พลเอก อนันตพร กาญจนรัตน์ รมว.พลังงาน เป็นประธานเปิดการประชุมเชิงปฏิบัติการซ้อมแผนรองรับสถานการณ์ฉุกเฉินด้านพลังงาน ประจำปี 2560 โดยมีผู้บริหารและทุกหน่วยงานของกระทรวงพลังงานเข้าร่วม เพื่อเตรียมพร้อมรับมือทุกสถานการณ์พลังงานของประเทศ ชูศักยภาพการบริหารวิกฤตพลังงาน โดยจำลองสถานการณ์สมมติเพื่อเตรียมความพร้อมและสร้างความมั่นใจให้กับทุกภาคส่วน ณ ศูนย์เอนเนอร์ยี่คอมเพล็กซ์ อาคารบี ชั้น 15
พลเอก อนันตพร กล่าวว่า การบริหารจัดการเพื่อให้มีความมั่นคงด้านพลังงานเพื่อสนองความต้องการใช้ของประชาชนในทุกสถานการณ์เป็นภารกิจที่สำคัญ โดยเฉพาะในช่วงที่มีข้อจำกัดในการจัดหาพลังงาน เช่น การหยุดซ่อมบำรุงประจำปีของแหล่งก๊าซธรรมชาติฝั่งตะวันตก (ฝั่งเมียนมา) ช่วงระหว่างวันที่ 25 มี.ค. ถึง 2 เม.ย.2560 ที่ผ่านมา ทำให้ก๊าซธรรมชาติหายไปจากระบบการผลิตไฟฟ้าของประเทศประมาณ 1,100 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน ส่งผลให้โรงไฟฟ้าที่ใช้ก๊าซฯ ฝั่งตะวันตกบางแห่งที่ต้องใช้ก๊าซธรรมชาติเป็นเชื้อเพลิงหลักไม่สามารถเดินเครื่องได้ และต้องจัดหาน้ำมันเตาในการผลิตไฟฟ้าทดแทน เพื่อให้ประชาชนและภาคเศรษฐกิจมีไฟฟ้าใช้อย่างต่อเนื่อง
นอกจากนี้ ในช่วงปี 2560 จะมีการหยุดซ่อมบำรุงแหล่งก๊าซธรรมชาติที่สำคัญอีก 1 ครั้ง คือ แหล่งก๊าซธรรมชาติร่วมไทยมาเลเซีย (JDA-A18) มีกำหนดการหยุดจ่ายก๊าซธรรมชาติช่วงเดือนสิงหาคม -กันยายน 2560 ซึ่งการหยุดซ่อมบำรุงดังกล่าวจะส่งผลกระทบต่อการผลิตไฟฟ้าของโรงไฟฟ้าจะนะ จังหวัดสงขลา ซึ่งเป็นโรงไฟฟ้าหลักของภาคใต้
การซักซ้อมการบริหารจัดการจึงมีความจำเป็น เพื่อให้ทุกภาคส่วนร่วมมีบทบาทในการแก้ไขสถานการณ์ และมีความเข้าใจในการทำงานแก้ไขปัญหาในสถานการณ์ที่หลากหลาย จึงมีความจำเป็นต้องจัดการซ้อมแผนครั้งนี้ขึ้น อย่างไรก็ตาม การรองรับสภาวะฉุกเฉินเป็นการดำเนินการเพื่อแก้ไขปัญหาในระยะสั้น ในขณะที่การวางรากฐานไว้ล่วงหน้าในระยะยาว เช่น การกระจายเชื้อเพลิงในการผลิตไฟฟ้า และการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน ก็มีความจำเป็นและลดภาวะเสี่ยงที่จะเกิดเหตุฉุกเฉินด้านพลังงานได้
รมว.พลังงาน กล่าวอีกว่า สำหรับการจัดประชุมเชิงปฏิบัติการซ้อมแผนรองรับสภาวะฉุกเฉินพลังงานของประเทศ ประจำปี 2560 ในครั้งนี้ กระทรวงพลังงานได้เล็งเห็นความสำคัญของการเตรียมความพร้อมเพื่อรองรับสภาวะฉุกเฉินด้านพลังงานที่อาจเกิดขึ้นได้ จึงได้มีการจำลองสถานการณ์ที่มีความรุนแรงทั้งด้านไฟฟ้า น้ำมันเชื้อเพลิง และก๊าซธรรมชาติ ในช่วงเวลาเดียวกัน เพื่อเป็นการระดมความคิด วางแผน จัดการกับปัญหา หากเกิดสถานการณ์ดังกล่าวขึ้น รวมถึงการเตรียมความพร้อมด้านโครงสร้างพื้นฐานสำหรับการแก้ไขปัญหาในระยะยาว
