ศูนย์สำรวจความคิดเห็น "นิด้าโพล" สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) ร่วมกับ สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เปิดเผยผลสำรวจความคิดเห็นของผู้ประกอบการในภาคอุตสาหกรรม เรื่อง "ทิศทางการส่งออกและการลงทุนไทย ปี 2560" โดยเมื่อถามถึงการส่งออกสินค้าไปยังต่างประเทศของผู้ประกอบการ พบว่า ผู้ประกอบการ 75.36% ระบุว่า มีการส่งออกสินค้าไปยังต่างประเทศ ขณะที่ 24.64% ระบุว่า ไม่มีการส่งออกสินค้าไปยังต่างประเทศ
สำหรับความคิดเห็นของผู้ประกอบการต่อแนวโน้มทิศทางการส่งออกของไทยในปี 2560 พบว่า ผู้ประกอบการส่วนใหญ่ ระบุว่า จะขยายตัว 46.15%, ทรงตัว 46.15%, จะหดตัว 1.93% และ ไม่ระบุ/ไม่แน่ใจ 5.77%
ซึ่งในจำนวนผู้ที่ระบุว่า ทิศทางการส่งออกของไทยจะมีแนวโน้มขยายตัวนั้น 65% ระบุว่า ขยายตัว 1-5% รองลงมา 25%ระบุว่า ขยายตัว 6-10% และ 10% ระบุว่า ขยายตัวมากกว่า 10% ขึ้นไป ส่วนผู้ที่ระบุว่า ทางการส่งออกของไทยในปี 2560 จะหดตัวนั้น ในจำนวนนี้ 100% ระบุว่า การส่งออกจะหดตัว 1-5%
ด้านปัจจัยที่จะช่วยสนับสนุนให้การส่งออกในปี 2560 ขยายตัว พบว่า ผู้ประกอบการส่วนใหญ่ 65.96% ระบุว่าภาวะเศรษฐกิจโลกที่ฟื้นตัวได้แข็งแกร่งมากยิ่งขึ้น รองลงมา 51.06% ระบุว่า นโยบายภาครัฐที่ส่งเสริมให้มีการส่งออกสินค้าที่ใช้นวัตกรรมมากยิ่งขึ้น, 46.81% ระบุว่า ตลาดกลุ่มประเทศ CLMV ที่มีการขยายตัวของเศรษฐกิจสูง รวมถึง ความต้องการสินค้าอุปโภคบริโภคจากตลาดเกิดใหม่ เช่น แอฟริกา ลาตินอเมริกา เป็นต้น, 34.04% ระบุว่า ราคาสินค้าโภคภัณฑ์ที่มีทิศทางการปรับตัวที่ดีขึ้น และ 25.53% ระบุว่าการผลักดันการส่งออกผ่านช่องทางการค้าชายแดนและผ่านแดน
สำหรับปัจจัยเสี่ยงที่ยังคงมีความกังวลว่าจะส่งผลกระทบต่อการขยายตัวของการส่งออกในปี 2560 พบว่า ผู้ประกอบการส่วนใหญ่ 69.23% ระบุว่า นโยบายด้านการค้าของสหรัฐฯ ภายใต้ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ที่มีแนวโน้มไม่สนับสนุนการเปิดเสรีทางการค้า รองลงมา 53.85% ระบุว่า การฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกที่อาจไม่แข็งแกร่งตามที่คาดหมาย, 46.15% ระบุว่า ความผันผวนจากอัตราแลกเปลี่ยนเนื่องจากมีความเป็นไปได้ที่ธนาคารกลางสหรัฐฯ จะปรับอัตราดอกเบี้ยขึ้น ประมาณ 3 ครั้ง ในปี 2560, 26.92% ระบุว่า แนวโน้มการเจรจาและความสัมพันธ์ทางการค้าของอังกฤษกับสหภาพยุโรป, 15.38% ระบุว่า การเลือกตั้งในประเทศสำคัญๆ ในสหภาพยุโรป (เยอรมนี ฝรั่งเศส อิตาลี) ที่มีแนวโน้มว่าประเทศเหล่านี้จะสนับสนุนการแยกตัวออกจากสหภาพยุโรป และ 5.77% ระบุอื่น ๆ ได้แก่ ภาวะเศรษฐกิจของโลก, การเมืองภายในประเทศ, และอัตราภาษีสินค้าที่ส่งออก
