สกว.เจาะลึกเศรษฐกิจกลุ่มประเทศ CLMV แนะเรียนรู้จุดอ่อนจุดแข็งก่อนลงทุน

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday April 19, 2017 18:25 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

กลุ่มประเทศ กัมพูชา ลาว พม่า เวียดนาม (CLMV) เป็นประเทศในกลุ่ม ASEAN ที่มีแนวโน้มเศรษฐกิจโตต่อเนื่อง มีทรัพยากรอุดมสมบูรณ์และยังมีค่าจ้างแรงงานไม่สูงนัก อีกทั้งยังมีพรมแดนติดกับประเทศไทย ดังนั้นกลุ่ม CLMV จึงเหมาะสมอย่างยิ่งที่ผู้ประกอบการไทยจะเข้าหาลู่ทางทำธุรกิจ การรู้จุดแข็งจุดอ่อนและข้อควรระวังต่างๆเกี่ยวกับประเทศกลุ่มนี้จึงสำคัญและยิ่งเพิ่มความได้เปรียบให้กับผู้ประกอบการไทย

ดร.เณศรา สุขพานิช คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ได้นำเสนองานวิจัยหัวข้อประเด็นเด่นและการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศในสปป.ลาว ว่า ปี 2559 เป็นปีแรกที่ลาวเริ่มต้นใช้แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 8 (2559-2563) โดยลาวตั้งเป้าจะพ้นจากสถานะประเทศพัฒนาน้อยที่สุดภายในปี 2563 และเป็นประเทศที่มีรายได้ปานกลางถึงระดับสูง ภายในปี 2573 โดยช่วง 6 ปีล่าสุด ลาวมีอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจเฉลี่ย 6-7% ซึ่งถือว่าค่อนข้างสูง ปัจจุบันลาวเพิ่มความสะดวกในการลงทุนมากขึ้นหลังเข้าร่วมเป็นสมาชิกองค์กรการค้าโลก (WTO) ตั้งแต่ปี 2556 นอกจากนี้ยังประกาศใช้กฎหมายส่งเสริมการลงทุนทั้งยกเว้นภาษีกำไรสูงสุด 10 ปี รวมถึงยกเว้นภาษีนำเข้าวัตถุดิบ อุปกรณ์ชิ้นส่วน

สำหรับจุดแข็งของการลงทุนในลาว คือ ลาวเป็นประเทศที่มีทรัพยากรอุดมสมบูรณ์ การเมืองมีเสถียรภาพมากขึ้น ค่าแรงค่อนข้างต่ำ รวมถึงอัตราแลกเปลี่ยนของลาวค่อนข้างมีเสถียรภาพเมื่อเทียบกับดอลลาร์สหรัฐ แต่ข้อควรระวังคือ แม้ค่าแรงจะต่ำแต่แรงงานยังขาดแคลนเพราะลาวมีประชากร 7 ล้านคน เป็นวัยแรงงานเพียง 3.5 ล้านคน ทำให้ลาวยังขาดแคลนแรงงานในทุกระดับตั้งแต่ระดับไร้ฝีมือจนถึงระดับทักษะสูง นอกจากนี้ลาวยังมีปัญหาคอร์รัปชั่นสูงและภาครัฐของลาวไม่สามารถส่งมอบที่ดินสัมปทานได้เต็มจำนวนจากปัญหาต่าง ๆ เช่น มีประชาชนในท้องถิ่นทำกินอยู่ในพื้นที่

ขณะที่ รศ.กิริยา กุลกลการ คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ นำเสนองานวิจัยประเด็นเด่นทางเศรษฐกิจของกัมพูชา และประชากรกับตลาดแรงงาน ว่า ปัจจุบันประเทศกัมพูชาไม่ใช่ประเทศยากจนอีกต่อไป โดยเมื่อปี 2559 ธนาคารโลกเลื่อนสถานะให้อยู่ในระดับประเทศที่มีรายได้ปานกลางกลุ่มล่าง รวมถึงยังมีอุตสาหกรรมคาสิโนที่มีรายได้สูงเป็นอันดับ2 รองจากมาเก๊า และล่าสุดเมื่อปีที่ผ่านมาร้านกาแฟสตาร์บัค ได้เปิดสาขาแรกที่กรุงพนมเปญภายในสนามบิน และสาขาที่ 2 ที่ศูนย์การค้า AEON Mall ซึ่งสะท้อนว่ากำลังซื้อของคนกัมพูชาเริ่มสูงขึ้น ขณะที่ประชากรและตลาดแรงงานนั้นกัมพูชามีประชากร 15 ล้านคน อัตราการขยายตัว 1.6%ต่อปี อายุเฉลี่ย 24.5 ปี ซึ่งถือเป็นวัยหนุ่มสาวมากๆ อย่างไรก็ตามเนื่องจากกัมพูชาเพิ่งผ่านสงครามกลางเมืองมาได้ไม่นานทำให้อัตราการรู้หนังสือของคนกัมพูชาต่ำที่สุดในอาเซียน ประชากรร้อยละ 41ไม่จบประถมศึกษา แต่ปัจจุบันกัมพูชามีกฎหมายการศึกษาภาคบังคับและเรียนฟรีถึงระดับมัธยมต้น ขณะที่สวัสดิการสังคมของคนกัมพูชาถือมีข้อจำกัดในเรื่องการเงินมากโดยรัฐบาลให้งบประมาณด้านสวัสดิการต่ำกว่า 1% ของจีดีพี ต้องใช้เงินจากองค์กรระหว่างประเทศมาสนับสนุน มีความเหลื่อมล้ำสูงมาก คนรวยก็รวยไปเลยคนจนก็จนไปเลยไม่ค่อยมีกลุ่มคนที่มีรายได้ปานกลาง

