นายดอน นาครทรรพ ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายเศรษฐกิจมหภาค ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดเผยว่า เศรษฐกิจไทยในเดือนมี.ค.60 ขยายตัวต่อเนื่องจากเดือนก่อน โดยมีแรงขับเคลื่อนจากการส่งออกที่ขยายตัวดีในหลายหมวดสินค้า สอดคล้องกับอุปสงค์ต่างประเทศที่ดีขึ้นต่อเนื่อง การท่องเที่ยวที่กลับมาขยายตัวจากเดือนก่อน การบริโภคภาคเอกชนที่มีทิศทางปรับดีขึ้นโดยเฉพาะสินค้าคงทน สอดคล้องกับรายได้ครัวเรือน และความเชื่อมั่นที่ปรับดีขึ้น และการใช้จ่ายภาครัฐโดยเฉพาะรายจ่ายลงทุน อย่างไรก็ดี การผลิตภาคอุตสาหกรรม และการลงทุนภาคเอกชนยังหดตัวจากระยะเดียวกันปีก่อน
ด้านเสถียรภาพเศรษฐกิจ อัตราเงินเฟ้อทั่วไปชะลอลงตามราคาอาหารสดและพลังงานเป็นสำคัญ สำหรับอัตราการว่างงานที่ปรับฤดูกาลปรับเพิ่มขึ้นเล็กน้อย ขณะที่ดุลบัญชีเดินสะพัดเกินดุลตามมูลค่าการส่งออกที่ปรับดีขึ้นต่อเนื่อง
สำหรับมูลค่าการส่งออกสินค้าขยายตัวต่อเนื่อง โดยในเดือนนี้ขยายตัว 10.8% จากระยะเดียวกันปีก่อน และหากหักทองคำ ขยายตัว 12.1% ตามการขยายตัวในหลายหมวดสินค้า ได้แก่ 1.สินค้าอิเล็กทรอนิกส์และทัศนูปกรณ์ เพื่อใช้เป็นชิ้นส่วนการผลิตอุปกรณ์ที่รองรับ Internet of Things (IoT) ชิ้นส่วนรถยนต์ และสมาร์ทโฟน 2.สินค้าที่มูลค่าการส่งออกเคลื่อนไหวตามราคาน้ำมันดิบ ขยายตัวทั้งด้านราคาตามราคาน้ำมันดิบที่สูงกว่าระยะเดียวกันปีก่อน และด้านปริมาณตามการขยายตัวของการส่งออกยางพารา ผลิตภัณฑ์ยาง ปิโตรเลียม ปิโตรเคมี และเคมีภัณฑ์ จากอุปสงค์จีนและอาเซียนที่เพิ่มขึ้น
3.สินค้าหมวดยานยนต์ ตามการส่งออกรถยนต์เชิงพาณิชย์ไปออสเตรเลียจากการที่ผู้ประกอบการหาตลาดใหม่เพื่อทดแทนตลาดตะวันออกกลางที่ยังหดตัวต่อเนื่อง และการส่งออกรถจักรยานยนต์ขนาดใหญ่ไปยุโรปและอาเซียน ตามการขยายกาลังการผลิตของผู้ประกอบการรายใหญ่ในช่วงก่อนหน้า และ 4.สินค้าหมวดเครื่องใช้ไฟฟ้า โดยเฉพาะเครื่องปรับอากาศและแผงกำเนิดไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์ จากการขยายกำลังการผลิตและการย้ายฐานการผลิตมาไทยในช่วงที่ผ่านมา อย่างไรก็ดี การส่งออกสินค้าที่ปรับดีขึ้น ส่วนหนึ่งเป็นการระบายสินค้าคงคลังโดยเฉพาะในหมวดยานยนต์ ส่งผลให้โดยรวมการผลิตภาคอุตสาหกรรมหดตัวจากระยะเดียวกันปีก่อน
ภาคการท่องเที่ยวขยายตัว 2.0% จากระยะเดียวกันปีก่อน และเมื่อปรับฤดูกาลเพิ่มขึ้น 3.3% จากเดือนก่อน ตามจำนวนนักท่องเที่ยวจีนและมาเลเซียที่เพิ่มขึ้นเป็นสำคัญ ขณะที่จำนวนนักท่องเที่ยวยุโรปที่ไม่รวมรัสเซียชะลอการเดินทางท่องเที่ยวในช่วงก่อนวันหยุดเทศกาลอีสเตอร์ ที่ในปีนี้ตรงกับเดือนเมษายน
เครื่องชี้การบริโภคภาคเอกชนมีทิศทางปรับดีขึ้น โดยการใช้จ่ายในหมวดสินค้าคงทนปรับดีขึ้นตาม การซื้อรถยนต์ ปัจจัยสนับสนุนมาจากรายได้ครัวเรือนโดยเฉพาะรายได้เกษตรกรที่ฟื้นตัวต่อเนื่องตามราคายาง และผลผลิตข้าว และความเชื่อมั่นผู้บริโภคทยอยปรับดีขึ้น รวมทั้งสถาบันการเงินมีมุมมองที่ลดความเข้มงวดมาตรฐาน การให้สินเชื่อเช่าซื้อรถยนต์ลงบ้าง ส่วนการใช้จ่ายหมวดสินค้าไม่คงทนเพิ่มขึ้นเล็กน้อย จากปริมาณการใช้เชื้อเพลิงที่เพิ่มขึ้นตามราคาที่ปรับลดลงเป็นสำคัญ