ด้านสิ่งที่ผู้ประกอบการต้องการให้ภาครัฐดำเนินการ เพื่อปรับตัวให้สอดคล้องกับนโยบายเศรษฐกิจ ของประธานาธิบดีคนใหม่ของสหรัฐฯ พบว่า ผู้ประกอบการส่วนใหญ่ 64% ระบุว่า ควรมีมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจภายในประเทศอย่างต่อเนื่องและเหมาะสม เพื่อรองรับในกรณีที่ภาวะเศรษฐกิจโลกและปริมาณการค้าโลกอาจจะชะลอตัวลงจากนโยบายใหม่ของสหรัฐฯ รองลงมา 48% ระบุว่า ควรขยายตลาดส่งออกไปยังกลุ่มประเทศต่างๆ เช่น BRICS เอเชียใต้ ตะวันออกกลาง เป็นต้น, 46% ระบุว่า ควรสนับสนุนการขยายตลาดเข้าสู่หัวเมืองรองในกลุ่มประเทศ CLMV เพื่อขยายฐานลูกค้าและกระจายสินค้าให้มากขึ้น, 44% ระบุว่า ควรเร่งเจรจาการค้ากับประเทศที่มีศักยภาพทางเศรษฐกิจ เพื่อขยายตลาด ลดอุปสรรคทางการค้าและมาตรการกีดกันสินค้าที่มิใช่ภาษี, 42% ระบุว่า ควรขยายการค้าแบบทวิภาคี อย่างสหภาพยุโรป อิหร่าน ปากีสถาน หรือกลุ่มประเทศที่มีความต้องการสินค้าอุตสาหกรรมของไทย, 40% ระบุว่า ควรให้ความสำคัญกับการเชื่อมโยงการค้าและความร่วมมือภายในภูมิภาคเอเชีย (RCEP: Regional Comprehensive Economic Partnership) (ASEAN + จีน ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ อินเดีย ออสเตรเลีย และนิวซีแลนด์) และ 2% ระบุว่า ควรควบคุมรักษาความเสถียรภาพของค่าเงินบาทไม่ให้แข็งค่าขึ้น
สำหรับสาเหตุการลงทุนภาคเอกชนยังคงเติบโตได้ไม่มากเท่าที่ควร ทั้งที่ภาครัฐได้ให้สิทธิประโยชน์ด้านการลงทุน เพื่อที่จะกระตุ้นให้ภาคเอกชนขยายลงทุนมากขึ้น พบว่า ผู้ประกอบการส่วนใหญ่ 53.62% ระบุว่า ขาดความเชื่อมั่นต่อภาวะเศรษฐกิจโลก รองลงมา 40.58% ระบุว่า ขาดความเชื่อมั่นต่อเศรษฐกิจภายในประเทศ, 37.68% ระบุว่า สิทธิประโยชน์ด้านการลงทุนและกฏระเบียบ ด้านการลงทุนยังไม่เอื้ออำนวยเพียงพอ, 34.78% ระบุว่า ภาคเอกชนยังมีกำลังการผลิตเหลือค่อนข้างมาก, 33.33% ระบุว่า ภาคธุรกิจยังคงรอประเมินทิศทางและผลกระทบจากนโยบายของสหรัฐอเมริกาภายใต้ประธานาธิบดีคนใหม่ และ 8.70% ระบุอื่น ๆ ได้แก่ การเมืองภายในประเทศ, ต้นทุนการผลิตที่สูง, การลงทุนของภาครัฐที่ยังมีความล่าช้า, และการขาดแคลนแรงงานเข้าสู่ภาคอุตสาหกรรม
เมื่อถามถึงสิ่งที่ผู้ประกอบการต้องการให้ภาครัฐดำเนินการเพื่อสนับสนุนให้การลงทุนภาคเอกชนสามารถเติบโตได้ในระดับที่เหมาะสม พบว่า ผู้ประกอบการส่วนใหญ่ 56.52% ระบุว่า ควรออกมาตรการทางภาษีเพื่อจูงใจภาคเอกชนให้ลงทุนเพิ่มขึ้น รองลงมา 46.38% ระบุว่า ควรสนับสนุนการพัฒนาสินค้าที่มีนวัตกรรม และพัฒนาสินค้าอุตสาหกรรมไปสู่ Industry 4.0, 46.38% ระบุว่า ควรยกระดับการลงทุนด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและการพัฒนานวัตกรรม เพื่อสร้างมูลค่าสินค้าไทยให้สามารถแข่งขันได้ในเวทีโลก, 28.99% ระบุว่า ควรแก้ไขปัญหาผังเมืองที่เป็นอุปสรรคต่อการลงทุนภาคอุตสาหกรรม, 26.09% ระบุว่า ควรสนับสนุนการขับเคลื่อนเศรษฐกิจดิจิตอล (Digital Economy) และการซื้อขายสินค้าหรือบริการผ่าน e-commerce และ 14.49% ระบุอื่นๆ ได้แก่ วางแผนกระตุ้นเศรษฐกิจ, แก้ไขกฎหมายที่เอื้อต่อการดำเนินธุรกิจของภาคเอกชน, เร่งดำเนินการการลงทุนในโครงการต่าง ๆ ของภาครัฐ, กระตุ้นแรงงานเข้าสู่ภาคอุตสาหกรรม, และปรับอัตราดอกเบี้ยให้เหมาะสมกับการประกอบธุรกิจ
