โดยปัจจุบันกระทรวงอยู่ระหว่างการเปิดรับฟังความคิดเห็นจากประชาชน เกี่ยวกับกฎเกณฑ์การเปิดประมูลว่าแต่ละแหล่งจะเข้าเกณฑ์ระบบใด ใน 3 รูปแบบ ได้แก่ ระบบสัมปทาน ,ระบบแบ่งปันผลผลิต (PSC) และระบบการจ้างผลิต (SC) ซึ่งคาดว่าจะใช้ระยะเวลา 15 วัน หลังจากนั้นจะเสนอคณะรัฐมนตรี (ครม.) ภายในเดือนมิ.ย.นี้
ส่วนความคืบหน้าการจัดตั้งบรรษัทน้ำมันแห่งชาติ (NOC) ตามที่สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ได้เขียนข้อสังเกตไว้ในกฎหมายปิโตรเลียมนั้น ขณะนี้สนช. ได้ส่งเรื่องให้ครม.แล้ว ซึ่งกระทรวงพลังงานจะได้เตรียมเสนอแนวทางการจัดตั้งคณะทำงาน เพื่อศึกษาการตั้ง NOC ใน 2-3 แนวทาง และเสนอกลับไปยังครม.อีกครั้ง คาดว่าจะมีความชัดเจนภายใน 1 เดือน
อนึ่ง เมื่อเร็ว ๆ นี้ เครือข่ายประชาชนปฏิรูปพลังงานไทย (คปพ.) ยื่นคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญให้วินิจฉัยว่าการทูลเกล้าฯ พ.ร.บ. ปิโตรเลียม (ฉบับที่..) พ.ศ. ...ที่ผ่าน สนช.เมื่อ 30 มี.ค.ขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญฯ มาตรา 77 วรรคสอง และมาตราอื่น ๆ หรือไม่ หลังพบว่าไม่ได้ผ่านกระบวนการรับฟังความเห็นอย่างรอบด้าน