ภาครัฐ-เอกชน ร่วมผนึกกำลังผลักดันไทยเป็น HUB การค้าอัญมณีและเครื่องประดับ

ข่าวเศรษฐกิจ Friday April 28, 2017 11:03 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

น.ส.วิบูลย์ลักษณ์ ร่วมรักษ์ ปลัดกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า ตามที่รัฐบาลได้มีนโยบายผลักดันให้ประเทศไทยเป็น ศูนย์กลางการค้าอัญมณีและเครื่องประดับโลก (Thailand as The World’s Gems & Jewelry Trading Hub) นั้น นางอภิรดี ตันตราภรณ์ รมว.พาณิชย์ ได้มอบหมายให้กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศเชิญภาครัฐและเอกชนที่เกี่ยวข้องรวมกว่า 20 หน่วยงานมาหารือร่วมกัน เพื่อกำหนดมาตรการสนับสนุนการ เป็นศูนย์กลางดังกล่าว พร้อมชูจุดแข็งของอุตสาหกรรมอัญมณีและเครื่องประดับของไทยด้านการเป็นแหล่งการผลิตชั้นยอด ตั้งแต่ต้นน้ำ-ปลายน้ำให้เป็นที่รู้จักแพร่หลายไปทั่วโลก

ซึ่งเป็นการต่อยอดจากมติคณะรัฐมนตรี เรื่อง Jewelry Hub เมื่อวันที่ 17 มกราคม 2560 ซึ่ง ครม.ได้เห็นชอบการยกเว้นอากรขาเข้าสินค้าอัญมณีและเครื่องประดับสำเร็จรูปของกระทรวงการคลัง ให้ครอบคลุมในทุกมิติมากยิ่งขึ้น โดยเฉพาะในด้านการเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของอุตสาหกรรมอัญมณีและเครื่องประดับไทยในตลาดโลก รวมถึงการประชาสัมพันธ์ภาพลักษณ์และส่งเสริมการส่งออก

นางมาลี โชคล้ำเลิศ อธิบดีกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ กล่าวถึงแผนงานสนับสนุนให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางการค้าอัญมณีและเครื่องประดับโลกว่า แผนงานประกอบด้วย 3 ด้านหลัก ได้แก่ 1. การปลดล็อคภาษีและกฎระเบียบ 2. การพัฒนาผู้ประกอบการ สินค้า/วัตถุดิบ และแรงงาน และ 3.การส่งเสริมอุตสาหกรรมอัญมณีและเครื่องประดับในภาพรวม ทั้งด้านตลาดในประเทศและต่างประเทศ ในแบบออนไลน์และออฟไลน์ ยกระดับการจัดงานแสดงสินค้า Bangkok Gems & Jewelry Fair ประชาสัมพันธ์สร้างภาพลักษณ์ของอุตสาหกรรมโดยใช้กลยุทธ์การกำหนดตำแหน่งทางการตลาดหน่วยงานต่างๆ ที่เข้าร่วมหารือได้รับไปดำเนินการในส่วนที่เกี่ยวข้อง

ทั้งนี้ นับได้ว่าเป็นการบูรณาการการทำงานอย่างแท้จริงจากทุกภาคส่วน เพื่อร่วมกันเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของผู้ประกอบการอัญมณีและเครื่องประดับไทยในตลาดโลก โดยกระทรวงการคลังรับไปพิจารณาปรับปรุงกฎระเบียบที่ยังมีความซับซ้อนในทางปฏิบัติ อาทิ การยกเว้นภาษีมูลค่าเพิ่มวัตถุดิบอัญมณีและโลหะมีค่า การหักรายจ่ายสองเท่าของรายจ่ายประเภทเงินเดือน/ค่าจ้างแรงงาน รวมถึงศึกษาการจัดทำระบบภาษีที่เหมาะสมกับอุตสาหกรรม ซึ่งจะช่วยทำให้ภาคเอกชนสามารถใช้ประโยชน์จากมาตรการดังกล่าวได้อย่างแท้จริง ขณะเดียวกันก่อให้เกิดรายได้แก่ภาครัฐเพิ่มขึ้น