รศ.กิริยา เก็บข้อมูลเกี่ยวกับทรัพยากรบุคคลจากบริษัทเอกชนขนาดใหญ่ของไทยที่ไปเปิดกิจการในกัมพูชา พบว่า แรงงานขาดทักษะ soft skills อาทิ ทักษะการสื่อสาร การทำงานร่วมกัน การปรับตัว และการบริหารเวลา แรงงานที่มีทักษะหลายด้าน (Multi skills) หาได้ยาก ทักษะในสายงานที่ขาดแคลน คือ ทักษะด้านวิศวกรรม นอกจากนี้ยังพบว่า ค่าครองชีพในกัมพูชาค่อนข้างสูง อาหารหนึ่งมื้อทั่วไปเฉลี่ยมื้อละ 2 ดอลลาร์สหรัฐ กฎหมายกัมพูชาให้ความคุ้มครองแรงงานมาก และแรงงานกัมพูชามีการเรียกร้องสิทธิค่อนข้างสูง ประเทศมีวันหยุดเยอะและแรงงานให้ความสำคัญกับครอบครัวมาก โดยเฉลี่ย 1 ปีเวลาทำงานจริงอยู่ประมาณ 10 เดือน

ด้าน ดร.อนิณ อรุณเรืองสวัสดิ์ คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวถึงการค้าการลงทุนในประเทศเมียนมาว่า ข้อมูลจากธนาคารโลกเกี่ยวกับภาพรวมตัวเลขการเติบโตทางเศรษฐกิจของเมียนมานั้นลดลง สาเหตุมาจากการชะลอตัวทางเศรษฐกิจของจีน และไทยซึ่งเป็นคู่ค้าสำคัญกว่า 60% ชะลอตัว อีกประเด็นที่สำคัญคือความไม่ชัดเจนในนโยบายเศรษฐกิจของนางอองซานซูจี ขณะที่ทางการเมียนมาเริ่มออกกฎห้ามนำเข้าเบียร์ไทยเนื่องจากเบียร์ไทยเริ่มเข้าไปตีตลาดเบียร์เมียนมา โดยสั่งห้ามนำเข้าเบียร์ไทยทุกยี่ห้อผ่านด่านจ.ตาก ส่วนด้านการเมืองแม้จะมีการเลือกตั้งและนางอองซานซูจี ได้เป็นที่ปรึกษาแห่งรัฐของเมียนมา แต่กองทัพก็ยังมีอิทธิพลทางการเมืองอยู่ นอกจากนี้เมียนมายังมีการละเมิดสิทธิมนุษยนชาวโรฮิงยา

