สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) หรือสภาพัฒน์ เผยตัวเลขผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (GDP) ไตรมาสแรก ปี 2560 อยู่ที่ 3.3% จากตลาดคาดโต 3-3.2% และเร่งตัวขึ้นเมื่อเทียบกับไตรมาส 4/59 ที่ขยายตัว 3.0% โดยเป็นการขยายตัวที่นำโดยภาคเศรษฐกิจเอกชน และกระจายตัวเป็นวงกว้างมากขึ้น
โดยด้านการใช้จ่าย มีปัจจัยสนับสนุนจากการขยายตัวเร่งขึ้นของการใช้จ่ายภาคครัวเรือน การส่งออกสินค้าและบริการ และการขยายตัวต่อเนื่องของการลงทุนรวม ในขณะที่การใช้จ่ายของรัฐบาลชะลอตัวลง โดยการใช้จ่ายภาคครัวเรือนขยายตัว 3.2% เร่งขึ้นจาก 2.5% ในไตรมาสก่อนหน้า ตามการขยายตัวของการใช้จ่ายบริโภคสินค้าคงทนและรายจ่ายภาคบริการ รวมท้งการปรับตัวดีขึ้นของฐานรายได้ภาคเกษตร สอดคล้องกับการขยายตัวของปริมาณการจำหน่ายรถยนต์นั่ง รถจักรยานยนต์ ขณะที่การใช้จ่ายเพื่อการอุปโภคของรัฐบาล เพิ่มขึ้น 0.2% เทียบกับไตรมาสก่อนหน้าที่เพิ่มขึ้น 1.8%
ด้านการลงทุนรวม ขยายตัว 1.7% โดยการลงทุนภาครัฐขยายตัว 9.7% เร่งขึ้นจากไตรมาสก่อนหน้าซึ่งอยู่ที่ 8.6% เป็นผลจากการลงทุนของรัฐวิสาหกิจที่ขยายตัว 17% และการลงทุนของรัฐบาลที่ขยายตัว 5.3% ส่วนการลงทุนภาคเอกชน ลดลง 1.1% สอดคล้องกับอัตราการใช้กำลังการผลิตภาคอุตสาหกรรมที่อยู่ในระดับต่ำ และการลดลงของมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจในระดับเศรษฐกิจฐานราก
ด้านภาคต่างประเทศ การส่งออกสินค้าในไตรมาส 1/60 เพิ่มขึ้น 6.6% เร่งตัวขึ้นจากไตรมาสก่อนหน้าที่ขยายตัว 3.6% ซึ่งถือเป็นการขยายตัวสูงสุดในรอบ 17 ไตรมาส ตามการฟื้นตัวของเศรษฐกิจประเทศคู่ค้าหลัก และการปรับขึ้นของดัชนีราคาสินค้าในตลาดโลก ขณะที่การนำเข้า เพิ่มขึ้น 15.9% เป็นผลจากการเพิ่มขึ้นของราคานำเข้าและปริมาณการนำเข้าสินค้าวัตถุดิบ สินค้าทุน และสินค้าอุปโภคบริโภค สอดคล้องกับการปรับตัวดีขึ้นของการส่งออก และการขยายตัวต่อเนื่องของการใช้จ่ายภาคครัวเรือ ส่วนด้านการผลิต การผลิตสาขาเกษตรกรรม สาขาค้าส่งค้าปลีก สาขาขนส่งและคมนาคม และสาขาโรงแรมและภัตตาคารเร่งตัวขึ้น
นายปรเมธี วิมลศิริ เลขาธิการสภาพัฒน์ กล่าวว่า การลงทุนภาคเอกชนไตรมาส 1 ที่ลดลง 1.1% นั้น มองว่าในส่วนของการลงทุนอุตสาหกรรมหลักอาจต้องใช้เวลาอีกสักระยะในการฟื้นตัว แต่การลงทุนในอุตสาหกรรมใหม่ที่รัฐบาลพยายามให้การสนับสนุนนั้นยังมีการทยอยลงทุนอย่างต่อเนื่องจากปีก่อน และเชื่อว่าจะยังมีการส่งเสริมการลงทุนต่อเนื่องมาในปีนี้ ส่วนการลงทุนของภาคเอกชนในโครงการเขตเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (EEC) นั้น อาจจะยังไม่สามารถเห็นผลของการลงทุนที่แท้จริงได้ในระยะอันใกล้นี้ ซึ่งคงต้องให้เวลาภาคเอกชนด้วย
