งกิจกรรมจะจัดเวียนครบทุกภาค รวม 14 จังหวัดในเดือน พ.ค.60 แบ่งเป็นเดือน เม.ย. 8 จังหวัด คือ ลำปาง นครศรีธรรมราช สงขลา อ.หาดใหญ่ ตรัง เพชรบุรี มุกดาหาร ร้อยเอ็ด และอุดรธานี เดือนพ.คง 6 จังหวัด คือ สกลนคร ลพบุรี นครปฐม พิษณุโลก ฉะเชิงเทรา และน่าน