น.ส.อรนุช ไวนุสิทธิ์ ที่ปรึกษาด้านพัฒนาระบบการเงินการคลัง ในฐานะโฆษกกรมบัญชีกลาง เปิดเผยว่า จากประเด็นข่าวกรณีที่ตัวแทนองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) แสดงความกังวลต่อกรณีที่กรมบัญชีกลางจะทดลองนำเบี้ยยังชีพคนชราที่เคยจ่ายโดย อปท. มาจ่ายโดยกรมบัญชีกลางแบบเงินสดหรือโอนเข้าบัญชี ในประเด็นการถอนเงินจากบัญชีอาจเป็นปัญหากับประชาชนที่อยู่ในเขตชนบทห่างไกล และเงินช่วยเหลือไม่ถึงมือประชาชน รวมถึงประชาชนอาจเกิดความสับสนว่า อปท.ไม่ช่วยเหลือ อีกทั้งระบบบริหารจัดการรายชื่อผู้สูงอายุอาจเกิดการตกหล่น อาทิ การขึ้นทะเบียนผู้สูงอายุ การเสียชีวิต หรือการย้ายออกจากพื้นที่นั้น
โฆษกกรมบัญชีกลาง กล่าวว่า คณะรัฐมนตรีได้มีมติเมื่อวันที่ 22 ธันวาคม 2558 เห็นชอบแผนยุทธศาสตร์การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานระบบการชำระเงินแบบอิเล็กทรอนิกส์แห่งชาติ (National e-Payment Master Plan) ซึ่งมีวัตถุประสงค์สำคัญคือ เพื่อพัฒนาระบบการชำระเงินของประเทศไทยให้เข้าสู่ระบบการชำระเงินแบบอิเล็กทรอนิกส์ (e-Payment) อย่างครบวงจร บูรณาการและยั่งยืน สามารถรองรับธุรกรรมทางการเงินและกิจกรรมทางเศรษฐกิจต่างๆ ให้ดำเนินไปอย่างสะดวกและรวดเร็วยิ่งขึ้น อันเป็นกลไกสำคัญในการยกระดับศักยภาพในการแข่งขันของภาคธุรกิจและของประเทศไทย และช่วยยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชน และสร้างความมั่นคงให้กับระบบบริหารจัดเก็บภาษี อันจะนำมาสู่การเพิ่มประสิทธิภาพโครงสร้างพื้นฐานการชำระเงิน การเพิ่มประสิทธิภาพของระบบภาษีอิเล็กทรอนิกส์ การลงทะเบียน ผู้มีรายได้น้อย รวมทั้งบูรณาการระบบสวัสดิการสังคม การส่งเสริมการเข้าถึงบริการทางการเงิน และการส่งเสริม e-Payment ในทุกภาคส่วน
ซึ่งในแผนยุทธศาสตร์ National e-Payment Master Plan มี 5 โครงการสำคัญ โดยกรมบัญชีกลางรับผิดชอบในโครงการที่ 4 โครงการ e-Payment ภาครัฐ มี 2 โครงการย่อย ประกอบด้วย 1.โครงการบูรณาการฐานข้อมูลสวัสดิการสังคม และ 2. โครงการเพิ่มประสิทธิภาพการรับจ่ายเงินภาครัฐทางอิเล็กทรอนิกส์ ซึ่งการจ่ายเงินเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ เป็นหนึ่งในโครงการบูรณาการฐานข้อมูลสวัสดิการสังคม
