นายชาญวิทย์ นาคบุรี รองผู้อำนวยการสำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (สคร.) ในฐานะโฆษก สคร. เปิดเผยว่า ในเดือนเมษายน 2560 มีเป้าหมายการจัดเก็บเงินรายได้แผ่นดินจำนวน 20,262 ล้านบาท สคร. จัดเก็บรายได้แผ่นดินได้จำนวน 26,515 ล้านบาท ส่งผลให้เงินนำส่งรายได้แผ่นดินสะสม 7 เดือนแรกของปีงบประมาณ 2560 รวมทั้งสิ้นเป็นจำนวน 96,304 ล้านบาท จากเป้าหมายการจัดเก็บรายได้แผ่นดินสะสมจำนวน 87,955 ล้านบาท สูงกว่าเป้าหมายจำนวน 8,349 ล้านบาท หรือคิดเป็น 74% ของเป้าหมายตามเอกสารงบประมาณ 2560 ที่ 131,000 ล้านบาท
โดยมีรัฐวิสาหกิจที่มีการนำส่งรายได้แผ่นดินเกินเป้าหมาย ได้แก่ การไฟฟ้านครหลวง, สำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาล, โรงงานยาสูบ กระทรวงการคลัง, การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค และธนาคารออมสิน และมีรัฐวิสาหกิจที่นำส่งรายได้แผ่นดินต่ำกว่าเป้าหมาย ได้แก่ การประปาส่วนภูมิภาค, บมจ.ท่าอากาศยานไทย (AOT) และธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย (EXIM Bank)
โฆษก สคร. มั่นใจว่าปีนี้จะจัดเก็บรายได้แผ่นดินเป็นไปตามเป้าหมายตามเอกสารงบประมาณ 2560 พร้อมกันนี้ สคร. จะเร่งเพิ่มประสิทธิการจัดเก็บรายได้รัฐวิสาหกิจ ซึ่งจะส่งผลในการช่วยรักษาเสถียรภาพการคลังให้แก่ประเทศด้วยอีกทางหนึ่ง
ส่วนภาพรวมการเบิกจ่ายงบลงทุนของรัฐวิสาหกิจในช่วง 6 เดือนแรกของปีงบประมาณ 2560 (ต.ค.59-มี.ค.60) อยู่ที่ 6.35 หมื่นล้านบาท หรือคิดเป็น 20% ต่ำกว่าเป้าหมายที่ตั้งไว้ที่ 7.81 หมื่นล้านบาท จากงบลงทุนทั้งหมดที่ 3.42 แสนล้านบาท ขณะที่ภาพรวมการเบิกจ่ายงบประมาณในเดือน มี.ค.60 อยู่ที่ 81% ของแผนการลงทุนของรัฐวิสาหกิจทั้งหมด โดยในส่วนนี้แบ่งเป็น รัฐวิสาหกิจที่คิดตามปีงบประมาณ จำนวน 34 แห่ง สามารถเบิกจ่ายได้แล้ว 87% ตามแผนการลงทุน และรัฐวิสาหกิจที่คิดตามปีปฏิทิน จำนวน 11 แห่ง สามารถเบิกจ่ายได้แล้ว 75% ของแผนการลงทุน
ทั้งนี้ ยอมรับว่ายังมีรัฐวิสาหกิจอีก 2 แห่งที่ต้องมีการติดตามและเร่งรัดการเบิกจ่ายอย่างใกล้ชิด ได้แก่ การรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) โดยตามแผนเดิมถึงเดือน มี.ค.60 จะต้องเบิกจ่ายสะสมให้ได้ 1.74 หมื่นล้านบาท แต่หน่วยงานทำได้เพียง 1.18 หมื่นล้านบาท ต่ำกว่าเป้าหมาย 5 พันกว่าล้านบาท เนื่องจากการชะลอแผนการลงทุนในโครงการรถไฟทางคู่ในช่วงที่ผ่านมา และมีบางโครงการที่เบิกจ่ายได้ล่าช้า ได้แก่ โครงการระบบขนส่งมวลชนทางรางในพื้นที่กรุงเทพฯ และปริมณฑล ช่วงบางซื่อ-รังสิต และโครงการรถไฟทางคู่ จิระ-ขอนแก่น ส่วน บมจ.การบินไทย (THAI) ที่ในเดือน มี.ค.ที่ผ่านมาเบิกจ่ายได้ต่ำกว่าเป้าหมาย เนื่องจากกระบวนการตรวจรับเครื่องบินมีความล่าช้ากว่ากำหนด
"ได้ปรับลดวงเงินลงทุนรวมของรัฐวิสาหกิจในปีงบประมาณ 2560 ลงเหลือ 3.42 แสนล้านบาท สำหรับรัฐวิสาหกิจ 45 แห่ง จากเดิมที่ 3.64 แสนล้านบาท หรือลดลง 2.2 หมื่นล้านบาท เนื่องจากติดขัดเกี่ยวกับแผนการดำเนินงานของ รฟท. และการบินไทยบ้าง ซึ่งจากวงเงินลงทุนรวมดังกล่าว แบ่งเป็น วงเงินลงทุนของรัฐวิสาหกิจที่คิดตามปีปฏิทิน 1.96 แสนล้านบาท และรัฐวิสาหกิจที่คิดตามปีงบประมาณ อีกราว 1.4-1.5 แสนล้านบาท โดยปีนี้ตั้งเป้าหมายว่ารัฐวิสาหกิจต้องเบิกจ่ายให้ได้ 95% จากงบลงทุนทั้งหมด ซึ่งจะต้องติดตามอย่างใกล้ชิด" นายชาญวิทย์ กล่าว