นางปรีดิ์เปรม ทัศนกุล นักวิทยาศาสตร์ชำนาญการพิเศษ ฝ่ายวิจัยและพัฒนาอุตสาหกรรมยาง การยางแห่งประเทศไทย เปิดเผยว่า หลังจากการยางแห่งประเทศไทย (กยท.) ได้มีการรณรงค์และสนับสนุนให้เกษตรกรชาวสวนยาง หันมาใช้กรดฟอร์มิกแทนกรดซัลฟิวริกมาโดยตลอด เนื่องจากเป็นสารอินทรีย์ที่สลายตัวง่าย ไม่มีผลตกค้างในยางและไม่ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม เกษตรกรสามารถผลิตยางที่มีคุณภาพดี ขายได้ราคา ทำให้ที่ผ่านมาเกษตรกรตระหนักและหันมาใช้กรดฟอร์มิกมากขึ้น
ทั้งนี้ จากการลงพื้นที่สุ่มเก็บตัวอย่างสารจับตัวยางในพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือรวมทั้งสิ้น 22 ตัวอย่าง พบว่า มีเพียง 1 ตัวอย่างเท่านั้นที่เป็นกรดฟอร์มิกแท้ความเข้มข้น 94% ตรงตามที่ระบุในฉลาก ส่วนอีก 8 ตัวอย่าง หรือคิดเป็นร้อยละ 36.4 เป็นกรดฟอร์มิกที่มีความเข้มข้นไม่เป็นไปตามที่ระบุบนฉลาก มีความเข้มข้นเพียง 17.89 – 82.92 เท่านั้น และอีก 7 ตัวอย่าง หรือร้อยละ 31.8 ที่เป็นกรดซัลฟิวริกพบระดับความเข้มข้นระหว่าง 36.17 – 99.74 โดยที่บนฉลากจะตั้งชื่อทางการค้าเป็นชื่ออื่นทั้งหมด และยังมีอีก 5 ตัวอย่าง หรือร้อยละ 22.7 เป็นกรดฟอร์มิกผสมแคลเซียมคลอไรด์ และกรดซัลฟิวริกผสมแคลเซียมคลอไรด์ และที่เหลืออีก 1 ตัวอย่างเป็นแคลเซียมคลอไรด์ล้วนๆ ที่มีความเข้มข้นสูงถึง 36.78%
นอกจากนี้ จากการตรวจสอบปริมาณโลหะด้วยเครื่อง Atomic Absorption Spectroscopy ทั้งกรดฟอร์มิกปลอมและกรดอื่นๆ ที่ไม่ได้ระบุชนิดของสารเคมี พบโลหะธาตุของแคลเซียมตั้งแต่ระดับ 0.17 – 5,340 ppm แมกนีเซียมระหว่าง 0.11 – 49.28 ppm ธาตุเหล็ก 0.02 – 0.53 ppm และทองแดงน้อยกว่า 0.0 1ppm ซึ่งจากการศึกษาพบว่า หากน้ำยางมีปริมาณแคลเซียมเกิน 500 ppm ขึ้นไป จะทำให้ยางขาดความยืดหยุ่น มีความหนืดต่ำ และมีความชื้นสูง ซึ่งปริมาณโลหะธาตุที่อยู่ในน้ำยางจะส่งผลต่อรอยตำหนิ เป็ยรอยแตกที่เกิดขึ้นบนผลิตภัณฑ์ได้ทำให้แรงรับน้ำหนักบริเวณนั้นเสียไป
ประเด็นสำคัญคือ เกษตรกรไม่สามารถแยกแยะได้ว่าขวดไหนเป็นกรดฟอร์มิกจริง ขวดไหนเป็นกรดฟอร์มิกปลอม ทำให้สร้างความสับสนให้เกษตรกร เพราะสารจับตัวยางที่ระบุว่ากรดฟอร์มิกนั้น ก็ยังไม่ใช่กรดฟอร์มิกตามที่ระบุ แต่ถึงแม้ว่าบางยี่ห้อเป็นกรดฟอร์มิกแต่ก็มีความเข้มข้นน้อยกว่าตามที่ระบุอยู่มาก รวมถึงมีการแจ้งจากกลุ่มเกษตรกรบางรายที่ใช้กรดฟอร์มิกปลอมดังกล่าว พบว่าเกิดผลกระทบต่อผิวหนังอย่างรุนแรง เป็นแผลลึกเข้าไปในเนื้อ สร้างความเสียหายต่อคุณภาพชีวิตของเกษตรกรชาวสวนยางอีกด้วย
นางปรีดิ์เปรม กล่าวย้ำว่า จากผลการศึกษาในครั้งนี้ นอกจากส่งผลกระทบต่อเกษตรกรชาวสวนยางแล้ว ยังเข้าข่ายการหลอกลวงผู้บริโภค และส่งผลในภาพรวมที่เสียหายต่อประเทศชาติ เพราะผลผลิตยางทางภาคภาคตะวันออกเฉียงเหนือในปีที่ผ่านมา มีปริมาณยางทั้งสิ้นประมาณ 636,531 ตัน และจากการใช้กรดปลอมทำให้ยางไม่ได้มาตรฐานกว่าร้อยละ 50 ซึ่งเป็นความเสียหายต่อภาพลักษณ์ของประเทศผู้ส่งออกยางที่มีคุณภาพประเทศหนึ่งของโลก และเป็นความเสียหายที่ประเมินค่าไม่ได้
อย่างไรก็ตาม กยท. ในฐานะหน่วยงานหลักในการดูแลคุณภาพยางระดับประเทศ จะดำเนินการตรวจสอบคุณภาพสารจับตัวยางเป็นระยะอย่างต่อเนื่อง เพื่อทราบถึงการปลอมปนสารที่ไม่ได้มาตรฐาน และในอนาคตอาจมีมาตรกรในการควบคุมสารจับตัวยางทุกชนิดในเชิงการค้า ซึ่งอาจจะต้องหารือร่วมกับหลายๆ หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง โดยให้ผู้ผลิตและจำหน่ายขึ้นทะเบียนกับ กยท. เพื่อทำการควบคุมคุณภาพยางในอนาคต