ขณะที่ภาคอสังหาริมทรัพย์ ซึ่งสะท้อนสัดส่วนการลงทุนของภาคเอกชนด้วยนั้น ก็ยังไม่ฟื้นตัวดีเช่นกัน และคงต้องใช้เวลาอีกระยะ เพื่อให้มีเงินเข้ามาหมุนเวียนในด้านการปล่อยสินเชื่อเพิ่มขึ้น ซึ่งทั้งปีนี้การลงทุนภาคเอกชนยังมีโอกาสฟื้นกลับมาเป็นบวกได้ และน่าจะเห็นได้ชัดเจนในช่วงครึ่งปีหลังนี้
"ตัวเลขการลงทุนเอกชนไตรมาสนี้ -1.1% นั้น ลดลงจากไตรมาส 1/59 ที่โต 2.4% เพราะตอนนั้นมีงบประมาณกระตุ้นเศรษฐกิจตำบลละ 5 ล้าน แต่ถ้าหักตัวนี้ออกไตรมาส 1 ปีนี้อาจอยู่ที่ 0 หรือ -0.1% ไม่ลบมาก ทั้งนี้การลงทุนภาคเอกชนยังช้ากว่าการฟื้นตัวของปัจจัยสนับสนุนอื่นๆ เพราะการลงทุนภาคอุตสาหกรรมในช่วงที่ส่งออกติดลบนานทำให้มีกำลังการผลิตส่วนเกินอยู่ แต่ตอนนี้อัตราการใช้กำลังการผลิตอยู่ที่ 63% คงต้องรออีกระยะให้การส่งออกเร่งตัวขึ้น และถ้ามีการใช้อัตรากำลังการผลิตขึ้นไปถึง 65-70% ก็จะเริ่มมีการลงทุนเครื่องมือเครื่องจักร ทดแทนของเดิม" นายปรเมธี กล่าว
สำหรับการขยายตัวของเศรษฐกิจไทยปี 60 คาดว่า GDP จะขยายตัว 3.3-3.8% โดย สศช.ได้ปรับกรอบให้แคบลงจากการคาดการณ์ในคราวก่อนที่ระดับ 3-4% โดยยังคงค่ากลางไว้เท่าเดิมที่ 3.5% เนื่องจาก สศช.มีความมั่นใจต่อคาดการณ์ดังกล่าวมากขึ้น โดยสมมติฐานส่วนใหญ่ยังคงอยู่เท่าเดิม คือ เศรษฐกิจโลกขยายตัว 3.3% ปริมาณการค้าโลกเติบโต 3.6% ราคาน้ำมันดิบในตลาดโลก เฉลี่ยอยู่ที่ 45-47 ดอลลาร์/บาร์เรล รายรับจากนักท่องเที่ยวต่างชาติราว 1.93 ล้านล้านบาท เพิ่มขึ้น 9.8%
"มีเพียงการปรับสมมติฐานเรื่องค่าเงินบาทมาอยู่ที่ 35-36 บาท/ดอลลาร์ พร้อมมองว่าเงินบาทมีแนวโน้มอ่อนค่าลงตามแนวโน้มการขยายตัวของเศรษฐกิจสหรัฐ และการคาดการณ์ว่าเฟดจะปรับขึ้นดอกเบี้ยนโยบายอีก 2 ครั้ง ในช่วงที่เหลือของปีนี้"นายปรเมธี กล่าว
สำหรับปัจจัยสนับสนุนเศรษฐกิจไทยปีนี้ มาจากการฟื้นตัวของการส่งออกตามการปรับตัวดีขึ้นของเศรษฐกิจประเทศคู่ค้าและราคาสินค้าในตลาดโลก, การขยายตัวของการลงทุนภาครัฐที่อยู่ในเกณฑ์สูงและเร่งขึ้น, การปรับตัวดีขึ้นของการผลิตสินค้าเกษตรและราคาสินค้าเกษตรที่ยังอยู่ในเกณฑ์ดี, การขยายตัวของภาคท่องเที่ยวที่ยังสนับสนุนเศรษฐกิจอย่างต่อเนื่อง และการปรับตัวดีขึ้นของตลาดรถยนต์ในประเทศ ทั้งนี้คาดว่ามูลค่าการส่งออกจะขยายตัว 3.6% การบริโภคภาคเอกชน และการลงทุนรวม ขยายตัว 3.0% และ 4.4% ตามลำดับ อัตราเงินเฟ้อทั่วไปอยู่ในช่วง 0.8-1.3% และบัญชีเดินสะพัดเกินดุล 8.9% ของ GDP
เลขาธิการ สศช.กล่าวว่า การบริหารนโยบายเศรษฐกิจในปีนี้ ควรให้ความสำคัญกับ 1.การใช้จ่ายของรัฐบาลและการดำเนินโครงการลงทุนภาครัฐให้ได้ตามเป้าหมาย ควบคู่ไปกับการดำเนินโครงการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานที่สำคัญให้เป็นไปตามกำหนดระยะเวลาที่วางไว้
