นายเบญจรงค์ สุวรรณคีรี หัวหน้านักวิเคราะห์ ศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจทีเอ็มบี ธนาคารทหารไทย (TMB) เปิดเผยว่า ศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจทีเอ็มบี มีโอกาสปรับอัตราการขยายตัวของเศรษฐกิจไทย (GDP) ในปีนี้เพิ่มขึ้นในช่วงเดือนมิถุนายนนี้ จากเดิมที่คาดว่า GDP ปีนี้จะขยายตัวที่ 3.3% เนื่องจากตัวเลขการส่งออกในไตรมาส 1/60 ที่ผ่านมาขยายตัวดีกว่าคาด โดยคาดว่าตัวเลขการส่งออกในปีนี้มีโอกาสขยายตัวได้ 2-5% จากเดิมที่คาดโต 2%
ขณะที่การเบิกจ่ายของภาครัฐและการลงทุนโครงการขนาดใหญ่ คาดว่าเริ่มเห็นเม็ดเงินที่ออกมาชัดเจนในช่วงครึ่งปีหลังเป็นต้นไป โดยจะส่งผลบวกต่อความต้องการสินเชื่อเอสเอ็มอีที่เกี่ยวข้องกับการก่อสร้างโครงการต่างๆ ทำให้คาดว่าสินเชื่อเอสเอ็มอีของระบบขยายสามารถขยายตัวได้ 5.7% สูงขึ้นจากปีก่อนที่ขยายตัว 1.4%
ส่วนสินเชื่อเอสเอ็มอีของระบบในไตรมาส 1/60 ขยายตัวได้ 2-3% โดยส่วนใหญ่เป็นสินเชื่อเพื่อการเสริมสภาพคล่อง (Working Cap) ที่เกี่ยวข้องกับธุรกิจอาหาร เครื่องดื่ม ค้าปลีก และท่องเที่ยว โดยคาดว่าในช่วงครึ่งปีหลังธุรกิจเอสเอ็มอีจะมีการขอสินเชื่อมากขึ้น เพื่อการลงทุนต่างๆ หลังโครงการภาครัฐเริ่มเดินหน้า ประกอบกับในช่วงไตรมาส 3 จะเป็นไฮซีซั่นของการส่งออก และไตรมาส 4 เป็นไฮซีซั่นของการบริโภค รวมถึงเป็นช่วงการเบิกจ่ายภาครัฐ ที่ทำให้ธุรกิจเอสเอ็มอีมีสภาพคล่องเพิ่มขึ้น ซึ่งการขอสินเชื่อประเภท Working Cap จะมีการใช้น้อยลงในช่วงครึ่งปีหลัง
ด้านสัดส่วนหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (NPL) ของกลุ่มธุรกิจเอสเอ็มอีในระบบปีนี้คาดว่าจะอยู่ที่ระดับ 3.5-4% โดยมองว่าจะขึ้นไปแตะระดับสูงสุดในไตรมาสช่วง 2/60 และหลังจากนั้นจะทรงตัว หรือทยอยปรับตัวลดลง หากภาวะเศรษฐกิจกลับมาฟื้นตัวอย่างชัดเจน ประกอบกับการบริหารจัดการ NPL ของแต่ละธนาคาร ซึ่งจะทำให้ NPL มีแนวโน้มที่ลดลง
นอกจากนี้การที่ภาครัฐมีมาตรการอัดฉีดเม็ดเงินช่วยกระตุ้นเอสเอ็มอีวงเงิน 3.7 หมื่นล้านบาท โดยผ่านการให้สินเชื่อของธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย และสำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.) เป็นมาตรการที่ดีในการช่วยสนับสนุนธุรกิจเอสเอ็มอีให้มีโอกาสมากขึ้น โดยคาดว่าเม็ดเงินจากมาตรการดังกล่าวจะเข้ามาในระบบในช่วงปลายไตรมาส 2/60 เป็นต้นไป ซึ่งจะช่วยให้เอสเอ็มอีมีสภาพคล่องที่สูงขึ้นได้ในระดับหนึ่ง
“นอกจากมาตรการกระตุ้นเอสเอ็มอีแล้ว สิ่งที่ต้องการเห็นมากกว่านี้ คือ การกลับมาลงทุนของภาคเอกชน ซึ่งแบ่งเป็นภาคก่อสร้าง และภาคอสังหาฯราว 20% โดยจะสอดคล้องไปกับการลงทุนของภาครัฐ และสัดส่วนอีก 80% เป็นการลงทุนเครื่องจักร ซึ่งจะสอดคล้องไปกับนโยบายไทยแลนด์ 4.0 โดยสิ่งที่ภาคเอกชนคาดหวังให้รัฐบาลเป็นการที่ช่วยพัฒนากระบวนการดำเนินงานระหว่างภาครัฐและเอกชนให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น ส่วนมาตรการภาษีของไทยในปัจจุบันสามารถแข่งขันกับประเทศอื่นๆได้แล้ว"นายเบญจรงค์ กล่าว