การใช้จ่ายภาครัฐที่ไม่รวมเงินโอน ยังเป็นแรงขับเคลื่อนสำคัญของเศรษฐกิจ โดยเฉพาะรายจ่ายลงทุนที่ขยายตัว 11.9%จากการใช้จ่ายในโครงการก่อสร้างทางหลวงพิเศษระหว่างเมืองของกรมทางหลวงเป็นสำคัญ ขณะที่รายจ่ายประจำหดตัว 3.5% จากฐานที่สูงในปีก่อนที่มีการเบิกจ่ายตามมาตรการส่งเสริมความเป็นอยู่ระดับตำบลเป็นสำคัญ
เครื่องชี้การลงทุนภาคเอกชนหดตัวจากระยะเดียวกันปีก่อน ทั้งการลงทุนในภาคก่อสร้างและเครื่องจักรและอุปกรณ์หลังจากมีการเร่งลงทุนในช่วงก่อนหน้า โดยเฉพาะในธุรกิจการค้า พลังงาน และโทรคมนาคม สะท้อนว่าการฟื้นตัวของการลงทุนภาคเอกชนยังไม่เข้มแข็งนัก อย่างไรก็ตาม การลงทุนซื้อรถยนต์เชิงพาณิชย์เพิ่มขึ้นต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 4 ส่วนหนึ่งได้รับผลดีจากการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานของภาครัฐ และรายได้เกษตรกรที่ขยายตัวต่อเนื่อง
สำหรับมูลค่าการนำเข้าสินค้าขยายตัว 22.4% จากระยะเดียวกันปีก่อน และหากไม่รวมทองคำ ขยายตัว 21.4% ตามการขยายตัวของการนำเข้าโดยเฉพาะในหมวดวัตถุดิบและสินค้าขั้นกลางในกลุ่ม 1. เชื้อเพลิงและโลหะที่ขยายตัวทั้งด้านราคาจากราคาสูงที่ขึ้นตามราคาน้ำมันดิบ และด้านปริมาณจากภาวะเศรษฐกิจที่ฟื้นตัว และ 2. ชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์และเครื่องใช้ไฟฟ้า สอดคล้องกับการส่งออกสินค้ากลุ่มดังกล่าวที่ปรับดีขึ้นต่อเนื่อง
ด้านเสถียรภาพเศรษฐกิจ อัตราเงินเฟ้อทั่วไปอยู่ที่ 0.76% ชะลอจาก 1.44% ในเดือนก่อนตามราคาอาหารสดที่ลดลง โดยเฉพาะราคาผักและผลไม้ที่ปริมาณผลผลิตออกสู่ตลาดมาก และราคาน้ำมันขายปลีกในประเทศที่ลดลงตามราคาน้ำมันดิบในตลาดโลก ขณะที่อัตราเงินเฟ้อพื้นฐานทรงตัวตามต้นทุนการผลิตโดยรวมและ อุปสงค์ในประเทศที่ฟื้นตัวอย่างค่อยเป็นค่อยไป สำหรับอัตราการว่างงานที่ปรับฤดูกาลอยู่ที่ 1.2% เพิ่มขึ้นเล็กน้อยจาก 1.1% ในเดือนก่อนจากภาคการผลิตและภาคก่อสร้างเป็นสำคัญ
ด้านดุลบัญชีเดินสะพัดเกินดุลตามดุลการค้าที่เกินดุลจากมูลค่าการส่งออกที่ขยายตัวสูง ขณะที่ดุลบัญชีเงินทุนเคลื่อนย้ายขาดดุลสุทธิจาก 1. การลงทุนในหลักทรัพย์ต่างประเทศของนักลงทุนไทยทั้งในตราสารหนี้และตราสารทุนของกองทุน FIF 2. การเพิ่มเงินฝากในต่างประเทศและชาระคืนเงินกู้ระยะสั้นเพื่อปรับฐานะเงินตราต่างประเทศของสถาบันรับฝากเงิน และ 3. การออกไปลงทุนโดยตรงในต่างประเทศของภาคธุรกิจไทย
นายดอน กล่าวว่า สำหรับภาวะเศรษฐกิจไทยในไตรมาสที่ 1 มีทิศทางขยายตัวดีขึ้น โดยมีแรงขับเคลื่อนหลักมาจากการส่งออกสินค้าที่ขยายตัวอย่างทั่วถึงมากขึ้น การบริโภคภาคเอกชนขยายตัวดีขึ้น โดยเฉพาะหมวดสินค้าคงทน ตามความเชื่อมั่นโดยรวมและรายได้ของครัวเรือนในภาคเกษตรกรรมที่ปรับดีขึ้น ด้านการท่องเที่ยวปรับดีขึ้นจากไตรมาสก่อนที่ได้รับผลกระทบจากการปราบปรามทัวร์ผิดกฎหมาย ขณะที่ภาครัฐยังคงมีบทบาทในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจแม้ชะลอลงบ้างหลังจากเร่งไปในไตรมาสก่อน
อย่างไรก็ดี การลงทุนภาคเอกชนแผ่วลงบ้าง หลังบางธุรกิจได้เร่งลงทุนไปแล้วในช่วงก่อนหน้า ด้านเสถียรภาพเศรษฐกิจ อัตราเงินเฟ้อทั่วไปเร่งตัวจากไตรมาสก่อนตามราคาน้ามันขายปลีกในประเทศเป็นสำคัญ ขณะที่อัตราการว่างงานที่ปรับฤดูกาลเพิ่มขึ้นเล็กน้อยแต่ยังอยู่ในระดับต่ำ ด้านดุลบัญชีเดินสะพัดเกินดุลต่อเนื่องจากดุลการค้าที่เกินดุลตามมูลค่าการส่งออกที่ปรับดีขึ้น