ด้านสถาบันวิจัยและพัฒนาอัญมณีและเครื่องประดับแห่งชาติ (องค์การมหาชน) หรือ GIT ประสานหน่วยงานต่างๆ ได้แก่ กระทรวงอุตสาหกรรม กระทรวงศึกษาธิการ กระทรวงแรงงาน และภาคเอกชน เพื่อกำหนดมาตรการพัฒนาผู้ประกอบการอย่างครบวงจร จัดทำเทรนด์สินค้าอัญมณีและเครื่องประดับ ผลักดันให้เกิดการจัดประชุมและสัมมนานานาชาติด้านอัญมณีในไทย อาทิ งาน World Jewelry Confederation 2017 ในเดือนพฤศจิกายน 2560 ตลอดจนปรับปรุงหลักสูตรการศึกษา/การฝึกอบรมเฉพาะทาง เพื่อให้สอดคล้องกับความต้องการของตลาด การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย และกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา รับไปดำเนินการเรื่องการประชาสัมพันธ์สินค้าและย่านการค้าอัญมณีและเครื่องประดับของไทย ตลอดจนจัดทำแผนที่เส้นทางอัญมณี เพื่อสร้างการรับรู้และอำนวยความสะดวกให้แก่ผู้บริโภคทั้งไทยและชาวต่างชาติ

ในส่วนของกระทรวงพาณิชย์ กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศจะเร่งพัฒนาตลาดต่างประเทศสำหรับการค้าอัญมณีและเครื่องประดับ ทั้งออนไลน์และออฟไลน์อย่างต่อเนื่อง ส่งเสริมผู้ประกอบการให้ไปจัดตั้งสำนักงานในตลาดเป้าหมาย (Overseas Offices) รวมทั้งผลักดันให้เกิดความร่วมมือกับแบรนด์ระดับโลก (Co-Branding) เพื่อเจาะตลาดผู้บริโภคระดับสูง ตลอดจนยกระดับงาน Bangkok Gems & Jewelry Fair ให้เป็นหนึ่งในสามของงานอัญมณีระดับโลก

อธิบดีกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ กล่าวเพิ่มเติมว่า นอกจากประเทศไทยเป็นแหล่งผลิตชั้นยอดที่ครบวงจรแล้ว ยังมีปัจจัยสนับสนุนในการก้าวสู่การเป็นศูนย์กลางอัญมณีและเครื่องประดับของไทยอีกหลายประการ ได้แก่ ไทยเป็นหนึ่งในสิบของประเทศผู้ส่งออกอัญมณีและเครื่องประดับของโลก (ปรับขึ้นจากอันดับที่ 13 ในปี 2557) การมีงานแสดงสินค้า Bangkok Gems & Jewelry Fair ซึ่งเวทีการค้าระดับโลก การยกเว้นอากรอัญมณีและเครื่องประดับรวมทั้งภาษีมูลค่าเพิ่มวัตถุดิบ แรงงานของไทยมีฝีมือประณีตโดดเด่นด้านเจียระไน การมีนิคมอัญธานี (Gemopolis) เป็นเขตประกอบการเสรี การมีสถาบัน GIT ทำหน้าที่วิเคราะห์ ตรวจสอบ รับรองมาตรฐานสินค้าอัญมณีและเครื่องประดับที่เป็นที่ยอมรับระดับนานาชาติ ตลอดจนการที่องค์กรผู้จัดการประชุมระดับโลกมาจัดการประชุมนานาชาติที่สำคัญในประเทศไทย อาทิ งาน World Jewelry Confederation 2017 และงาน ICA Congress

อนึ่ง ปี 2559 ไทยส่งออกสินค้าอัญมณีและเครื่องประดับ (ไม่รวมทองคำ) มูลค่าประมาณ 6,970 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เป็นสินค้าส่งออกอันดับ 5 คิดเป็นสัดส่วน 3.24% ของมูลค่าการส่งออกทั้งหมดของไทย โดยมีตลาดส่งออกสำคัญได้แก่ ฮ่องกง สหรัฐฯ เยอรมนี สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ เบลเยี่ยม อินเดีย และสวิตเซอร์แลนด์ โดยมีสัดส่วนรวมกันคิดเป็น 73%

ในขณะที่ 3 เดือนแรกของปี 2560 (มกราคม – มีนาคม) ไทยส่งออกสินค้าอัญมณีและเครื่องประดับ (ไม่รวมทองคำ) มูลค่า 2,021.31 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ขยายตัว 1.98% จากช่วงเดียวกันของปี 2559 โดยตลาดส่งออก 5 อันดับแรกได้แก่ ฮ่องกง สหรัฐอเมริกา เยอรมนี สวิตเซอร์แลนด์ และเบลเยี่ยม โดยมีสัดส่วนรวมกันคิดเป็น 66.18%


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