ศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดธนาคารกลางสหรัฐฯ (เฟด) จะมีมติ “คง" อัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ระดับ 0.75-1.00% ในการประชุมรอบสามของปี 2560 ในวันที่ 2-3 พ.ค.ที่จะถึงนี้ เพื่อรอดูความชัดเจนเกี่ยวกับนโยบายเศรษฐกิจของสหรัฐฯ ที่จะทยอยออกมา ปัจจัยเสี่ยงเชิงภูมิรัฐศาสตร์ ตลอดจนประเมินความชัดเจนของโมเมนตัมการฟื้นตัวของเศรษฐกิจสหรัฐฯ หลังจากที่เฟดได้มีการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยครั้งล่าสุดในการประชุมเดือน มี.ค.ที่ผ่านมา
เพราะถึงแม้เครื่องชี้เศรษฐกิจสหรัฐฯ ยังคงสนับสนุนเส้นทางการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยในระยะต่อไป แต่ปัจจัยความไม่แน่นอนที่ยังคงอยู่ในระดับสูง ไม่ว่าจะเป็น ปัจจัยการเมืองในประเทศสหรัฐฯ ตลอดจนความตึงเครียดจากภายนอกที่อาจส่งผลกระทบต่อบรรยากาศการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกและสหรัฐฯ น่าจะเป็นปัจจัยที่ส่งผลให้เฟดยืนดอกเบี้ยไว้ที่ระดับเดิมในระหว่างการประเมินผลกระทบดังกล่าว ก่อนที่จะมีการทยอยปรับเปลี่ยนนโยบายการเงินในระยะต่อไป
โดยเฟดคงรอประเมินความชัดเจนของนโยบายเศรษฐกิจสหรัฐฯ แม้ว่าประธานาธิบดีสหรัฐฯ จะได้มีการเปิดเผยแผนการปรับลดภาษีในวันที่ 26 เม.ย.ที่ผ่านมา ซึ่งระบุถึงการปรับลดภาษีนิติบุคคลจาก 35% เหลือ 15% แต่คงต้องยอมรับว่าแผนการปฎิรูปภาษีดังกล่าวยังขาดรายละเอียดหลายส่วน ไม่ว่าจะเป็น ประเด็นการหารายได้อื่นๆ ของรัฐบาลเพิ่มเติม เพื่อไม่ให้การขาดดุลการคลังของสหรัฐฯ เพิ่มสูงขึ้น จนอาจจะเป็นประเด็นต่อความยั่งยืนทางการคลังในอนาคต ซึ่งสำนักงานงบประมาณแห่งสภาคองเกรสสหรัฐฯ (CBO) เคยมีการประมาณว่ามาตรการการลดภาษีของทรัมป์ อาจส่งผลให้สหรัฐฯ ขาดดุลการคลังเพิ่มขึ้นสูงถึง 10 ล้านล้านดอลลาร์ฯ ในอีก 10 ปีข้างหน้า ซึ่งจะมีผลต่อเนื่องมาที่ระดับหนี้สาธารณะของสหรัฐฯ ทั้งนี้ หากประธานาธิบดีทรัมป์ไม่สามารถที่จะเสนอแผนที่เป็นรูปธรรมในการหารายได้จากส่วนอื่นทดแทน ก็อาจจะต้องมีการประนีประนอมเพื่อปรับเปลี่ยนแผนการลดภาษีไปจากเดิมที่มีการประกาศไว้ในช่วงหาเสียง
สำหรับผลต่อไทยนั้น การคงอัตราดอกเบี้ยของธนาคารกลางสหรัฐฯ (เฟด) ในครั้งนี้ ไม่น่าจะส่งผลกระทบต่อการดำเนินนโยบายการเงินของไทยอย่างมีนัยสำคัญ อย่างไรก็ดี การคงอัตราดอกเบี้ยของเฟดอาจจะส่งผลให้มีเงินทุนบางส่วนยังคงไหลเข้าประเทศตลาดเกิดใหม่ รวมทั้งไทย อันอาจส่งผลให้ค่าเงินของประเทศเหล่านั้น มีกรอบการเคลื่อนไหวที่ผันผวน อย่างไรก็ดี ในระยะต่อไป หากเฟดยังคงส่งสัญญาณถึงทิศทางอัตราดอกเบี้ยขาขึ้นต่อเนื่องของสหรัฐฯ (รวมทั้ง มีโอกาสที่จะได้เห็นการเริ่มปรับลดงบดุล) ก็อาจส่งผลให้อัตราผลตอบแทนพันธบัตรสหรัฐฯ มีการปรับตัวขึ้นอีกครั้ง โดยเฉพาะอัตราผลตอบแทนระยะยาว ซึ่งปัจจัยดังกล่าวคงส่งผ่านมายังอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลไทย และคงเพิ่มความอ่อนไหวต่อประเด็นการเคลื่อนย้ายเงินทุนและความเคลื่อนไหวของค่าเงินบาทด้วยเช่นกัน
ทั้งนี้ ศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดว่า ธนาคารกลางสหรัฐฯ (เฟด) น่าจะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยได้อีก 1-2 ครั้งในช่วงที่เหลือของปีนี้ และอาจมีการส่งสัญญาณเกี่ยวกับจังหวะเวลาการปรับลดขนาดงบดุลในระยะต่อไป โดยเฉพาะหากความเสี่ยงของเศรษฐกิจโลกทยอยลดลง และการฟื้นตัวของเศรษฐกิจสหรัฐฯ ดำเนินอย่างต่อเนื่อง
สำหรับในระยะสั้น คงต้องติดตามสถานการณ์การเมืองในสหรัฐฯ และกระแสการเมืองในภูมิภาคสำคัญของโลกอย่างใกล้ชิด ซึ่งหากปัจจัยดังกล่าวคลายความกังวลลง ก็อาจจะทำให้ความสนใจของตลาดกลับมาที่ประเด็นความเป็นไปได้ในการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยในการประชุมเฟดรอบเดือน มิ.ย. 60