สำหรับการวางแผนของผู้ประกอบการในการขยายการลงทุนเพิ่มในปี 2560 พบว่า ผู้ประกอบการส่วนใหญ่ 55.07% ระบุว่า ไม่มี แผนที่จะขยายการลงทุนเพิ่ม ขณะที่ 44.93% ระบุว่า มีการวางแผนที่จะขยายการลงทุนเพิ่ม ซึ่งในจำนวนผู้ที่ ระบุว่า ไม่มี แผนที่จะขยายการลงทุนเพิ่ม ส่วนใหญ่ 47.37% ให้เหตุผลว่า ไม่มั่นใจในภาวะเศรษฐกิจทั้งภายในประเทศและต่างประเทศ ประกอบกับคำสั่งซื้อยังคงมีการชะลอตัว รองลงมา 21.05% ระบุว่า บริษัทไม่มีนโยบายที่จะขยายการลงทุน ขณะที่บางส่วนได้ขยายการลงทุนไปเมื่อปีที่แล้ว 15.79% ระบุว่า ยังมีกำลังการผลิตที่เพียงพอ 10.53% ระบุว่า ต้องการลดต้นทุน มีปัญหาด้านการตลาด และจะหันมาพัฒนาสินค้าให้มีคุณภาพดียิ่งขึ้นแทน และ 5.26% ระบุว่า ขาดแคลนแรงงาน
ส่วนในจำนวนผู้ที่ระบุว่ามีแผนที่จะขยายการลงทุนเพิ่ม ส่วนใหญ่ 41.94% ให้เหตุผลว่า เป็นเพราะสิทธิประโยชน์ที่ได้รับจากนโยบายการส่งเสริมการลงทุน รองลงมา 29.03% ระบุว่า ภาวะเศรษฐกิจในประเทศมีการปรับตัวในทิศทางที่ดีขึ้น และระบุว่า การสนับสนุนการลงทุนของภาครัฐใน 10 อุตสาหกรรมเป้าหมาย (New Growth Engine) และการสนับสนุนการลงทุนในพื้นที่เขตเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (EEC) ในสัดส่วนที่เท่ากัน 25.81% ระบุว่า การขยายตัวของการลงทุนภาครัฐตามแผนการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคม 22.58% ระบุว่า เศรษฐกิจโลกเริ่มมีทิศทางการฟื้นตัวที่แข็งแกร่ง และ 22.58% ระบุอื่น ๆ ได้แก่ เป็นไปตามแผน และนโยบายของทางบริษัท, ต้องการเพิ่มยอดขายให้เป็นไปตามเป้าหมาย, และมีคำสั่งซื้อเพิ่มมากขึ้น
ด้านความสามารถในการจูงใจให้ภาคเอกชนลงทุนเพิ่ม จากการที่รัฐบาลเร่งผลักดันการลงทุน ในเขตเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (EEC) พบว่า ผู้ประกอบการส่วนใหญ่ 79.71% ระบุว่า สามารถจูงใจให้ภาคเอกชนลงทุนเพิ่มได้ ขณะที่ 17.39% ระบุว่า ไม่สามารถจูงใจให้ภาคเอกชนลงทุนเพิ่มได้ และ 2.90% ไม่ระบุ/ไม่แน่ใจ
ซึ่งในจำนวนผู้ที่ระบุว่า จะสามารถจูงใจให้ภาคเอกชนลงทุนเพิ่มได้นั้น ส่วนใหญ่ 56.36 ระบุว่า มีแผนพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานและการเชื่อมโยงโครงข่ายด้านคมนาคมที่ครอบคลุม รองลงมา 50.91% ระบุว่า เป็นพื้นที่สำหรับรองรับการลงทุนใน 10 อุตสาหกรรมเป้าหมาย (First S-curve / New S-curve) 29.09% ระบุว่า มาตรการภาษีบุคคลธรรมดาแบบคงที่ในอัตรา 17% ซึ่งน่าจะช่วยดึงดูดให้นักลงทุนและนักธุรกิจเข้ามาลงทุนมากขึ้น และระบุว่าเป็นฐานการผลิตขนาดใหญ่ มีอุตสาหกรรมที่แข็งแกร่ง ในสัดส่วนที่เท่ากัน 27.27% ระบุว่า เป็นศูนย์กลางของทั้งการลงทุนและการท่องเที่ยวในภูมิภาคอาเซียน และ 5.45% ระบุว่า เป็นการผลักดัน และกระตุ้นเศรษฐกิจให้เติบโต
