นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี กล่าวถึงผลการเลือกตั้งประธานาธิบดีฝรั่งเศสซึ่งนายเอ็มมานูเอล มาครง อายุ 39 ปี จากพรรคออง มาร์ช ชนะการเลือกตั้งอย่างไม่เป็นทางการว่า สามารถช่วยลดความหวาดระแวงและความห่วงกังวลในสหภาพยุโรปลง แต่สำหรับผลต่อเศรษฐกิจไทยนั้น หลักๆ ยังขึ้นอยู่กับปัจจัยในประเทศและเศรษฐกิจเอเชีย เพราะขณะนี้การเติบโตของโลกขณะนี้มีเอเชียเป็นแรงขับเคลื่อนที่สำคัญที่สุด
"ตอนนี้สำคัญที่สุดคือเอเชีย แต่ถ้ายุโรปแข็งแรงขึ้นก็ย่อมส่งผลดีต่อเศรษฐกิจและการค้าโลก ซึ่งจะส่งผลถึงการส่งออกของไทยด้วย"นายสมคิด กล่าว
ด้านนายกอบศักดิ์ ภูตระกูล ผู้ช่วย รมต.ประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวถึงกรณีนี้ว่า ข่าวการเลือกตั้งของฝรั่งเศสถือเป็นข่าวดีของประเทศไทย เพราะที่ผ่านมามีความกังวลว่าการเลือกตั้งจะพลิกผัน จะทำให้ตลาดการเงินโลกผันผวน และการที่นายมาครงชนะการเลือกตั้ง มีผลดีอย่างมากต่อประเทศไทยในเรื่องของสหภาพยุโรปจะมีเสถียรภาพมากขึ้นกว่าเดิม มรสุมที่เกิดขึ้นในยุโรปคลี่คลายลงแล้วกลายเป็นฟ้าใสอีกรอบ การค้าการขายการติดต่อธุรกิจกับยุโรปในช่วงหลังจากนี้น่าจะเป็นไปในทางที่ดีขึ้น
"ยุโรป แกนหลักคือฝรั่งเศสและเยอรมนี แต่เยอรมนีคงไม่ออกจากยุโรป ฝรั่งเศสก็คงไม่คิดจะออกอีกหลายปี และทำให้ปัญหา Brexit คลี่คลายลงไปเยอะ ซึ่งถ้าประเทศใหญ่ๆยังอยู่ ประเทศเล็กๆที่เหลือก็คงไม่อยากออกไป แม้ว่าจะมีบางประเทศอยากจะทำตามประเทศอังกฤษ แต่มองว่าเรื่องนี้ไม่ใช่เกิดขึ้นได้ง่ายๆ ต้องมีการเตรียมการกระบวนการเรื่องออกเสียงประชามติว่าจะอยู่หรือจะไปจากยุโรปต้องมีการเตรียมหลายปี ต้องมีการหาเสียง ต้องชักชวนประชาชน....สหภาพยุโรป เห็นความจริงว่าถ้าทำตัวไม่ดีอาจจะมีคนหย่าร้างจากเราได้ ซึ่งมีนัยสำคัญมาก เนื่องจากรัฐบาลกลางยุโรปที่บรัสเซลส์กำหนดนโยบายกำหนดกฎหมายและบังคับขู่เข็ญให้ประเทศสมาชิกทำตามโดยไม่สนใจว่าะเป็นภาระต่อประเทศสมาชิกหรือไม่ พออังกฤษออกไป รัฐบาลกลางยุโรปเริ่มรู้ตัวเองแล้วว่าถ้าทำไม่ดีอาจจะมีคนหนีคนที่ 2 คนที่ 3 ซึ่งเชื่อว่ารัฐบาลกลางยุโรปจะทำตัวดีขึ้นจากเดิมเยอะเลย พยายามเอาใจประเทศเล็กประเทศน้อย ไม่ลุแก่อำนาจเหมือนเมื่อก่อน ออกกฎหมายเป็นพันฉบับให้ประเทศสมาชิกทำตาม"