ต่อมาได้มีมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 15 มีนาคม 2559 เห็นชอบให้ทุกส่วนราชการและหน่วยงานของรัฐดำเนินการตามแนวทางการบูรณาการฐานข้อมูลประชาชนและการบริการภาครัฐ รวมทั้งปรับปรุงระเบียบ กฎหมายที่เกี่ยวข้องให้รองรับการดำเนินการเชื่อมโยงและแลกเปลี่ยนข้อมูลในการบูรณาการฐานข้อมูลประชาชนและการบริการภาครัฐ ประกอบกับคณะกรรมการขับเคลื่อนแผนยุทธศาสตร์ National e-Payment ในคราวประชุมครั้งที่ 1/2560 เมื่อวันที่ 27 ตุลาคม 2559 มีมติเห็นชอบหลักการตามแนวทางในการจ่ายเงินสวัสดิการสังคมต่างๆ โดยมอบหมายให้กรมบัญชีกลางทำหน้าที่ในการจ่ายเงินเข้าบัญชีเงินฝากธนาคารให้แก่ผู้มีสิทธิรับเงินโดยตรงแทนส่วนราชการหรือหน่วยงานที่กำกับดูแลสวัสดิการสังคม แต่ละประเภท
หลังจากที่กรมบัญชีกลางได้รับมอบหมายให้ทำหน้าที่จ่ายเงิน จึงได้ประสานงานกับหน่วยงานราชการที่รับผิดชอบการจ่ายเงินสวัสดิการต่างๆ ได้แก่ กรุงเทพมหานคร เมืองพัทยา และกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น และคณะกรรมการ องค์การ และหน่วยงานที่กำกับดูแลสวัสดิการสังคมแต่ละประเภท เพื่อยืนยันตามแนวทางการจ่ายเงินสวัสดิการสังคมที่คณะกรรมการฯ ให้ความเห็นชอบในหลักการไปแล้ว พร้อมทั้งได้ชี้แจงและเชิญหน่วยงานที่เกี่ยวข้องประชุมหารือเพื่อรับฟังความคิดเห็น ปัญหา อุปสรรคต่างๆ ประกอบด้วย กรมกิจการผู้สูงอายุ เมื่อวันที่ 5 สิงหาคม 2559 กรมส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ เมื่อวันที่ 8 สิงหาคม 2559 สมาคมสันนิบาตเทศบาล สมาคม อบจ. สมาคม อบต. เมื่อวันที่ 10 สิงหาคม 2559 คณะกรรมการส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการแห่งชาติ เมื่อวันที่ 15 สิงหาคม 2559 รวมทั้งได้ชี้แจงข้อมูลต่อคณะกรรมการส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการแห่งชาติ เมื่อวันที่ 5 เมษายน 2560 อีกครั้งหนึ่งด้วย
โฆษกกรมบัญชีกลาง ชี้แจงเพิ่มเติมเกี่ยวกับกรอบแนวคิดในการบูรณาการฐานข้อมูลสวัสดิการสังคม ดังนี้ 1. หน่วยงานเจ้าของสิทธิสวัสดิการต่างๆ รับลงทะเบียนและตรวจสอบคุณสมบัติเบื้องต้น เช่น เบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) เป็นหน่วยงานรับลงทะเบียนและตรวจสอบคุณสมบัติ ก่อนส่งข้อมูลทั้งหมดให้กับกรมการปกครอง ตรวจสอบข้อมูลบุคคลโดยใช้เลขบัตรประชาชน 13 หลัก ก่อนส่งให้กรมบัญชีกลางจ่ายเงิน เมื่อหน่วยงานเจ้าของสิทธิสวัสดิการ และกรมการปกครองตรวจสอบข้อมูลเรียบร้อยแล้ว จึงส่งข้อมูลให้กรมบัญชีกลางจ่ายเงินสวัสดิการให้แก่ผู้มีสิทธิ โดยกรมบัญชีกลางจะจ่ายเงินตามที่ผู้มีสิทธิได้แจ้งความประสงค์ไว้ ซึ่งปัจจุบันกำหนดไว้ 3 รูปแบบ คือ (1) โอนเงินเข้าบัญชี (2) โอนเข้าพร้อมเพย์ หรือ (3) รับเป็นเงินสด โดยส่งเงินให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) จ่ายให้ผู้มีสิทธิต่อไป
