น.ส.บรรจงจิตต์ อังศุสิงห์ อธิบดีกรมพัฒนาธุรกิจการค้า ในฐานะเลขานุการคณะกรรมการการประกอบธุรกิจของคนต่างด้าว เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะกรรมการฯ ได้อนุญาตให้คนต่างด้าวเข้ามาประกอบธุรกิจในประเทศไทยจำนวน 19 ราย โดยส่วนใหญ่เป็นคนต่างด้าวจากประเทศญี่ปุ่น สิงคโปร์ และเยอรมนี ซึ่งมีการนำเงินเข้ามาลงทุนประกอบธุรกิจกว่า 380 ล้านบาท และส่งเสริมให้เกิดการจ้างงานคนไทย 539 คน รวมถึงมีการถ่ายทอดเทคโนโลยีใหม่ๆ และองค์ความรู้เฉพาะด้านโดยตรงจากประเทศผู้เข้ามาลงทุน
สำหรับธุรกิจที่คนต่างด้าวได้รับอนุญาต ได้แก่
1.ธุรกิจบริการให้แก่บริษัทในเครือ/ในกลุ่ม จำนวน 7 ราย มีเงินลงทุนจำนวน 163 ล้านบาท ได้แก่ บริการให้เช่าพื้นที่อาคารสำนักงานพร้อมสาธารณูปโภค บริการให้คำปรึกษาแนะนำด้านการวางแผนและพัฒนากระบวนการผลิตชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ บริการรับจ้างปาด กลึง และชุบโลหะนิกเกิ้ลตัวเรือนส่วนฐานและฝาครอบฮาร์ดดิสก์ บริการให้ใช้สิทธิสูตรการผลิตหมึกเม็ดสีสำหรับพลาสติก บริการให้ใช้ช่วงสิทธิในการผลิตและประกอบรถยนต์บรรทุกขนาดใหญ่ บริการวิเคราะห์แบบจำลองชิ้นส่วนยานยนต์ และบริการรับจ้างผลิตผ้าที่ใช้ผลิตถุงลมนิรภัยของยานยนต์ โดยเป็นคนต่างด้าวจากประเทศสิงคโปร์ และญี่ปุ่น
2.ธุรกิจบริการให้แก่ลูกค้า จำนวน 1 ราย มีเงินลงทุนจำนวน 4 ล้านบาท ได้แก่ บริการจัดการข้อมูล การให้คำปรึกษาและการฝึกอบรมเกี่ยวกับค่าสินไหมทดแทน รวมทั้งขอบเขตความคุ้มครองตามสัญญาประกันภัยรถ โดยเป็นคนต่างด้าวจากประเทศเยอรมนี
3.ธุรกิจบริการเป็นสำนักผู้แทน จำนวน 5 ราย มีเงินลงทุนจำนวน 16 ล้านบาท เป็นการรายงานความเคลื่อนไหวทางธุรกิจเกี่ยวกับสภาวะเศรษฐกิจการลงทุนให้สำนักงานใหญ่ ให้คำแนะนำและเผยแพร่ข้อมูลเกี่ยวกับสินค้าของสำนักงานใหญ่และบริษัทในเครือ โดยเป็นคนต่างด้าวจากประเทศญี่ปุ่น และมาเลเซีย
4.ธุรกิจบริการเป็นคู่สัญญาภาครัฐ/ภาคเอกชน จำนวน 3 ราย มีเงินลงทุนจำนวน 103 ล้านบาท ได้แก่ การค้าปลีกเครื่องจักรและอุปกรณ์ในระบบส่งยาเส้นเพื่อใช้ในการปรับปรุงกระบวนการมวนและบรรจุ ให้แก่ โรงงานยาสูบ กระทรวงการคลัง บริการจัดหา ก่อสร้าง ติดตั้งและทดสอบสายส่งไฟฟ้าแรงสูงสำหรับโครงการปรับปรุงระบบส่งไฟฟ้าบริเวณภาคตะวันตกและภาคใต้เพื่อเสริมความมั่นคงระบบไฟฟ้า ให้แก่ การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย และบริการขุดเจาะปิโตรเลียมสำหรับแปลงสำรวจในทะเลอ่าวไทย โดยเป็นคนต่างด้าวจากประเทศ เยอรมนี อินเดียและหมู่เกาะเคย์แมน
