EXIMBANK มองเศรษฐกิจในปท.เป็นกองหลังแข็งแกร่ง แนะรุกขยายส่งออก ชี้ CLMVT มีศักยภาพ

ข่าวเศรษฐกิจ Friday April 21, 2017 17:47 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายรักษ์ วรกิจโภคาทร รองกรรมการผู้จัดการ ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย (ธสน.) กล่าวในงานเสวนาหัวข้อ "นโยบายการเงินการคลังของประเทศไทยท่ามกลางความเปลี่ยนแปลงในปี 2560" จัดโดยสภาผู้ส่งสินค้าทางเรือแห่งประเทศไทยว่า จากนี้ไปคงไม่มีโอกาสเห็นอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจไทย (GDP) ขยายตัวสูงในระดับ 7-9% ได้อีก แต่หากประคองให้เศรษฐกิจขยายตัวที่ระดับ 3% ตลอดไปก็ถือว่าดีแล้ว โดยผู้ประกอบการไม่ต้องไปมุ่งหวังการค้าขายที่ต้องไปไกลเหมือนเดิมแล้ว แต่จะต้องเร่งพัฒนาคุณภาพสินค้าที่จะช่วยขยายการส่งออก และขณะนี้ตลาดที่มีศักยภาพมากสุดคือกลุ่ม CLMVT ที่นานาชาติให้ความสนใจอย่างมาก ขณะที่อินโดนีเซียซึ่งมีประชากรราว 300 ล้านคน ก็จะพยายามใช้การบริโภคภายในประเทศที่จะสร้างระบบเศรษฐกิจให้ก้าวขึ้นมาเป็นผู้นำอาเซียนเช่นกัน

สำหรับยุทธศาสตร์การพัฒนาเศรษฐกิจในระยะต่อไปมี 4 ด้าน คือ 1.กระตุ้นการค้าการลงทุนระหว่างประเทศ 2.เพิ่มสัดส่วนการส่งออกบริการและเพิ่มบทบาทการเป็น Hub ของกลุ่ม CLMVT ที่มีประชากร 250 ล้านคน 3.ส่งเสริมการลงทุนใน 10 อุตสาหกรรมเป้าหมาย และ 4.การลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน

"ระบบเศรษฐกิจของเราเหมือนทีมฟุตบอลที่มีกองหลังแข็งแกร่งสมบูรณ์แล้ว ขาดแต่กองหน้าที่จะทำประตูได้เฉียบคม" นายรักษ์ กล่าว

นายวโรทัย โกศลพิศิษฐ์กุล รองผู้อำนวยการ สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) กล่าวว่า รัฐบาลกำลังปฏิรูปเศรษฐกิจจากเดิมที่เน้นปริมาณสินค้ามาเป็นการเพิ่มมูลค่าสินค้า โดยการพัฒนาหลังจากนี้ไปจะเน้นเรื่องประสิทธิภาพมากขึ้น เนื่องจากสถานการณ์เศรษฐกิจโลกในปีก่อนเกิดเหตุการณ์ไม่ปกติ เพราะปริมาณการค้าในตลาดโลกมีอัตราการขยายตัวต่ำกว่าอัตราการขยายตัวของเศรษฐกิจโลก ทำให้แต่ละประเทศหันมาพึ่งพาการบริโภคภายในประเทศ

ขณะที่ภาวะเศรษฐกิจในประเทศในปัจจุบันมีเสถียรภาพ ทั้งเรื่องฐานะการคลังที่มั่นคง ส่วนเรื่องหนี้ครัวเรือนที่มีสัดส่วน 80% ของ GDP ไม่ได้ประเด็นน่ากังวล เพราะเป็นหนี้เกี่ยวกับเรื่องที่อยู่อาศัย ไม่ใช่หนี้จากการจับจ่ายใช้สอย ขณะที่ทุนสำรองระหว่างประเทศมีความสามารถใช้ชำระหนี้ระยะสั้นได้ถึง 3.3 เท่า ตัวเลขการว่างงานอยู่ที่ 1.2% โดยสศค.คาดการณ์อัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจของไทยปีนี้ไว้ที่ 3.6% จากปีก่อนที่ขยายตัวที่ระดับ 3.2%

"เมื่อต้นเดือนมกราคมคาดการณ์ว่า GDP จะขยายตัวที่ระดับ 3.6% แม้จะมีตัวชี้วัดบางอย่างบอกว่ามันน่าจะขยายตัวได้มากกว่านี้ แต่เราค่อนข้าง conservative" นายวโรทัย กล่าว

อย่างไรก็ตาม ยังมีปัจจัยเสี่ยงต่อระบบเศรษฐกิจไทย ได้แก่ 1.เศรษฐกิจโลกยังอยู่ในภาวะเปราะบางจากนโยบายของนายโดนัลด์ ทรัมป์ ประธานาธิบดีสหรัฐฯ ที่ยังไม่มีความชัดเจน 2.การปรับตัวเพื่อรองรับบริบทใหม่ที่ทำให้เกิดความเสี่ยงในระบบการเงิน 3.ความต้องการในการลงทุนภาคเอกชนยังไม่ชัดเจน แม้จะมีเงินทุนรออยู่เป็นจำนวนมาก ซึ่งปีหน้าคาดว่าเอกชนคงจะเชื่อมั่นตัดสินใจลงทุนเพิ่มเป็นจำนวนมาก นอกจากนี้ ยังต้องจับตาความผันผวนของเศรษฐกิจโลกจากปัจจัยต่างๆ อย่างใกล้ชิด ได้แก่ ความต้องการของตลาดโลก, สถานการณ์ความตึงเครียดบนคาบสมุทรเกาหลี, การเลือกตั้งในสหภาพยุโรป เป็นต้น


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