นางอภิรดี ตันตราภรณ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า ขณะนี้การดำเนินงานพาณิชย์ภาคเห็นผลเป็นรูปธรรมชัดเจน สามารถเชื่อมโยงตลาดได้อย่างมีประสิทธิภาพลดปัญหาการกระจุกตัวของสินค้าที่เกิดขึ้นตามฤดูกาลและราคาตกต่ำ ช่วยให้เกษตรกรขายผลผลิตได้ราคาดี อย่างภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ครอบคลุม 20 จังหวัด รายได้ของเกษตรกรและรายได้ภาคบริการขยายตัวอย่างต่อเนื่อง
ด้านการดูแลค่าครองชีพของประชาชน ได้มีการจัดงานธงฟ้าเพื่อลดค่าครองชีพประชาชนในพื้นที่จังหวัดภาคตะวันออกเฉียงเหนือ รวมจำนวน 65 ครั้ง ยอดจำหน่ายสินค้าอุปโภคบริโภคและสินค้าราคาพิเศษ รวม 14.55 ล้านบาท สามารถลดค่าครองชีพได้ 5.4 ล้านบาท มีการจัดตั้งร้านหนูณิชย์พาชิม เพื่อเป็นทางเลือกของผู้บริโภคอาหารประจำวัน ซึ่งขณะนี้มีร้านหนูณิชย์พาชิม จำนวน 2,480 ร้าน และร้านธงฟ้า จำนวน 230 ร้าน
การส่งเสริมความเข้มแข็งของเศรษฐกิจฐานราก ได้ส่งเสริมให้มีการจัดตั้งตลาดต้องชม ตลาดชุมชน และย่านการค้าเชื่อมโยงกับการท่องเที่ยวในพื้นที่ เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจอย่างต่อเนื่อง ปัจจุบันมีตลาดต้องชมแล้ว 14 แห่ง และมีเป้าหมายที่จะส่งเสริมให้มีตลาดต้องชมเพิ่มขึ้นในปี 2560 นี้อีก 11 แห่ง คาดว่าจะสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจได้เพิ่มขึ้นกว่า 100 ล้านบาท
นอกจากนี้มีจังหวัดที่ติดกับชายแดนประเทศเพื่อนบ้านทั้งด้านกัมพูชาและ สปป.ลาว มีมูลค่าการค้าปีละประมาณ 169,000 ล้านบาท ช่วงเดือนมีนาคมที่ผ่านมาจังหวัดบึงกาฬได้เป็นเจ้าภาพจัดกิจกรรมในพื้นที่ระหว่าง 3 ประเทศคือ ไทย สปป.ลาว และเวียดนาม เป็นกิจกรรม “3 ประเทศ 9 จังหวัด" (สกลนคร หนองคาย นครพนม บึงกาฬ คำม่วน บอลิคำไซ กวางบิงห์ ฮาติงห์ เหงะอาน) โดยมีการประชุมผู้บริหารระดับสูงของจังหวัดส่งเสริมการใช้เส้นทางติดต่อค้าขายระหว่างกันในเส้นทาง R8 และ R12 และผู้ประกอบการมีการเจรจาธุรกิจการค้าระหว่างกันในประเภทธุรกิจการท่องเที่ยว โรงแรม โลจิสติกส์ ค้าส่งค้าปลีก อุตสาหกรรมพลังงาน อาหารและผลิตภัณฑ์ เป็นต้น มีมูลค่าการค้าขายระหว่างกันประมาณ 150 ล้านบาท รวมทั้งได้มีการเชื่อมโยงเครือข่ายธุรกิจผ่านทาง line application “3C9P Business Group" ระหว่างกันอีกด้วย นับเป็นอีกกิจกรรมหนึ่งที่ส่งเสริมการค้าการลงทุนระหว่างกันให้มากขึ้น
เศรษฐกิจภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ประกอบด้วยภาคการผลิตที่สำคัญคือ การเกษตร อุตสาหกรรม การศึกษา การค้าส่งค้าปลีก ซึ่งมีสัดส่วนรวมกันกว่าร้อยละ 66 ของดัชนีมวลรวมของภาค สินค้าเกษตร ที่สำคัญได้แก่ ข้าวหอมมะลิ ข้าวเหนียว มันสำปะหลัง อ้อยโรงงาน ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ และยางพารา โดยยางพารามีราคาค่อนข้างดี เนื่องจากความต้องการของตลาดต่างประเทศมีมากขึ้น ส่วนอ้อยโรงงานระยะนี้มีผลผลิตลดลง ราคารับซื้อจากเกษตรกรจึงอยู่ในเกณฑ์ดี ด้านสินค้ามันสำปะหลังมีหัวมันสดออกสู่ตลาดแล้วประมาณร้อยละ 80-85 ราคาหัวมันสดที่เชื้อแป้ง 25 % กิโลกรัมละ 1.35-1.95 บาท สำหรับสินค้าข้าวในช่วงที่มีสินค้าออกสู่ตลาดมาก สำนักงานพาณิชย์จังหวัดในภาคตะวันออกเฉียงเหนือได้ดำเนินโครงการ “ตลาดข้าวประชารัฐ" โดยให้เกษตรกรได้ขายข้าวเปลือกให้กับบริษัทประชารัฐรักสามัคคี(วิสาหกิจชุมชน) เพื่อนำไปสีจำหน่ายให้ผู้บริโภคโดยตรงสามารถช่วยให้เกษตรกรมีรายได้เพิ่มขึ้น เช่นที่จังหวัดมหาสารคามได้รณรงค์ ให้ “คนสารคาม กินข้าวหอมสารคาม" สามารถกระตุ้นยอดขายในพื้นที่ได้เพิ่มขึ้น รวมทั้งได้มีการติดตามสถานการณ์การค้าสินค้าอุปโภคบริโภค สินค้าที่จำเป็นต่อการครองชีพ และตรวจสอบการปิดป้ายแสดงราคาสินค้าอย่างต่อเนื่อง “ความเป็นอยู่ของประชากรในภาคตะวันออกเฉียงเหนือมีความสำคัญเป็นอย่างยิ่ง สามารถสะท้อนความเป็นอยู่ของคนไทยในประเทศได้ เนื่องจากจำนวนประชากร 1 ใน 3 ของประเทศอาศัยอยู่ในภาคนี้ เมื่อเศรษฐกิจอีสานกระเตื้องขึ้นย่อมส่งสัญญาณว่าเศรษฐกิจของประเทศกำลังขยายตัวอย่างต่อเนื่อง" นางอภิรดี กล่าว