นางอภิรดี ตันตราภรณ์ รมว.พาณิชย์ เปิดเผยว่า กระทรวงพาณิชย์มีนโยบายในการปรับปรุงแก้ไขกฎหมาย/กฎระเบียบที่เกี่ยวข้องกับการค้าระหว่างประเทศ ให้มีความทันสมัยสอดคล้องกับบริบททางการค้าในปัจจุบันที่เปลี่ยนแปลงไปและสอดรับกับนโยบายของรัฐบาลที่มุ่งมั่นจะพัฒนาประสิทธิภาพงานบริการของภาครัฐ โดยให้ส่วนราชการปรับลดขั้นตอนในการปฏิบัติงาน และความซ้ำซ้อนในการบังคับใช้กฎหมาย เพื่ออำนวยความสะดวกให้กับประชาชนให้ได้รับบริการที่รวดเร็วยิ่งขึ้น
ตั้งแต่ปี 2558 เป็นต้นมา กระทรวงพาณิชย์ได้จัดประชุมหารือร่วมกับหน่วยงานภาครัฐและเอกชนที่เกี่ยวข้องหลายหน่วยงาน เพื่อพิจารณาทบทวนมาตรการนำเข้า-ส่งออกตามกฎหมายที่กระทรวงพาณิชย์ดูแลอยู่กว่า 100 รายการ และพิจารณาแนวทางการบูรณาการระหว่างหน่วยงานภาครัฐเพื่อลดความซ้ำซ้อนในการปฏิบัติงาน รวมถึงการบังคับใช้กฎหมายให้อยู่ภายใต้หน่วยงานเดียว
สำหรับแนวทางการทบทวนแก้ไขประกาศและระเบียบกระทรวงพาณิชย์ สรุปได้ดังนี้ 1) การทบทวนประกาศ/ระเบียบกระทรวงพาณิชย์เพื่อมอบอำนาจให้หน่วยงานอื่นเป็นผู้พิจารณาอนุญาตหรือออกใบอนุญาตนำเข้า/ส่งออกสินค้าแทน เพื่อเป็นการลดขั้นตอนและอำนวยความสะดวกในการขออนุญาตนำเข้าส่งออกให้แก่ผู้ประกอบการ จำนวน 6 ฉบับ เกี่ยวข้องกับสินค้า 4 รายการ ได้แก่ ไม้ ถ่านไม้ ช้าง และกลุ่มยาและเภสัชเคมีภัณฑ์เป็นต้น
2) การทบทวนฯ เพื่อยกเลิกประกาศ/ระเบียบกระทรวงพาณิชย์ กรณีที่หน่วยงานที่เกี่ยวข้องโดยตรงมีกฎหมายที่สามารถกำกับดูแลการส่งออก-นำเข้าสินค้าได้โดยไม่จำเป็นต้องอาศัยอำนาจตามกฎหมาย ของกระทรวงพาณิชย์ ลดความซ้ำซ้อนในการดำเนินการของผู้ประกอบการ จำนวน 5 ฉบับ เกี่ยวข้องกับสินค้า 5 รายการ ได้แก่ (1) ปลาทูน่าชนิดครีบเหลืองและผลิตภัณฑ์ (2) หอยมุกและผลิตภัณฑ์ฯ (3) กุ้ง ปลาหมึกและผลิตภัณฑ์ (4) ปลาทะเลสวยงามที่มีชีวิต และ (5) ถ่านหินที่มีแหล่งกำเนิดจากต่างประเทศ
3) การทบทวนฯ เพื่อแก้ไขขั้นตอนการกำกับดูแลการนำเข้า-ส่งออกให้มีความชัดเจน ลดขั้นตอนการทำงาน และสอดคล้องกับสถานการณ์การค้าในปัจจุบันมากยิ่งขึ้น จำนวน 13 ฉบับ เกี่ยวข้องกับสินค้า 5 รายการ ได้แก่ ไม้นำเข้า เหรียญโลหะตัวเปล่า รถยนต์ที่ใช้แล้ว รถจักรยานยนต์ที่ใช้แล้ว และยางรถยนต์ใหม่
นอกจากนี้ กระทรวงพาณิชย์ยังเร่งดำเนินการเชื่อมโยงข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์ในการออกใบอนุญาตและใบรับรองแบบไร้เอกสารเต็มรูปแบบ (Paperless) ซึ่งปัจจุบันกระทรวงพาณิชย์ได้เริ่มให้บริการออกใบอนุญาตส่งออกแบบ Paperless สำหรับสินค้าไม้และไม้แปรรูป และสินค้าถ่านไม้แล้ว ส่วนสินค้าอื่นจะทยอยดำเนินการในลำดับถัดไป เพื่อให้กระบวนการส่งออกเป็นแบบไร้เอกสาร โดยผู้ประกอบการสามารถยื่นคำขอและเอกสารหลักฐานทั้งหมดทางระบบอิเล็กทรอนิกส์ พร้อมกำกับข้อมูลที่ส่งทั้งหมดด้วยระบบ Digital Signature เมื่อส่งข้อมูลแล้ว เจ้าหน้าที่จะตรวจสอบและแจ้งผลการพิจารณาให้ผู้ประกอบการทราบทางระบบคอมพิวเตอร์ ซึ่งคำขอที่ผ่านการอนุมัติ ระบบจะส่งข้อมูลไปยังกรมศุลกากรทันทีผ่านระบบ National Single Window (NSW) เพื่อเชื่อมโยงข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์กับใบขนขาออก โดยสินค้าที่ส่งออกดังกล่าวจะผ่านการตรวจปล่อยพิธีการ ทางศุลกากรอย่างรวดเร็ว ป้องกันการปลอมแปลงเอกสาร ลดต้นทุน และระยะเวลาให้แก่ผู้ประกอบการได้