นักวิชาการ ชี้ปมสเปกเครื่อง"หัวเหว่ย"ขึ้นกับสคบ. ส่วนกสทช.มีอำนาจแค่ตรวจสัญญาณคลื่นความถี่

ข่าวเศรษฐกิจ Tuesday April 25, 2017 13:50 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายก่อกิจ ด่านชัยวิจิตร รองเลขาธิการคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) สายงานกิจการโทรคมนาคม กล่าวถึงกรณีผู้บริโภคในประเทศไทยนัดรวมตัวกันไปร้องต่อสำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค (สคบ.) ในวันพรุ่งนี้ (26 เม.ย.) กรณีผู้บริหารหัวเหว่ย ผู้ผลิตโทรศัพท์เคลื่อนที่และอุปกรณ์สื่อสารโทรคมนาคม ยอมรับว่ามีการใช้ชิปประมวลผลและหน่วยความจำไม่เท่ากันในโทรศัพท์เคลื่อนที่หัวเหว่ย P10 และ P10 Plus ตลอดจนมีเว็บไซต์ในต่างประเทศตั้งข้อสังเกตหน่วยความจำของโทรศัพท์ รุ่น Mate 9 ว่า อำนาจของ กสทช. มีหน้าที่ตรวจสอบเฉพาะคลื่นความถี่ที่ตัวเครื่องว่ามีการส่งสัญญาณได้ตามสเปกที่ระบุหรือไม่ เพื่อไม่ให้เกิดปัญหาสัญญาณรบกวน โดยกสทช.จะตรวจสอบการส่งสัญญาณแล้วเทียบกับข้อมูลที่ได้จากแล็ปของบริษัทผู้ผลิตในต่างประเทศ หากการส่งสัญญาณของเครื่องตรงตามที่ระบุไว้ในใบขออนุญาตจะถือว่าผ่านสามารถนำไปขายได้

ส่วนกรณีที่ผู้บริโภคจะไปยื่นหนังสือร้องเรียนกับสคบ. ถือเป็นสิทธิของผู้บริโภค โดยแนวทางของ สคบ.คงเชิญตัวแทนของสำนักงาน กสทช.ไปให้ข้อมูล ซึ่ง กสทช.ก็พร้อมจะให้ข้อมูลตามความเป็นจริงที่มีอยู่

ด้านนายสืบศักดิ์ สืบภักดี นักวิจัยโทรคมนาคม ศูนย์วิจัยมหาวิทยาลัยกรุงเทพ กล่าวว่า โดยปกติการนำเข้า ผู้ผลิตจะมีเอกสารรับรองแนบประกอบมาทำการตรวจสอบส่วนประกอบภายใน เช่น หน่วยความจำ ตัวประมวลผล หรือ จอโทรศัพท์ ไม่ใช่หน้าที่ของ กสทช.ในการตรวจสอบโดยตรง โดยกสทช.มีหน้าที่ตรวจสอบในส่วนการใช้คลื่นความถี่ในการส่งสัญญาณของอุปกรณ์โทรคมนาคม ซึ่งรวมถึงมือถือทุกรุ่นที่นำเข้ามาจำหน่ายในประเทศ เพื่อให้ได้ตามมาตรฐานตรงตามคุณสมบัติและเทคโนโลยีที่ระบุ เช่น การย่านความถี่ใช้งาน กำลังส่ง และไม่ให้มีปัญหาสัญญาณรบกวน

ดังนั้นหากผู้บริโภคไปร้อง สคบ. แล้วสคบ.เห็นว่ามีมูลคงต้องตรวจสอบ โดยอาจจะอาศัยข้อมูลของบริษัทเองที่โฆษณาไว้ว่าอย่างไร ถ้าบริษัทเอามาขายไม่ตรงตามโฆษณา สคบ. มีมาตรการและอำนาจจัดการได้ตามแนวทางคุ้มครองผู้บริโภคอยู่แล้ว

สำหรับการตรวจสอบ สคบ.อาจให้บริษัทผู้นำเข้าแจ้งข้อมูลเครื่องรุ่นที่มีปัญหาที่ได้นำเข้ามา แล้วขอข้อมูลจากบริษัทผู้ผลิตเพื่อเปรียบเทียบ หลังจากนั้นประกาศให้ผู้เสียหายที่มีเครื่องอยู่ในข่ายการผลิตที่มีปัญหา แล้วหาแนวทางที่ชัดเจนในการเยียวยา


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