โดยมีหน่วยงานในสังกัดของกระทรวงพลังงานและหน่วยงานด้านพลังงานที่เกี่ยวข้อง อาทิ บมจ.ปตท. (PTT) ,การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ,การไฟฟ้านครหลวง (กฟน.) ,การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (กฟภ.), ผู้ประกอบกิจการโรงกลั่นน้ำมัน และโรงไฟฟ้าเอกชน เข้าร่วมประชุมเพื่อซ้อมแผนฯ สำหรับการเตรียมความพร้อมสูงสุดของและหน่วยงาน และสร้างความมั่นใจให้กับทุกภาคส่วน
ทั้งนี้ ในส่วนของภาคประชาชนนั้น สามารถมีส่วนร่วมสร้างความมั่นคงทางด้านพลังงานได้ โดยการเปลี่ยนพฤติกรรมการใช้พลังงาน และลดการใช้พลังงาน ซึ่งจะเป็นการช่วยลดความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้นในช่วงที่เกิดเหตุสภาวะฉุกเฉินด้านพลังงานได้อีกทางหนึ่งด้วย
ด้านนายอารีพงศ์ ภู่ชอุ่ม ปลัดกระทรวงพลังงาน ในฐานะประธานคณะกรรมการ การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย(กฟผ.) กล่าวว่า ในวันที่ 29 เมษายนนี้ คณะผู้บริหาร กฟผ.จะประชุมเพื่อปรับยุทธศาสตร์องค์กรให้เป็นไปตามทิศทางของโลกมากขึ้น เนื่องจากปัจจุบันการใช้พลังงานของโลกเปลี่ยนแปลงไปมาก โดยเน้นไปสู่พลังงานทดแทนมากขึ้น ขณะที่การใช้พลังงานฟอสซิลเริ่มลดลง ดังนั้นการผลิตไฟฟ้าจำเป็นต้องสอดคล้องกับผู้ใช้มากขึ้น ซึ่งปัจจุบัน กฟผ.มีเป้าหมายการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานทดแทนอยู่ที่ 2 พันเมกะวัตต์
ทั้งนี้ โดยจะให้ กฟผ.ชี้แจงรูปแบบโครงสร้างยุทธศาสตร์ใหม่ โดยเฉพาะการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานทดแทนที่จะเพิ่มขึ้นอย่างแน่นอน อาทิ โรงฟ้าชีวมวล โรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ (โซลาร์เซลล์) บนเขื่อน และการใช้ระบบกักเก็บพลังงาน เป็นต้น เพื่อให้ทราบถึงสัดส่วนต้นทุนที่ชัดเจน
ขณะเดียวกันการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานทดแทน จำเป็นต้องเป็นการผลิตไฟฟ้าแบบเสถียรในรูปแบบสัญญาที่สามารถกำหนดการผลิตได้แน่นอน (Firm Contract) ซึ่งที่ผ่านมาภาครัฐส่งเสริมกลุ่ม SPP Firm และ VSPP Firm มากขึ้น เพราะการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานทดแทน โดยเฉพาะโซลาร์เซลล์ผลิตได้เฉพาะช่วงกลางวัน ดังนั้นจำเป็นต้องมีระบบกักเก็บพลังงาน หรือเป็นพลังงานทดแทนรูปแบบไฮบริด
ปลัดกระทรวงพลังงาน ยังกล่าวถึงการปรับแผนพัฒนากำลังการผลิตไฟฟ้าระยะยาวของประเทศ (PDP2015) ที่ยังไม่ชัดเจนว่าจะปรับหรือไม่ว่า ขณะนี้ สนพ.ได้ให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องดูแผน อาทิ โครงการโรงไฟฟ้า แผนอนุรักษ์พลังงานและแผนพลังงานทดแทน ว่าจะเป็นไปตามเป้าหรือไม่