นายอนันต์ สุวรรณรัตน์ อธิบดีกรมการข้าว กล่าวว่า ปัจจุบันคนไทยประสบปัญหาโรคอ้วนตั้งแต่เป็นวัยรุ่น เนื่องจากพฤติกรรมการบริโภคอาหารและสภาพแวดล้อมสังคมที่เปลี่ยนไป โดยผู้ที่เป็นโรคอ้วนมีความเสี่ยงต่อการเจ็บป่วยจากโรคอื่นที่แทรกซ้อนได้ง่ายและเสียชีวิตก่อนวัยอันควร วัยรุ่นไทยจึงต้องหันมาใส่ใจการเลือกรับประทานอาหารควบคู่กับการออกกำลังกาย โดยเฉพาะการรู้จักเลือกรับประทานข้าวให้เหมาะสมกับร่างกายเป็นสิ่งสำคัญ ซึ่งกรมการข้าวได้วิจัยพันธุ์ข้าวใหม่ๆ เพื่อเป็นทางเลือกให้กับชาวนาและผู้บริโภคอย่างหลากหลาย
ล่าสุดกรมการข้าวร่วมกับคณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล ศึกษาดัชนีน้ำตาลในข้าวขัดขาวที่นิยมเพาะปลูกบริโภคในปัจจุบันจำนวน 120 พันธุ์ โดยนำมาวิเคราะห์หาปริมาณน้ำตาลกลูโคสที่แตกตัวเร็วในข้าวสารซึ่งจะมีผลต่อปริมาณน้ำตาลในเลือด จนได้กลุ่มพันธุ์ข้าวที่นิยมบริโภคทั้งข้าวเจ้าและข้าวเหนียว ได้แก่ ข้าวดอกมะลิ 105, ข้าวเจ๊กเชย, ปทุมธานี 1, กข6, กข43 และพิษณุโลก 80 แล้ววิเคราะห์ปริมาณน้ำตาลในเลือดหลังบริโภค
"ตัวอย่างข้าวของผู้เข้ารับการทดลองในรูปแบบข้าวขัดขาว พบว่า ข้าวพันธุ์ กข43 มีค่าดัชนีน้ำตาล 57.5 ต่ำกว่าข้าวพันธุ์อื่นๆ รองลงมาคือพันธุ์ข้าวพิษณุโลก 80 มีค่าดัชนีน้ำตาล 59.5 เมื่อรับประทานข้าวชนิดนี้แล้วย่อยออกมาร่างกายจะได้น้ำตาลน้อยแต่รู้สึกอิ่มได้นาน เหมาะสำหรับวัยรุ่นที่ต้องการควบคุมน้ำหนัก ทานแล้วไม่อ้วน และที่สำคัญคือบริโภคได้ง่ายกว่าข้าวกล้อง" นายอนันต์ กล่าว
สำหรับข้าวพันธุ์ กข43 เป็นข้าวที่พัฒนาพันธุ์ระหว่างพันธุ์ข้าวเจ้าหอมสุพรรณบุรี และสุพรรณบุรี 1 ค่อนข้างต้านทานต่อโรคไหม้และเพลี้ยกระโดดสีน้ำตาล รับรองพันธุ์เมื่อวันที่ 17 กันยายน 2552 ปัจจุบันนี้ปลูกมากในพื้นที่จังหวัดสุพรรณบุรีและชัยนาท ด้วยคุณสมบัติเป็นข้าวเจ้าที่หอม นุ่ม น่ารับประทานและมีดัชนีน้ำตาลต่ำกว่าข้าวพันธุ์อื่นๆ กรมการข้าวจึงมีแผนจะผลักดันพื้นที่ปลูกข้าว กข43 เข้าโครงการนาแปลงใหญ่ภายใต้แผนการผลิตและการตลาดข้าวครบวงจร เพื่อรองรับความต้องการของตลาดในอนาคต