นางดวงพร รอดพยาธิ์ อธิบดีกรมการค้าต่างประเทศ เชื่อว่าสิ้นปี 60 จะสามารถระบายสต๊อกข้าวรัฐบาลที่รับมอบมาได้ทั้งหมด โดยนับตั้งแต่คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เข้ามาบริหารประเทศ ได้ระบายข้าวสารในสต๊อกรัฐบาลที่เหลือจากรัฐบาลก่อน 17.76 ล้านตัน ไปได้แล้ว 12.72 ล้านตัน แบ่งเป็น การขายภายใต้การอนุมัติของรัฐบาลชุดปัจจุบันปริมาณ 11.73 ล้านตัน มูลค่า 111,000 ล้านบาท และอีก 990,000 ตัน เป็นการอนุมัติขายของรัฐบาลชุดก่อน แต่รับมอบในรัฐบาลชุดปัจจุบัน ซึ่งเชื่อว่าภายในปี 60 จะสามารถระบายสต๊อกข้าวรัฐบาลที่รับมอบมาได้ทั้งหมด
สำหรับสต๊อกข้าวรัฐบาลในปัจจุบันมีเหลืออยู่ทั้งหมด 5.04 ล้านตัน โดยจะนำข้าวกลุ่ม 3 ปริมาณ 1.04 ล้านตัน ซึ่งเป็นข้าวคุณภาพเสื่อม ข้าวผิดชนิด ผิดมาตรฐาน และเก็บนานเกิน 5 ปี มาเปิดระบายเข้าสู่อุตสาหกรรมที่ไม่ใช่ทั้งคนและสัตว์บริโภค หรือเข้าสู่อุตสาหกรรมเอทานอล ซึ่งจะเปิดประมูลวันที่ 28 เม.ย.นี้ หากอนุมัติขายออกไปได้หมดจะเหลือข้าวอีกประมาณ 4 ล้านตัน แบ่งเป็นข้าวกลุ่ม 1 หรือข้าวที่สามารถบริโภคได้ตามปกติ ประมาณ 1.72 ล้านตัน ซึ่งจะนำมาเปิดประมูลเป็นการทั่วไปภายในเดือน พ.ค.นี้
ส่วนข้าวในกลุ่ม 3 ที่นำออกมาเปิดประมูล 1.04 ล้านตัน ในวันที่ 28 เม.ย.นี้ เป็นข้าวเสื่อมสภาพมาก ราคาเสนอซื้อนั้นอาจจะต่ำกว่าทุกกลุ่มที่นำมาเปิดประมูล โดยคณะทำงานระบายข้าวจะต้องเทียบเคียงราคาวัตถุดิบที่อุตสาหกรรมเข้ามาเสนอซื้อ ซึ่งการอนุมัติขายจะต้องใช้หลายปัจจัยประกอบการพิจารณา เช่น ค่าฝากเก็บสต๊อกข้าวที่มีค่าใช้จ่ายวันละ 17 ล้านบาท หากไม่ขายจะต้องจ่ายต่อไปอีกเรื่อยๆ และยังทำให้สต๊อกมีอยู่มาก รวมถึงผลกระทบต่อราคาข้าวในตลาดรวม เพราะปริมาณข้าวในสต๊อกที่ยังมากอยู่ จะมีผลดึงราคาข้าวปัจจุบัน ซึ่งมูลค่าข้าวในตลาดมีมูลค่ามากกว่าผลขาดทุนจากการขายข้าวเสื่อม
"เรื่องขาดทุนต้องทำใจมานาน เพราะรับจำนำมาในราคาสูงขนาดนั้น การนำออกมาขายก็ต้องขาดทุน เชื่อว่าสังคมจะเข้าใจได้ ซึ่งข้าวกลุ่ม 3 ที่นำออกมาขายมีสภาพเสื่อมสุดๆ ขายได้เท่าไหร่ก็ดีกว่าวางไว้เฉยๆ เพราะมีภาระค่าจัดเก็บสต๊อก และกลไกตลาดข้าวก็ไม่เดินปกติหากยังมีภาระสต๊อกอยู่ ส่วนเรื่องเรียกค่าเสียหายเซอร์เวเยอร์และโกดังกลางที่ต้องรับผิดชอบค่าเสื่อมสภาพข้าว ก็อยู่ในกระบวนการของศาลที่ต้องเรียกค่าเสียหายต่อไป" นางดวงพร กล่าว
ขณะที่ข้าวกลุ่ม 2 หรือข้าวที่คนไม่สามารถบริโภคได้แต่สามารถระบายข้าวสู่อุตสาหกรรมอาหารสัตว์ได้ประมาณ 2.15 ล้านตัน จะนำมาเปิดประมูลในเดือน มิ.ย.นี้ และหากข้าวกลุ่ม 3 ระบายไม่หมดก็จะนำมาเปิดประมูลในเดือน ก.ค.ต่อไป
นางดวงพร กล่าวถึงการส่งออกข้าวของไทยตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค.-18 เม.ย.60 ว่า สามารถส่งออกได้แล้ว 3.48 ล้านตัน เพิ่มขึ้น 6.4% เทียบกับช่วงเดียวกันปี 59 คิดเป็นมูลค่า 51,000 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 0.87% คาดว่าการส่งออกข้าวไทยจะเป็นไปตามเป้าหมายที่กำหนดไว้ส่งออก 10 ล้านตัน
รายงานข่าว แจ้งว่า หากคำนวณปริมาณข้าวที่ คสช.อนุมัติขายออกไป 11.73 ล้านตัน คิดเป็นมูลค่า 111,000 ล้านบาท หรือราคาเฉลี่ยที่อนุมัติขายประมาณ 11,000 บาท/ตัน หรือ 11 บาท/กิโลกรัม (กก.) เมื่อเปรียบเทียบกับราคาต้นทุนจากโครงการรับจำนำข้าวเปลือกเฉลี่ย 15,000 บาท/ตัน หรือต้นทุนข้าวสาร 24,000 บาท/ตัน จะขาดทุนประมาณ 13,000 บาท/ตัน รวมปริมาณ 11.73 ล้านตัน จะขาดทุนจากต้นทุนรับจำนำข้าวประมาณ 150,000 ล้านบาท