2.การสนับสนุนการส่งออกให้สามารถขยายตัวได้ตามเป้าหมายที่กำหนดไว้ที่ 5% โดยการสนับสนุนให้การส่งออกสินค้าขยายตัวเป็นวงกว้างมากขึ้น การติดตามและแก้ปัญหาการใช้นโยบายและมาตรการกีดกันทางการค้าในต่างประเทศ การขยายตลาดส่งออกเชิงรุก และการประสานความร่วมมือระหว่างหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อขับเคลื่อนการส่งออกอย่างครบวงจร
3.การสนับสนุนการขยายตัวของรายได้เกษตรกร และการดูแลผู้มีรายได้น้อย โดยการเตรียมมาตรการรองรับผลผลิตทางการเกษตรที่จะออกสู่ตลาดในฤดูการผลิตปี 60/61 การเพิ่มส่วนแบ่งรายได้ของเกษตรกรจากการจำหน่ายผลผลิต ควบคู่ไปกับการส่งเสริมการเกษตรแปลงใหญ่เพื่อลดต้นทุนการผลิตและการจัดจำหน่ายผลผลิตสู่ผู้บริโภคโดยตรงมากขึ้น การจัดทำฐานข้อมูลเกษตรกรยากจนและผู้มีรายได้น้อย เพื่อให้มาตรการช่วยเหลือทางตรงสามารถเข้าถึงกลุ่มเป้าหมายได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น
4.การสร้างความเชื่อมั่น และสนับสนุนการฟื้นตัวของการลงทุนภาคเอกชน โดยให้ความสำคัญการเพิ่มปริมาณการส่งออกเพื่อลดกำลังการผลิตส่วนเกินในภาคอุตสาหกรรม ดำเนินการตามแผนการลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน โดยเฉพาะโครงการที่ร่วมลงทุนกับเอกชน การกระตุ้นให้โครงการลงทุนที่ได้รับอนุมัติในปี 57-59 มีการลงทุนโดยเร็ว และดำเนินมาตรการเชิงรุกเพื่อจูงใจนักลงทุนในสาขาเป้าหมาย
5.การสนับสนุนการขยายตัวของภาคการท่องเที่ยว โดยดูแลรักษาความปลอดภัยในพื้นที่ท่องเที่ยวสำคัญ ส่งเสริมการขายในตลาดกลุ่มนักท่องเที่ยวรายได้สูงและนักท่องเที่ยวระยะไกล สนับสนุนการฟื้นตัวของนักท่องเที่ยวจีนโดยเฉพาะกลุ่มที่มีรายได้สูง สนับสนุนการขยายตัวของนักท่องเที่ยวจากอาเซียน และส่งเสริมการท่องเที่ยวในประเทศควบคู่ไปกับการกระจายรายได้สู่แหล่งท่องเที่ยวในระดับชุมชน
เลขาธิการสภาพัฒน์ มองว่า เศรษฐกิจไทยในไตรมาส 2/60 อาจจะยังขยายตัวได้ไม่สูงมาก เนื่องจากในช่วงไตรมาส 2 ของปีก่อนเศรษฐกิจไทยเติบโตถึง 3.6% ซึ่งถือว่าเป็นฐานสูงและมีความท้าทายต่อการเติบโตของเศรษฐกิจไตรมาส 2 นี้ อย่างไรก็ดี การเติบโตของเศรษฐกิจในไตรมาสแรกปีนี้ที่ 3.3% ถือว่าเป็นการเริ่มต้นได้ดี และเชื่อว่าในไตรมาส 3 และ 4 ของปีนี้เศรษฐกิจไทยจะสามารถขยายตัวได้สูงกว่าไตรมาสที่ผ่านมา ซึ่งทำให้ทั้งปี GDP จะเติบโตได้ 3.5% ตามที่ สศช.คาดการณ์ไว้
"ไตรมาสแรกปีนี้ ถือว่าเริ่มต้นได้ดี แต่ไตรมาส 2 คงจะไม่สูงมาก เพราะปีก่อนโตถึง 3.6% ซึ่งถือว่าเป็นฐานที่ท้าทาย แต่เชื่อว่าไตรมาส 3 และ 4 เศรษฐกิจจะขยายตัวได้สูง ทั้งการส่งออก ลงทุน ภาคเกษตร ทำให้ทั้งปีเป็นไปตามที่เราคาดไว้ที่ 3.5%" นายปรเมธี กล่าว
สำหรับภาวะอัตราดอกเบี้ยนโยบายในปัจจุบันนั้น เลขาธิการสภาพัฒน์ มองว่า ขณะนี้ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ยังสามารถดูแลอัตราดอกเบี้ยให้อยู่ในระดับที่ช่วยสนับสนุนการฟื้นตัวของเศรษฐกิจได้ ดังนั้นอาจจะยังไม่จำเป็นต้องปรับเปลี่ยนในช่วงนี้