(เพิ่มเติม) คลังเล็งแจกเงินผู้มีรายได้ต่ำกว่า 3 หมื่นบาท/ปีผ่านบัตรสวัสดิการ,สั่งแบงก์รัฐหามาตรการช่วยสร้างงาน

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday May 3, 2017 17:56 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า รัฐบาลโดยกระทรวงการคลังเตรียมพิจารณาการให้เงินช่วยเหลือประชาชนที่ลงทะเบียนผู้มีรายได้น้อยที่มีรายได้ต่ำกว่าเส้นความยากจน ซึ่งสำนักงานสถิติแห่งชาติ ระบุเส้นความยากจนคือต้องมีรายได้ต่ำกว่า 30,000 บาท/ปี ซึ่งขณะนี้กระทรวงการคลังกำลังอยู่ระหว่างการพิจารณารายละเอียด เพื่อให้ผู้มีรายได้น้อยในกลุ่มนี้สามารถดำรงชีวิตอยู่ได้

ในขณะที่การช่วยเหลือผู้มีรายได้น้อยที่มีรายได้ต่ำกว่า 1 แสนบาท/ปี ก็จะเป็นการช่วยเหลือในรูปแบบของการให้สวัสดิการต่างๆ โดยได้กำชับให้จัดกลุ่มผู้มีรายได้น้อยเพื่อจัดสรรการรับสวัสดิการที่แตกต่างกัน ทั้งในกรุงเทพฯ และต่างจังหวัด เนื่องจากมีการใช้ชีวิตความเป็นอยู่ที่ไม่เหมือนกัน

ล่าสุด จากการที่รัฐบาลเปิดให้ประชาชนผู้มีรายได้น้อยมาลงทะเบียนเพื่อขอรับสวัสดิการแห่งรัฐ ปี 2560 พบว่ามีประชาชนมาลงทะเบียนแล้ว 9.8 ล้านคน ซึ่งคาดว่าเมื่อครบกำหนดการเปิดให้ลงทะเบียนในวันที่ 15 พ.ค.นี้ จะมีประชาชนมาลงทะเบียนมากกว่า 10 ล้านคนอย่างแน่นอน หีริออาจจะสูงถึง 15 ล้านคน

พร้อมกันนี้ นายสมคิด ยังได้สั่งการให้ธนาคารเฉพาะกิจของรัฐ ได้แก่ ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.), ธนาคารออมสิน, ธนาคารอาคารสงเคราะห์ (ธอส.) และธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย (ธพว.) รวมทั้งกระทรวงแรงงานไปหามาตรการสร้างงานเพื่อช่วยเหลือผู้มีรายได้น้อยที่เป็นลูกค้าของแต่ละธนาคาร ซึ่งจะมีการติดตามความคืบหน้าเป็นประจำทุกเดือน

ด้านนายอภิศักดิ์ ตันติวรวงศ์ รมว.คลัง กล่าวว่า การแจกเงินให้ผู้มีรายได้น้อยเป็นแนวคิดที่อยู่ระหว่างพิจารณา เพราะคนยากจนที่มีรายได้ต่ำกว่า 3 หมื่นบาทต่อปี ไม่สามารถดำรงชีพอยู่ได้ในชีวิตประจำวัน เนื่องจากมีรายได้น้อยเกินไป ซึ่งรัฐบาลจำเป็นต้องเข้าไปช่วยดูแล โดยการแจกเงินนั้นมีแนวคิดเบื้องต้นว่าจะเติมวงเงินเข้าในบัตรสวัสดิการทุกเดือนเพื่อให้ใช้ดำรงชีพ แต่ผลสรุปที่ชัดเจนจะเป็นอย่างไรนั้น ต้องรอดูจากผลการลงทะเบียนและงบประมาณที่ต้องใช้ดำเนินการก่อน

อย่างไรก็ตาม ผู้ที่มีสิทธิได้รับเงินช่วยเหลือดังกล่าว จะต้องเป็นผู้ที่มีรายได้ต่ำกว่า 30,000 บาท/ปี และไม่สามารถดำรงชีพได้จริง ส่วนกรณีที่มีรายได้น้อยแต่มีคนอุปถัมป์ เช่น นักเรียน นักศึกษา จะไม่ได้รับการช่วยเหลือ เพราะมีผู้ปกครองดูแลเรื่องค่าใช้จ่ายอยู่แล้ว โดยตามข้อมูลจากสำนักงานสถิติแห่งชาติ สำรวจพบว่ามีจำนวนผู้ที่มีรายได้ต่ำกว่า 30,000 บาท/ปี อยู่ประมาณ 4 ล้านคน ซึ่งคาดว่าจะเริ่มให้ได้ตั้งแต่เดือน ต.ค.60

ขณะที่สวัสดิการที่จะให้กับผู้ลงทะเบียนผู้มีรายได้น้อยทั้งหมดยังคงเหมือนเดิม คือ รถเมล์ รถไฟฟรี ค่าน้ำประปา ค่าไฟฟ้า ค่าก๊าซหุงต้ม และให้วงเงินซื้อปัจจัย 4 ในร้านธงฟ้าประชารัฐ ซึ่งที่ผ่านมาใช้งบส่วนนี้ปีละ 3 หมื่นล้านบาท แต่เมื่อรวมการช่วยเหลือแจกเงินอาจจะต้องใช้งบสูงขึ้น แต่คงไม่เป็นปัญหา เนื่องจากในปีงบประมาณรายจ่าย 61 มีการกู้ขาดดุลเพิ่ม 4.5 แสนล้านบาท ซึ่งเพียงพอที่จะจัดสรรงบบางส่วนมาเพิ่มเติมการให้สวัสดิการผู้มีรายได้น้อย

รมว.คลัง กล่าวว่า จากการประชุมกับนายสมชัย สัจจพงษ์ ปลัดกระทรวงการคลัง เพื่อหารือเรื่องการเพิ่มรายได้เกษตรกรอย่างยั่งยืน ได้วางกรอบมาตรการที่ออกมาว่าจะต้องสนับสนุนแนวทางของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ในการลดต้นทุนการผลิต เพิ่มคุณภาพ เพิ่มมูลค่าให้กับสินค้า รวมถึงลดปริมาณปลูกพืชส่วนเกินและปลูกพืชที่มีรายได้มากกว่ามาทดแทน ทั้งนี้จะไม่ใช่มาตรการจำนำข้าวอีกต่อไป เนื่องจากมีปัญหาและรั่วไหลมาก โดยขณะนี้ได้ให้ ธ.ก.ส.ไปหามาตรการช่วยเหลือเกษตรกรเพิ่มเติมแล้ว


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