สำหรับมุมมองต่อเศรษฐกิจโลกในช่วงหลังจากนี้ นายกอบศักดิ์ กล่าวว่า เศรษฐกิจโลกมีทิศทางดีขึ้น ดูอย่างสหรัฐอเมริกาที่เริ่มเข้าสู่กระบวนการการฟื้นตัวแล้ว การว่างงานต่ำเป็นพิเศษอย่างที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อนที่ 4.4% จีนเองก็ค่อยๆปรับตัวดีขึ้น ญี่ปุ่นกับยุโรปอาจจะต้องใช้เวลาอีกสักนิดนึงแต่คิดว่าโดยรวมไม่น่าจะเกิดวิกฤตอะไรขึ้นอีกในโลก เศรษฐกิจโลกน่าจะพ้นจุดต่ำสุด น่าจะเป็นช่วงค่อยๆฟื้นตัว แต่บังเอิญมันค่อยๆฟื้น คนก็รอดูว่าเมื่อไหร่จะคึกคัก แต่เชื่อว่าไม่น่าจะมีวิกฤตอะไรเกิดขึ้นกับเศรษฐกิจโลก
"คิดง่ายๆ เราไม่เคยเห็นส่งออกไทยโต 9% ติดต่อกัน 3-4 เดือนมาเป็นเวลานานแล้ว เพราะฉะนั้นการที่ส่งออกโตได้ 9% ติดต่อกัน 3-4 เดือนมันสะท้อนอะไรหลายๆอย่าง แล้วพอไปดูรายละเอียดตัวเลขพบว่าสินค้าหลากหลายชนิดโตดี ไม่ได้ดีเฉพาะหมวดใดหมวดหนึ่งแต่ดีทุกหมวด ขณะเดียวกันเกือบทุกประเทศก็ขยายตัวดี ยกเว้นตะวันออกกลางที่มีปัญหาเรื่องราคาน้ำมัน ซึ่งสะท้อนว่าการฟื้นตัวของการส่งออกรอบนี้เป็นการฟื้นตัวอย่างทั่วถึง โตเฉลี่ยๆกันไป 8..9...10% นี่คือสัญญาณที่ดีของการฟื้นตัว"
ทั้งนี้คาดว่า การส่งออกทั้งปี 5% น่าจะเป็นไปได้ ส่วนจีดีพีที่ 3.5-4% เป็นเป้าหมายที่เหมาะสม เดี๋ยวรอกลางปีผ่านไป ค่อยกลับมาทบทวนเป้าหมายการเจริญเติบโตอีกที
"ถ้าดูอย่างนี้ผมสบายใจ เพราะหมายความว่าเครื่องยนต์การส่งออกจะมาช่วยให้เศรษฐกิจไทยขยายตัวได้ จากที่ไม่เคยช่วยมาหลายปี ซึ่งตอนนี้ก็จะมีทั้งการส่งออก การบริโภคภาครัฐ การบริโภคของเอกชนก็ค่อยๆขยับตัวดีขึ้น หมายความว่าเศรษฐกิจไทยที่จะขยายตัว 3.5-4% มีความเป็นไปได้สูง"
ส่วนค่าเงินบาท ต้องทำใจเพราะเป็นปัญหาจากการเก็งกำไรค่าเงินดอลลาร์ว่าเฟดจะขึ้นดอกเบี้ยมากน้อยแค่ไหน แต่ส่วนตัวมองว่าถ้าเศรษฐกิจอเมริกาดีลักษณะนี้ แล้วตัวโดนัลด์ ทรัมป์ เริ่มขับเคลื่อนนโยบายผ่านรัฐสภาได้ อย่างเช่น อเมริกันเฮลธ์แคร์แม้จะผ่านสภาแบบฉิวเฉียดก็ตาม ซึ่งความสามารถในการผ่านกฎหมายเป็นเรื่องสำคัญ แปลว่าสิ่งที่คนรอทั้งเรื่องภาษี เรื่องของโครงการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานอาจจะมา ซึ่งถ้ามาบวกเศรษฐกิจที่ฟื้นตัว การจ้างแรงงานที่ตึงตัว การขึ้นดอกเบี้ยอาจจะขึ้นได้เร็วกว่าที่คาด จากที่คาดว่าจะขึ้น 3 ครั้งในปีนี้ ก็อาจจะขึ้น 4 ครั้ง คือทุก 3 เดือน ซึ่งถ้าเป็นแบบนี้ตลาดค่าเงินก็จะปรับตัวดอลลาร์ก็จะแข็งอีกรอบ เงินบาทก็จะอ่อนตัว
"เงินบาทแข็งค่าในช่วงนี้เป็นแค่ชั่วคราว เดี๋ยวถ้าเฟดขึ้นดอกเบี้ยถี่กว่าที่คิด ดอลลาร์ก็จะแข็งและเงินบาทก็จะอ่อนค่าในช่วงปลายปี โดยคาดว่าเงินบาทอาจจะอ่อนค่าไปที่ 35-36 บาท/ดอลลาร์"