นางนันทวัลย์ ศกุนตนาค อธิบดีกรมการค้าภายใน เปิดเผยถึงการปรับขึ้นค่าไฟฟ้าผันแปรอัตโนมัติ (เอฟที) อีก 3.70% หรือ 12.52 สตางค์ต่อหน่วย ในงวดเดือนพ.ค.-ส.ค.นี้ว่า จากการศึกษาผลกระทบต่อต้นทุนการผลิตสินค้าจากการปรับขึ้นค่าเอฟทีดังกล่าว พบว่าจะมีผลให้ต้นทุนสินค้าโดยรวมเพิ่มขึ้นเพียงน้อยมาก โดยเพิ่มขึ้นเพียง 0.0002-0.266% เท่านั้น ดังนั้นจึงไม่ใช่เหตุผลที่ผู้ประกอบการจะมาขอปรับขึ้นราคาสินค้าหรือฉวยโอกาสขึ้นราคาสินค้าแต่อย่างใด แต่หากผู้ประกอบการรายใดมีความจำเป็นจะขอปรับขึ้นราคาสินค้า ทางกรมฯ จะเชิญมาหารือเป็นรายกรณี
"ต้นทุนการผลิตสินค้าที่เพิ่มขึ้นจากการปรับขึ้นค่าเอฟที ถือเป็นสัดส่วนที่น้อยมากไม่ถึง 1% ดังนั้น จึงไม่ใช่เหตุผลที่ผู้ประกอบการจะนำเรื่องดังกล่าวมาขอปรับขึ้นราคาขายสินค้า นอกจากนั้น ช่วง 2 ปีที่ผ่านมา หรือตั้งแต่ปี 58 ภาครัฐได้ปรับลดค่าเอฟทีลงไป 39 สตางค์ต่อหน่วย ตามราคาน้ำมันที่ลดลง แต่ขณะนี้ค่าแก๊สเพิ่มขึ้น จึงต้องปรับขึ้นค่าเอฟที โดยการปรับขึ้นอีก 12.52% ในครั้งนี้ ยังไม่เท่ากับค่าเอฟทีที่เคยขึ้นไปสูงสุดก่อนหน้านี้ หากผู้ประกอบการรายใดต้องการขึ้นราคาสินค้า จะเรียกมาคุยกันว่าเพราะเหตุใด" อธิบดีกรมการค้าภายในกล่าว
พร้อมระบุว่า จนถึงขณะนี้ยังไม่มีผู้ประกอบการรายใดยื่นขอปรับขึ้นราคาสินค้า แต่หากมียื่นเข้ามาคงจะไม่ให้ปรับขึ้น อีกทั้งราคาสินค้าอุปโภคบริโภคยังทรงตัวต่อเนื่อง เพราะวัตถุดิบสำคัญที่นำเข้าจากต่างประเทศยังมีราคาเท่าเดิม ประกอบกับเงินบาทแข็งค่าขึ้น ทำให้ราคาสินค้านำเข้าลดลง แต่หากราคาน้ำมันเชื้อเพลิงสูงขึ้น อาจส่งผลต่อต้นทุนและราคาสินค้าได้ ซึ่งกรมจะติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด
ส่วนสินค้ากระดาษพิมพ์เขียนที่ได้รับผลกระทบสูงสุดนั้น จะมีต้นทุนผลิตเพิ่มขึ้น 0.266% หรือขึ้นเพียง 1 บาท/รีมเท่านั้น รองลงมาคือ ปูนซีเมนต์พอตแลนด์ ได้รับผลกระทบ 0.25% หรือต้นทุนผลิตเพิ่มขึ้น 50 สตางค์/ถุง ซึ่งสินค้าทั้ง 2 รายการ เป็นสินค้าที่กรมการค้าภายในติดตามดูแลสถานการณ์ราคาทุกเดือนอยู่แลั้ว หากผู้ผลิตจะปรับขึ้นราคาจะต้องแจ้งให้กรมฯ ทราบก่อนล่วงหน้าอย่างน้อย 15 วัน
นางนันทวัลย์ กล่าวด้วยว่า กรมการค้าภายในยังได้ศึกษาเปรียบเทียบราคาสินค้าไทยและเพื่อนบ้านอาเซียน พบว่า ราคาสินค้าอุปโภคบริโภคในปัจจุบันของไทยส่วนใหญ่ทรงตัว และราคาสินค้าไทยต่ำกว่าอาเซียน โดยเนื้อไก่และไข่ไก่ของไทยราคาต่ำสุด ส่วนราคาน้ำตาลไทยต่ำสุด รองจากบรูไน, น้ำมันปาล์ม มาเลเซียและอินโดนีเซียต่ำกว่าไทย เพราะ 2 ประเทศนี้เป็นผู้ผลิตรายใหญ่ของโลก และรัฐบาลให้การสนับสนุน ทำให้ต้นทุนการผลิตต่ำกว่า ขณะที่ยาสีฟันของไทยหลอดละ 50 บาท ต่ำกว่าอาเซียนที่หลอดละ 60-80 บาท เป็นต้น