ดังนั้น แม้ผู้มีสิทธิจะชราภาพมากหรือไม่สะดวกที่จะไปธนาคารก็สามารถรับเป็นเงินสดได้ หลังจากนั้นจะมีหน่วยงานที่เข้ามาตรวจสอบว่า การจ่ายเงินสวัสดิการเป็นไปตามวัตถุประสงค์หรือไม่ จะเห็นได้ว่าการจ่ายเงินมีหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง 4 หน่วยงาน ซึ่งจะเป็นการตรวจสอบซึ่งกันและกัน จึงทำให้มั่นใจว่ามีความรอบคอบ และเนื่องจากเป็นการดำเนินการด้วยระบบอิเล็กทรอนิกส์ทั้งหมด ทำให้การดำเนินงานเป็นไปด้วยความรวดเร็วและแม่นยำ
โฆษกกรมบัญชีกลาง ชี้แจงเพิ่มเติมอีกว่า โครงการบูรณาการฐานข้อมูลสวัสดิการสังคม เป็นการพัฒนาระบบฐานข้อมูลกลางที่ทำให้รัฐสามารถจ่ายเงินสวัสดิการและเงินช่วยเหลือให้แก่ประชาชนผู้มีรายได้น้อย หรือผู้ที่รัฐต้องการให้ความช่วยเหลือได้โดยตรง ถูกกลุ่มเป้าหมาย ไม่ซ้ำซ้อน และเกิดประโยชน์สูงสุด รวมทั้งยังสามารถบริหารจัดการ และประเมินผลประสิทธิภาพของเงินช่วยเหลือต่างๆ ได้ดียิ่งขึ้น โดยในอนาคตจะมีการพัฒนาเพื่อให้ประชาชนสามารถใช้บัตรอิเล็กทรอนิกส์ หรือบัตรประชาชนเป็นสื่อในการรับเงินช่วยเหลือ และสามารถนำไปใช้จ่ายผ่านร้านค้าที่กำหนด หรือนำไปใช้กับบริการต่างๆ ของภาครัฐ เช่น ระบบขนส่งสาธารณะ และระบบรักษาพยาบาล เป็นต้น
ดังนั้น ในอนาคต หากโครงการบูรณาการฐานข้อมูลสวัสดิการสังคมสามารถพัฒนาได้อย่างเต็มรูปแบบ เราก็จะทราบว่า ณ ช่วงเวลาใดเวลาหนึ่ง ประชาชนคนไทยแต่ละคนได้รับความช่วยเหลือหรือได้รับสวัสดิการใดบ้างจากภาครัฐ
จากกรอบแนวคิดดังกล่าวข้างต้น จึงทำให้ข้อกังวลที่ว่าการถอนเงินจากบัญชีอาจเป็นปัญหากับประชาชนที่อยู่ในเขตชนบทห่างไกล และเงินช่วยเหลือไม่ถึงมือประชาชน รวมถึงประชาชนอาจเกิดความสับสนว่า อปท.ไม่ช่วยเหลือ อีกทั้งระบบบริหารจัดการรายชื่อผู้สูงอายุอาจเกิดการตกหล่น อาทิ การขึ้นทะเบียนผู้สูงอายุ การเสียชีวิต หรือการย้ายออกจากพื้นที่ จะไม่เกิดขึ้น เนื่องจากกรมบัญชีกลางได้รับทราบข้อมูลเหล่านี้จากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องก่อนนำมาพัฒนาระบบการจ่ายเงินแบบอิเล็กทรอนิกส์อยู่แล้ว
อย่างไรก็ตาม โครงการบูรณาการฐานข้อมูลสวัสดิการสังคมดังกล่าว จะประสบความสำเร็จและเกิดประโยชน์สูงสุดต่อประชาชน จะต้องได้รับความร่วมมือจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องและช่วยกันขับเคลื่อน เพื่อให้บรรลุเป้าหมายตามแผนยุทธศาสตร์การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานระบบการชำระเงินแบบอิเล็กทรอนิกส์แห่งชาติ (National e-Payment Master Plan)