ส่วนผู้ที่ระบุว่าไม่สามารถจูงใจให้ภาคเอกชนลงทุนเพิ่มได้ ให้เหตุผลว่าเนื่องจากการชะลอตัวของเศรษฐกิจภายในประเทศ, การขาดแคลนแรงงานและมีต้นทุนการผลิตสูง, อัตราภาษีไม่เอื้อต่อการลงทุน, และผลประโยชน์ที่จะได้รับจากการลงทุนมีความซ้ำซ้อน และยังไม่มีความชัดเจน
ด้านประเภทสิทธิประโยชน์ในการส่งเสริมการลงทุนในเขตเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (EEC) ที่จะจูงใจนักลงทุน และ/หรือสิ่งที่ต้องการให้มีเพิ่มเติม พบว่า ผู้ประกอบการส่วนใหญ่ 82.81% ระบุว่า เป็นการยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลสูงสุด 13 ปี รองลงมา 45.31% ระบุว่า เป็นการลดอัตราภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาให้กับผู้บริหาร ผู้เชี่ยวชาญ และนักวิจัยเหลือเพียง 17%, 37.50% ระบุว่า เป็นการให้สิทธิคนต่างด้าวเข้ามาทำงานด้านช่างฝีมือหรือเป็นผู้บริหารโดยไม่มีปัญหาเรื่องวีซ่า, 37.50% ระบุว่า เป็นการจัดตั้งศูนย์บริการเบ็ดเสร็จครบวงจร (One Stop Service) เพื่ออำนวยความสะดวกแก่นักลงทุนในการประกอบกิจการ, 29.69% ระบุว่า เป็นสิทธิการเช่าที่ดินสำหรับนักลงทุนต่างชาติในเขตส่งเสริมเศรษฐกิจพิเศษสูงสุดถึง 99 ปี, 18.75% ระบุว่า เป็นสิทธิประโยชน์ในด้านธุรกรรมการเงิน เช่น สิทธิในการถือครองเงินตราต่างประเทศเป็นระยะเวลานานกว่าที่กำหนดไว้ตามกฎหมายอื่น และ 1.56% ระบุอื่น ๆ ได้แก่ สิทธิประโยชน์ตามมาตรการการลงทุนเพื่อพัฒนาทักษะ เทคโนโลยี และนวัตกรรม (SKILL, TECHNOLOGY & INVESTMENT: STI) ควรปลดแคปได้ตามนโยบายเดิม
ท้ายที่สุด เมื่อถามถึงข้อเสนอแนะเพิ่มเติมของผู้ประกอบการเกี่ยวกับทิศทางการส่งออกและการลงทุนไทย ปี 2560 สามารถสรุปได้ดังนี้ 1) ภาครัฐควรสนับสนุนด้านการอบรมแบบไม่มีค่าใช้จ่าย เพื่อพัฒนาศักยภาพด้านฝีมือให้ได้เปรียบในเชิงแข่งขันกับต่างประเทศ ผลิตแรงงานที่มีคุณภาพมากกว่าปริมาณ การออกใบรับรองต่าง ๆ ให้กับแรงงาน และผู้ประกอบการ ตลอดจนการดูแลสหภาพแรงงานต้องให้เกิดความเป็นธรรมกับนายจ้าง 2) การผลิตควรใช้ข้อมูลสารสนเทศเทคโนโลยีและนวัตกรรมเพื่อให้สามารถแข่งขันได้ในตลาดโลก
3) ภาครัฐควรเร่งปราบปรามการทุจริตคอร์รัปชัน 4) มีมาตรการสนับสนุนด้านภาษีหรือทางการเงินเพื่อการส่งออกต่างๆ เช่น อัตราดอกเบี้ยเงินกู้ การยื่นเอกสารต่าง ๆ ให้มีความคล่องตัว การลดภาษีเงินได้นิติบุคคลให้แก่ธุรกิจโลจิสติกส์ที่ให้บริการแก่บริษัทส่งออก ลดอัตราภาษีการส่งออกชายแดน ค่าเงินและระวางเรือ 5) ควรเร่งพัฒนาการลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน การคมนาคมขนส่ง ระบบสาธารณูปโภคที่เอื้อต่อการผลิต และเร่งดำเนินการการลงทุนในเขตเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออกให้เป็นรูปธรรมมากยิ่งขึ้น รวมไปถึงกระจายความเจริญไปสู่ภูมิภาค เช่น ภาคอีสาน หรือภาคเหนือ
ทั้งนี้ นิด้าโพล ได้สอบถามความคิดเห็นจากตัวแทนผู้ประกอบการในภาคอุตสาหกรรมต่างๆ กระจายทั่วทุกภูมิภาค รวมทั้งสิ้นจำนวน 69 ราย เกี่ยวกับทิศทางการส่งออกและการลงทุนไทย ปี 2560 ทำการสำรวจระหว่างวันที่ 21 มี.ค. - 19 เม.ย.60