พล.ท.วีรชน สุคนธปฏิภาค รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยภายหลังนายอูลริค ซาเกา (Mr. Ulrich Zachau) ผู้อำนวยการธนาคารโลกประจำภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และคณะทีมวิจัยจากธนาคารโลก เข้าเยี่ยมคารวะ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ทำเนียบรัฐบาล ซึ่งการพบปะครั้งนี้จะเป็นโอกาสอันดีที่ธนาคารโลกจะให้คำแนะนำและข้อคิดเห็นแก่ไทยในอนาคต
ทั้งนี้ นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า รัฐบาลไทยมีความมุ่งมั่น ตั้งใจจริงในการเร่งรัดจัดระบบ และปฏิรูปงานบริการของภาครัฐ เพื่อให้เอื้อต่อการลงทุนในประเทศไทย นอกจากนี้รัฐบาลยินดีรับฟังปัญหาจากภาคเอกชน เพื่อให้รัฐบาลและภาคเอกชนสามารถปรับตัวเข้าหากัน เพื่อประโยชน์ของทั้งสองฝ่าย
นอกจากนี้ ยังย้ำว่า ไทยยินดีต้อนรับนักลงทุนจากต่างชาติ พร้อมเร่งรัดให้ทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องร่วมผลักดันให้อันดับความยาก-ง่ายในการประกอบธุรกิจของประเทศไทยดีขึ้น ซึ่งรัฐบาลได้ตั้งเป้าให้การยกระดับการจัดอันดับความยาก-ง่ายในการประกอบธุรกิจของประเทศไทยอยู่ในกลุ่ม 30 อันดับแรก โดยกำหนดเป็นแผนระยะสั้น กลาง ยาว และบูรณาการการทำงานของภาครัฐกับภาคเอกชน
ทางด้านผู้อำนวยการธนาคารโลกฯ ได้แสดงความขอบคุณนายกรัฐมนตรีที่ให้โอกาสพบปะในวันนี้ และขอบคุณนายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี ซึ่งกำกับดูแลด้านเศรษฐกิจ รมว.คลัง และสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ที่ได้ทำงานร่วมกับธนาคารโลกอย่างใกล้ชิดมาโดยตลอด พร้อมแสดงความประทับใจในความมุ่งมั่น ตั้งใจของนายกรัฐมนตรีในการแก้ไขปัญหาและอุปสรรคของการดำเนินธุรกิจของภาคเอกชน
ในโอกาสนี้ ผู้อำนวยการธนาคารโลกฯ ได้แสดงข้อคิดเห็นว่า อยากให้ประเทศไทยจัดทำเว็บไซต์ที่เป็นแหล่งรวมข้อมูลเกี่ยวกับการดำเนินธุรกิจในประเทศไทย เพื่ออำนวยความสะดวกแก่ภาคเอกชนต่างชาติที่สนใจลงทุนในไทยสามารถมีแหล่งข้อมูลที่เข้าถึงง่ายและสะดวกรวดเร็ว และอยากให้ภาครัฐมีการสื่อสารสร้างความเข้าใจที่ถูกต้องแก่นักลงทุนต่างชาติเกี่ยวกับนโยบายด้านเศรษฐกิจ และการบริการต่างๆ ของภาครัฐอย่างต่อเนื่อง
ด้านน.ส.บรรจงจิตต์ อังศุสิงห์ อธิบดีกรมพัฒนาธุรกิจการค้า กล่าวภายหลังพบกับผู้แทนธนาคารโลก (เวิลด์แบงก์) ที่มาสำรวจข้อมูลความยากง่ายในการทำธุรกิจของไทยว่า ได้ชี้แจงความคืบหน้าการปรับปรุงพัฒนาขั้นตอนการเริ่มต้นธุรกิจ ซึ่งสามารถลดทั้งขั้นตอน ระยะเวลา และต้นทุนการจดทะเบียนลงได้ โดยสามารถลดขั้นตอนจากเดิม 5 ขั้นตอนที่ใช้เวลา 25.5 วัน ให้เหลือเพียง 3 ขั้นตอนใช้เวลาเพียง 2 วัน และลดค่าใช้จ่ายของผู้ประกอบการจากเดิม 6,600 บาท เหลือเพียง 5,800 บาท มั่นใจว่าจะส่งผลให้การจัดอันดับการเริ่มต้นธุรกิจของไทยที่จะประกาศผลในเดือน ต.ค.นี้ดีขึ้นจากปัจจุบันที่อยู่ในลำดับ 78
สำหรับขั้นตอนที่ลดลงจากเดิม 5 ขั้นตอน ใช้เวลา 25.5 วันนั้น เริ่มจากการจองชื่อบริษัทใช้เวลา 0.5 วัน การชำระเงินทุนเข้าธนาคาร 1 วัน การจัดทำตราประทับ 2 วัน การจดทะเบียนจัดตั้งบริษัทและการขอเลขทะเบียนนายจ้าง 1 วัน การยื่นสำเนาข้อบังคับการทำงาน 21 วัน และการจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม 0 วัน ปรับใหม่เป็น 3 ขั้นตอน 2 วัน คือ การจองชื่อบริษัทและจดทะเบียนตั้งบริษัท 1 วัน การชำระเงินทุนเข้าธนาคาร 1 วัน และการจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม 0 วัน
"กรมฯ ได้ตัดขั้นตอนที่ไม่เกี่ยวข้องกับการจดทะเบียนจัดตั้งธุรกิจออกไป ทั้งการยกเลิกการมีตราประทับในการจดทะเบียนบริษัท ซึ่งส่งผลให้ค่าใช้จ่ายส่วนนี้ลดลง 800 บาท และยกเลิกการยื่นสำเนาข้อบังคับการทำงาน เพราะเป็นเรื่องที่ธุรกิจต้องดำเนินการ หากการทำธุรกิจในระยะต่อไปเป็นไปตามเงื่อนไขของกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน" น.ส.บรรจงจิตต์ กล่าว