สำหรับการค้าและการลงทุนในประเทศเมียนมานั้น เมียนมาพึ่งพาอุตสาหกรรมจากทรัพยากรธรรมชาติ ทั้งน้ำมัน ก๊าซธรรมชาติ เหมืองแร่ อัญมณี หยก และไฟฟ้า โดยเมียนมาเป็นผู้ผลิตก๊าซธรรมชาติเป็นอันดับต้นๆของอาเซียน ขณะที่มูลค่าการส่งออกน้ำมัน ก๊าซธรรมชาติ และอัญมณี รวมกันคิดเป็น 38.5% ของมูลค่าการส่งออกทั้งหมดของประเทศ สำหรับกฎหมายการทำเหมืองแร่ ซึ่งรวมทั้งหยกและอัญมณี เมียนมาปรับปรุงกฎหมายล่าสุดเมื่อปี 2558 โดยมีการเพิ่มใบอนุญาตการค้าและการแปรรูป รวมถึงเพิ่มบทลงโทษในการกระทำผิดที่รุนแรงขึ้น แต่ก็ไม่อนุญาตให้ต่างชาติเข้าไปรับสัมปทานทำเหมืองแร่ใด ๆ ในประเทศได้ อย่างไรก็ตามประเทศที่มีทรัพยากรจำนวนมากอย่างเมียนมามักจะติดปัญหาไม่ส่งเสริมการลงทุนเพื่อดึงดูดกลุ่มนักลงทุน เพราะประเทศจะอาศัยทรัพยากรธรรมชาติเป็นหลัก ขณะที่กฎหมายหลายฉบับด้านทรัพยากรและการลงทุนของเมียนมาค่อนข้างเก่าทำให้ขาดประสิทธิภาพ ส่วนทรัพยากรมนุษย์ของเมียนมายังค่อนข้างแย่ทำให้เมียนมามีความเสี่ยงที่จะเกิด Resource curse หรือคำสาปทรัพยากร ดังนั้นสำหรับนักลงทุนธุรกิจขนาดกลางและขนาดเล็กคงจะเข้าไปลงทุนในเมียนมาลำบากเพราะการเข้าถึงแหล่งการเงินยังมีปัญหา ขณะที่อุตสาหกรรมขนาดใหญ่ก็ยังต้องรอดูกฎหมายลูกต่างๆของเมียนมาที่จะมีขึ้นในอนาคต รวมถึงเสถียรภาพทางการเมืองที่ทหารยังมีอำนาจอยู่ทำให้มีปัญหาคอร์รัปชั่นสูง

ด้านประเด็นเด่นเศรษฐกิจของประเทศเวียดนาม ดร.ชญานี ชวะโนทย์ คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ นำเสนองานวิจัยว่า เวียดนามเป็นประเทศสังคมนิยมที่กำลังปรับตัวให้เข้ากับการลงทุน โดยผลจากการปรับกฎระเบียบการลงทุนในปี 2558 มีเงินลงทุนจากต่างชาติเข้าลงทุนในเวียดนาม (FDI) สูงถึง 15.8 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ เพิ่มขึ้นร้อยละ 9 ขณะที่อัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจปี 2559 อยู่ที่ร้อยละ 6.2 สำหรับประเทศรายใหญ่ที่ลงทุนในเวียดนามคือเกาหลีใต้ โดยมีสัดส่วนสูงถึงร้อยละ 36 ของ FDI ทั้งหมด สำหรับจุดดึงดูดการลงทุนในเวียดนามปัจจุบัน คือ เวียดนามกำลังพิจารณาลดภาษีรายได้และภาษีนิติบุคคลธรรมดาใน 5 ปีข้างหน้า ขณะที่รัฐบาลเวียดนามสนับสนุนธุรกิจสตาร์ทอัพโดยมียุทธศาสตร์ Vietnam Silicon Valley ตั้งแต่ปี 2556 โดยตั้งเป้าเมืองดานังเป็น Smart City ขณะที่ปีที่ผ่านมาอุตสาหกรรมไอซีทีเติบโตสูงถึงร้อยละ 9.36 ขณะที่อีคอมเมิร์ซก็เติบโตอย่างต่อเนื่อง

นอกจากนี้เวียดนามยังตั้งเป้าเป็นประเทศท่องเที่ยวอันดับ 1 ของอาเซียนภายในปี 2573 โดยริเริ่มใช้โครงการเริ่มใช้ E-VISA ตั้งแต่วันที่ 1 ก.พ.ที่ผ่านมา อย่างไรก็ตาม ค่าแรงเวียดนามมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ ขณะที่หนี้สาธารณะสูงถึง 65% ของจีดีพี ซึ่งขณะนี้รัฐบาลเวียดนามกำลังพิจารณาขายกิจการรัฐวิสาหกิจที่มีกำไรดีอย่าง Vinamilk ,Vietnam Airline และกิจการเบียร์

สำหรับการลงทุนในเวียดนามมีสิ่งที่ต้องระวังคือ แม้การเติบโตของชนชั้นกลางและเศรษฐกิจจะขยายตัวตามลำดับ รวมถึงรัฐบาลท้องถิ่นในเวียดนามมีอำนาจตัดสินใจโครงการลงทุนที่ไม่สูงมากนักได้ แต่กฎระเบียบมีการเปลี่ยนแปลงบ่อย และโครงสร้างพื้นฐานยังไม่เพียงพอต่อการขยายตัวทางเศรษฐกิจ ขณะที่วัตถุดิบในประเทศหรือสินค้าต้นน้ำยังไม่ดีพอ ต้องนำเข้าจากจีน ไต้หวัน และเกาหลี และญี่ปุ่น ขณะที่การเข้าถึงแหล่งเงินทุนทำได้ไม่สะดวกเท่าที่ควร

“โครงการจับตาอาเซียน" สนับสนุนโดยสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) ได้จัดประชุม TRF-ASEAN Research Forum ครั้งที่ 7 เพื่อรายงานผลการวิจัยเศรษฐกิจประเทศ CLMV เมื่อวันที่ 19 เมษายน 2560


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