5.ธุรกิจค้าปลีก จำนวน 3 ราย มีเงินลงทุนจำนวน 94 ล้านบาท ได้แก่ การค้าปลีกเครื่องตรวจเช็คอัตโนมัติและแม่พิมพ์ที่ใช้ในการปั๊มขึ้นรูปชิ้นส่วนยานยนต์ การค้าปลีกอุปกรณ์ทำความเย็น และการค้าปลีกเครื่องสูบแรงดันสูง โดยเป็นคนต่างด้าวจากประเทศญี่ปุ่น และสวีเดน
สำหรับการอนุญาตให้ประกอบธุรกิจในครั้งนี้จะมีผลให้เกิดการถ่ายทอดเทคโนโลยีและวิทยาการซึ่งเป็นองค์ความรู้ในแขนงที่คนไทยยังไม่มีความชำนาญหรือมีความเชี่ยวชาญในระดับที่ไม่สูงมากนัก เช่น วิทยาการเฉพาะด้านเกี่ยวกับการใช้โปรแกรมคอมพิวเตอร์ในการออกแบบและวิจัยพัฒนารถยนต์บรรทุกขนาดใหญ่ การถ่ายทอดความรู้เกี่ยวกับแนวทางการพัฒนาคุณภาพหมึกพิมพ์ วิทยาการเฉพาะด้านเกี่ยวกับการวิเคราะห์ชิ้นงานที่ออกแบบโดยใช้โปรแกรม (Computer Aided Engineering) และวิทยาการเฉพาะด้านเกี่ยวกับการผลิตและเทคโนโลยีการเคลือบผิวผ้าที่ใช้สำหรับผลิตถุงลมนิรภัยของยานยนต์ รวมทั้งวิทยาการเฉพาะด้านเกี่ยวกับการใช้โปรแกรมคอมพิวเตอร์สำหรับการผลิตระบบอัตโนมัติและการซ่อมบำรุงชิ้นส่วนของเครื่องจักรเพื่อการผลิตชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์แบบอัตโนมัติ
อธิบดีกรมพัฒนาธุรกิจการค้า กล่าวว่า ในเดือน เม.ย.60 จำนวนธุรกิจที่ได้รับอนุญาตลดลงจากเดือนก่อน 9 ราย คิดเป็น 32% ขณะที่เงินลงทุนลดลง 200 ล้านบาท คิดเป็น 34% และเมื่อเปรียบเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อนปรากฏว่า จำนวนธุรกิจที่ได้รับอนุญาตลดลง จำนวน 17 ราย คิดเป็น 47% ขณะที่มีเงินลงทุนลดลง 514 ล้านบาท คิดเป็น 57% เนื่องจากในเดือน เม.ย.59 มีผู้ได้รับอนุญาตให้ประกอบธุรกิจ ซึ่งต้องใช้เงินลงทุนสูง เช่น บริการออกแบบจัดหาและติดตั้งระบบอาณัติสัญญาณและระบบสื่อสารสำหรับโครงการก่อสร้างทางคู่ บริการออกแบบจัดหาเครื่องมือและอุปกรณ์ก่อสร้างโรงไฟฟ้าพลังงานความร้อนร่วม และธุรกิจการผลิตแป้งจากข้าวให้แก่ผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมอาหารทั้งในประเทศและต่างประเทศ เป็นต้น
สำหรับช่วงเดือน ม.ค.-เม.ย.60 คนต่างด้าวได้รับใบอนุญาตจำนวน 88 ราย มีเงินลงทุนทั้งสิ้น 1,767 ล้านบาท ขณะที่ช่วงเดือนกันของปีก่อนมีคนต่างด้าวได้รับอนุญาตจำนวน 131 ราย และมีเงินลงทุนทั้งสิ้น 2,972 ล้านบาท ซึ่งในปี 59 ทั้งปี (มกราคม - ธันวาคม) คนต่างด้าวได้รับอนุญาตให้ประกอบธุรกิจในประเทศไทยจำนวนทั้งสิ้น 352 ราย และมีเงินลงทุนทั้งสิ้น 7,443 ล้านบาท