(เพิ่มเติม) สศอ.เผยดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม มี.ค.60 ลดลง 0.53%YoY แต่เพิ่มขึ้น 12.13%MoM

ข่าวเศรษฐกิจ Friday April 28, 2017 14:37 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายวีรศักดิ์ ศุภประเสริฐ รองผู้อำนวยการ สำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม (สศอ.) ระบุว่า ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม (MPI) เดือนมี.ค.60 อยู่ที่ 124.46 ขยายตัว 12.13% (MoM) แต่ลดลง 0.53% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันในปีก่อน (YoY) โดยมีอัตราการใช้กำลังการผลิตที่ 67.09%

"ดัชนี MPI ที่กลับมาเป็นบวก มาจากการฟื้นตัวของการค้าและเศรษฐกิจโลกที่มีทิศทางที่ดีขึ้น และสินค้าหลายรายการกลับมาฟื้นตัว เช่น ในอุตสาหกรรมอาหาร ที่จะมีการส่งออกเนื้อไก่แช่แข็งไปยังญี่ปุ่นและเกาหลีใต้มากขึ้น และน่าจะส่งผลให้ดัชนี MPI ประจำเดือนเมษายนเป็นบวกได้ต่อเนื่อง แต่จำเป็นต้องจับตาสถานการณ์ปัญหาจากต่างประเทศ หากไม่มีความรุนแรงเกิดขึ้น การส่งออกและการผลิตน่าจะขยายตัวได้ดี" นายวีรศักดิ์ กล่าว

โดยอุตสาหกรรมสำคัญที่ส่งผลบวก ได้แก่ เหล็กและผลิตภัณฑ์เหล็ก ขยายตัวเพิ่มขึ้น 9.01% จากช่วงเดียวกันในปีก่อน จากเหล็กลวด ลวดเหล็กแรงดึงสูง เหล็กเส้นข้ออ้อย และท่อเหล็กกล้า ที่ได้รับคำสั่งซื้อเพื่อใช้ในงานโครงสร้างพื้นฐานต่าง ๆ ของภาครัฐ และผลจากมาตรการตอบโต้การนำเข้า (AD) ของกระทรวงพาณิชย์ที่ลดปริมาณเหล็กนำเข้าราคาถูกได้ดีขึ้น ในขณะที่เหล็กแผ่นเคลือบสังกะสี และเหล็กแผ่นรีดเย็น ได้รับคำสั่งซื้อเพิ่มขึ้นเนื่องจากราคาเหล็กยังอยู่ในระดับสูง

น้ำมันปิโตรเลียม ขยายตัวเพิ่มขึ้น 7.41% จากช่วงเดียวกันในปีก่อน โดยประเภทน้ำมันเชื้อเพลิงสำเร็จรูปที่ผลิตเพิ่มขึ้น ได้แก่ น้ำมันดีเซลหมุนเร็ว น้ำมันแก๊สโซฮอล์ 91 และน้ำมันแก๊สโซฮอล์ 95

เนื้อไก่แช่แข็ง ขยายตัวเพิ่มขึ้น 7.51% จากช่วงเดียวกันในปีก่อน เนื่องจากการจำหน่ายในประเทศ และการส่งออกผลิตภัณฑ์เนื้อไก่แช่แข็งและแช่เย็นขยายตัวเพิ่มขึ้น

ฮาร์ดดิสก์ไดร์ฟ ขยายตัวเพิ่มขึ้น 32.66% จากช่วงเดียวกันในปีก่อน โดยในปีนี้มีคำสั่งซื้อกลับเข้ามาหลังจากชะลอตัวไปเมื่อปีก่อน โดยเฉพาะการส่งออกไปยังตลาดหลัก เช่น สหรัฐอเมริกา ฮ่องกง เพิ่มขึ้น

น้ำตาล ขยายตัวเพิ่มขึ้น 13.67% จากช่วงเดียวกันในปีก่อน จากน้ำตาลทรายดิบ และน้ำตาลทรายขาวบริสุทธิ์ เนื่องจากมีการเปิดหีบอ้อยช้ากว่าปีก่อน ทำให้มีการขยายการผลิตมาถึงเดือนมีนาคม 2560

ขณะที่อุตสาหกรรมที่ส่งผลลบ ได้แก่ รถยนต์ ปรับตัวลดลง 11.12% จากช่วงเดียวกันในปีก่อน โดยมีสาเหตุจากการส่งออกรถยนต์ไปยังประเทศแถบตะวันออกกลางชะลอตัวลง จากปัญญาทางด้านเศรษฐกิจและการเมือง

เครื่องยนต์สำหรับรถยนต์ ปรับตัวลดลง 6.26% จากช่วงเดียวกันในปีก่อน โดยมีสาเหตุจากความต้องการใช้เครื่องยนต์เบนซินและดีเซลลดลงจากปีก่อน

