นายกฤษฎา จีนะวิจารณะ ผู้อำนวยการ สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) ในฐานะโฆษกกระทรวงการคลัง แถลงประมาณการเศรษฐกิจไทยในปี 60 คาดการณ์เดิมว่าจะขยายตัวได้ 3.6% จากช่วงคาดการณ์ที่ 3.3-3.9% เร่งตัวขึ้นจากปีก่อนหน้าที่ขยายตัว 3.2% แม้ว่าการส่งออกจะฟื้นตัวขึ้นมาได้ดีกว่าที่เคยคาดไว้ แต่ยังอยู่ในระดับที่ไม่เป็นนัยสำคัญถึงขั้นทำให้ต้องปรับประมาณการ
"สศค.ยังคงประมาณการการขยายตัวทางเศรษฐกิจของไทยในปีนี้ไว้เท่าเดิมที่ 3.6% แม้จะมีการปรับตัวเลขการส่งออกในปีนี้เพิ่มขึ้นเป็น 3.3% จากประมาณการในครั้งก่อนที่ 2.5% เนื่องจากมองว่าการส่งออกที่เพิ่มขึ้นนั้นยังไม่ได้เป็นนัยสำคัญที่จะทำให้ต้องมีการปรับ GDP เพิ่มขึ้น" นายกฤษฎา กล่าว
ปัจจัยสนับสนุนหลักของเศรษฐกิจในปีนี้มาจากอุปสงค์ภายนอกประเทศ โดยเฉพาะจากการส่งออกสินค้าที่มีแนวโน้มขยายตัวในอัตราเร่งขึ้นจากปีก่อนอย่างชัดเจน ตามเศรษฐกิจประเทศคู่ค้าที่เริ่มมีแนวโน้มขยายตัวดีขึ้นตามลำดับ
นอกจากนี้ การใช้จ่ายภาครัฐยังคงเป็นแรงขับเคลื่อนเศรษฐกิจที่สำคัญ โดยเฉพาะจากการจัดทำงบประมาณรายจ่ายเพิ่มเติมประจำปีงบประมาณ 2560 จำนวน 1.9 แสนล้านบาท และการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคมขนาดใหญ่ อาทิ โครงการรถไฟทางคู่และรถไฟฟ้าในเขตเมือง โครงการมอเตอร์เวย์ และโครงการพัฒนาท่าอากาศยาน โดยคาดว่าภายในปีงบประมาณ 60 จะสามารถเบิกจ่ายงบกลางได้ราว 60% ซึ่งที่ผ่านมาสำนักงบประมาณรายงานว่ามีการเบิกจ่ายไปแล้วกว่าหมื่นล้านบาท และหากสามารถเบิกจ่ายงบกลางปีได้ตามที่คาดไว้ ก็จะมีโอกาสที่ GDP ปีนี้จะเติบโตได้ถึง 4%
สำหรับการลงทุนภาคเอกชนมีแนวโน้มขยายตัวได้อย่างค่อยเป็นค่อยไป ตามแนวโน้มอัตราดอกเบี้ยที่ยังอยู่ในระดับต่ำช่วยให้ต้นทุนการดำเนินธุรกิจเอื้อต่อการลงทุนภาคเอกชน นอกจากนี้ การลงทุนภาครัฐที่เพิ่มขึ้นยังจะช่วยสร้างความเชื่อมั่นของภาคธุรกิจและช่วยกระตุ้นการลงทุนภาคเอกชนในประเทศได้มากขึ้น
ขณะที่แนวโน้มรายได้เกษตรกรที่ปรับตัวดีขึ้นตามราคาสินค้าโภคภัณฑ์ในตลาดโลกและผลผลิตที่เพิ่มขึ้นจะเป็นแรงสนับสนุนให้การบริโภคภาคเอกชนขยายตัวได้ต่อเนื่อง
ในส่วนของเสถียรภาพเศรษฐกิจภายในประเทศคาดว่า อัตราเงินเฟ้อทั่วไปในปี 60 จะอยู่ที่ 1.4% ปรับตัวเพิ่มขึ้นจากปีก่อนตามแนวโน้มต้นทุนจากราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกที่มีทิศทางเพิ่มขึ้น ขณะที่เสถียรภาพเศรษฐกิจภายนอกประเทศ คาดว่าดุลบัญชีเดินสะพัดจะเกินดุล 39.0 พันล้านเหรียญสหรัฐ หรือคิดเป็น 9.2% ผลผลิตมวลรวมในประเทศ (GDP)
นายกฤษฎา กล่าวว่า การประมาณการเศรษฐกิจไทยปี 60 ที่ระดับ 3.6% นี้ อยู่ภายใต้สมมติฐานสำคัญ ประกอบด้วย 1. อัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจของ 15 ประเทศคู่ค้าหลัก ซึ่ง สศค.ได้ปรับเพิ่มขึ้นเป็น 3.5% จากเดิม 3.41% เนื่องจากมองเห็นถึงการฟื้นตัวของเศรษฐกิจในประเทศสหรัฐฯ และสหภาพยุโรป โดยคาดว่าปีนี้เศรษฐกิจสหรัฐฯ จะเติบโตได้ 2.4% จากเดิม 2.2% ส่วนเศรษฐกิจยุโรป คาดว่าจะเติบโตได้ 1.7% จากเดิม 1.5%
2. อัตราแลกเปลี่ยน โดยทั้งปีนี้ สศค.คาดว่าเงินบาทจะเฉลี่ยอยู่ที่ระดับ 35.50 บาท/ดอลลาร์ อ่อนค่าไปเล็กน้อยที่ 0.6% จากเฉลี่ยทั้งปี 59 ซึ่งเป็นผลมาจากการที่ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบาย และทำให้มีเงินทุนไหลกลับไปยังตลาดสหรัฐฯ ทั้งนี้ ตั้งแต่ต้นปีจนถึง 24 เม.ย.60 ค่าเงินบาทเฉลี่ยอยู่ที่ระดับ 34.99 บาท/ดอลลาร์
3. ราคาน้ำมันดิบดูไบ โดย สศค.ยังคงคาดการณ์ราคาน้ำมันดิบดูไบเฉลี่ยทั้งปีนี้ไว้ที่ 53.70 ดอลลาร์/บาร์เรล เท่ากับประมาณการในครั้งก่อน แม้ทิศทางราคาน้ำมันจะแกว่งตัวในขาขึ้นเล็กน้อย
4. ดัชนีราคาส่งออกและนำเข้า ซึ่งจากการปรับปรุงดัชนีราคาสินค้าส่งออกย้อนหลัง ได้ส่งผลต่อฐานของปี 59 ที่ต่ำลง จึงทำให้อัตราการขยายตัวของปี 60 สูงขึ้นโดยปริยาย ประกอบกับราคาสินค้าเกษตรขยายตัวได้ดีกว่าคาด จึงทำให้มีการปรับดัชนีราคาส่งออกเพิ่มขึ้นเป็น 2.4% จากเดิม 1.7% ขณะที่ดัชนีราคานำเข้ายังคงเท่าเดิมที่ 4.5%
5. อัตราดอกเบี้ยนโยบาย โดยทั้งปี สศค.ยังคาดว่าจะอยู่ที่ระดับ 1.50% เนื่องจากแรงกดดันด้านเงินเฟ้อยังอยู่ในระดับต่ำ ประกอบกับเศรษฐกิจกำลังฟื้นตัวอย่างค่อยเป็นค่อยไป และยังไม่มีสัญญาณความร้อนแรงของเศรษฐกิจเกิดขึ้น จึงยังคาดการณ์ดอกเบี้ยนโยบายไว้ในระดับเดิม
6. จำนวนนักท่องเที่ยว ซึ่ง สศค.ยังคงคาดการณ์ตัวเลขนักท่องเที่ยวในปีนี้ไว้เท่าเดิมที่ 35 ล้านคน ขยายตัวจากปีก่อน 7.4% คิดเป็นรายได้จากการท่องเที่ยวราว 1.84 ล้านล้านบาท
สำหรับภาวะเศรษฐกิจไทยในช่วงไตรมาสแรกของปีนี้ เชื่อว่าจะเติบโตได้มากกว่าที่ สศค.ประมาณการไว้ที่ 3.1% และคาดว่าไตรมาส 2 เศรษฐกิจไทยยังมีแนวโน้มเติบโตได้อย่างต่อเนื่อง โดยสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศค.) หรือสภาพัฒน์ จะแถลงภาวะเศรษฐกิจไทยไตรมาส 1/60 พร้อมประเมินเศรษฐกิจไทยปีนี้ ในวันที่ 15 พ.ค.60
อย่างไรก็ดี สศค.จะมีการปรับประมาณการตัวเลขเศรษฐกิจของปีนี้อีกครั้งในช่วงเดือน ก.ค.60 โดยจะติดตามปัจจัยเสี่ยงสำคัญที่จะมีผลต่อเศรษฐกิจไทยอย่างใกล้ชิด ทั้งในเรื่องของความผันผวนในตลาดเงิน, เศรษฐกิจประเทศคู่ค้าสำคัญ นโยบายเศรษฐกิจของสหรัฐ ตลอดจนสถานการณ์ความขัดแย้งทางการเมืองระหว่างประเทศ