อย่างไรก็ตาม เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ดัชนี MPI ที่ปรับตัวลดลง 0.53% เป็นผลจากปริมาณการส่งออกลดลงแม้ราคาจะปรับตัวดีขึ้น เนื่องจากบางอุตสาหกรรมมีกำลังการผลิตลดลง เช่น สุรา เพราะช่วงเดียวกันเมื่อปีที่แล้วมีการปรับขึ้นภาษีสรรพสามิตบุหรี่ ผู้ประกอบการสุราอาจเกรงว่าอาจจะมีการขึ้นภาษีสรรพสามิตด้วย ดังนั้นจึงเพิ่มกำลังการผลิตสุราเพิ่มมากขึ้นในปีที่ผ่านมา หรือกรณีกำลังการผลิตเม็ดพลาสติกลดลง ซึ่งเป็นไปตามภาวะวัตถุดิบที่เพิ่มสูงขึ้น

ขณะที่ภาพรวมดัชนี MPI ในไตรมาส 1/60 ขยายตัว 0.1%

"แม้ความผันผวนจากค่าเงินบาทที่อาจทำให้ผู้ประกอบการมีความเสี่ยงด้านต้นทุนสูงขึ้น แต่ในภาพรวมดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรมในไตรมาสที่ 1 ขยายตัวที่ 0.1% แสดงให้เห็นถึงความแข็งแกร่งของภาคอุตสาหกรรม โดยอุตสาหกรรมสำคัญที่ส่งผลบวก ได้แก่ เหล็กและผลิตภัณฑ์เหล็ก น้ำมันปิโตรเลียม เนื้อไก่แช่แข็ง ฮาร์ดดิสก์ไดร์ฟ และน้ำตาล" นายวีรศักดิ์ กล่าว

สำหรับอุตสาหกรรมสำคัญที่ปรับตัวเพิ่มขึ้นใน 1/60 และคาดว่าจะปรับตัวเพิ่มขึ้นต่อเนื่องในไตรมาส 2/60 ได้แก่ อุตสาหกรรมไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ ในไตรมาส 1/60 การผลิตในภาพรวมปรับตัวเพิ่มขึ้น 14.16% จากการขยายตัวของกลุ่ม Other IC เป็นหลัก ตามการขยายตัวของความต้องการสินค้าชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ในตลาดโลก

อุตสาหกรรมเภสัชกรรม เคมีภัณฑ์ที่ใช้รักษาโรค ในไตรมาส 1/60 การผลิตในภาพรวมปรับตัวเพิ่มขึ้น 18.03% โดยมีการเปิดตลาดยาเม็ดได้ใหม่ในหลายประเทศ อาทิ ฮ่องกง เกาหลี,

อุตสาหกรรมเหล็กและผลิตภัณฑ์เหล็กกล้าขั้นมูลฐาน ในไตรมาส 1/60 การผลิตในภาพรวมปรับตัวเพิ่มขึ้น 9.59% ตามความต้องการใช้งานในโครงสร้างพื้นฐานของภาครัฐอย่างต่อเนื่องและในระยะยาว และอุตสาหกรรมการแปรรูปและการถนอมสัตว์น้ำ ในไตรมาส 1/60 การผลิตปรับตัวเพิ่มขึ้น 3.18% จากสินค้าปลาและปลาหมึกแช่แข็ง

รองผู้อำนวยการ สศอ. เชื่อว่า ดัชนี MPI ทั้งปีน่าจะเกินเป้าที่วางไว้ ซึ่ง สศอ. ตั้งเป้า MPI ปี 60 อยู่ที่ 0.5-1.5% และ GDP อุตสาหกรรม เพิ่มขึ้น 1-2 % เป็นผลจากการฟื้นตัวของสินค้าบางรายการ เช่น ฮาร์ดดิสไดร์ฟ และราคาสินค้าเกษตรที่ปรับตัวสูงขึ้น และการเดินหน้าลงทุนโครงสร้างพื้นฐานของรัฐบาล

สำหรับผลกระทบจากนโยบายด้านการค้าของสหรัฐฯ นั้น นายวีระศักดิ์ เชื่อว่าจะไม่ส่งผลต่ออุตสาหกรรมไทย เพราะยังมีหลายอุตสาหกรรมของสหรัฐฯ ที่ยังคงลงทุนอยู่ในประเทศไทย เช่น อุตสาหกรรมฮาร์ดดิสก์ หรือแผงวงจรไฟฟ้า แต่ต้องจับตาผลกระทบทางอ้อม หากสหรัฐฯ มีการตอบโต้ทางการค้ากับจีน เนื่องจากมีผลิตภัณฑ์บางตัวส่งไปผลิตที่จีนและส่งต่อไปที่สหรัฐฯ แต่คงไม่ส่งผลกระทบต่อไทยในทันที แต่หากมีมาตรการที่ส่งผลต่อไทยโดยตรง น่าจะเป็นลักษณะการใช้วิธีการให้ใบเหลือง หรือเป็นการเตือนโดยบีบให้ไทยต้องเปิดตลาดอะไรบางอย่าง ซึ่งเป็นวิธีการของนักการเมืองที่มีพื้นฐานมาจากนักธุรกิจมาก่อน


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