BAY คาดเงินบาทสัปดาห์นี้เคลื่อนไหวในกรอบ 34.45-34.80 หลังอ่อนค่าสุดในรอบกว่า 7 สัปดาห์

ข่าวเศรษฐกิจ Monday May 15, 2017 15:26 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

ฝ่ายส่งเสริมธุรกิจและกำกับดูแลโกลบอลมาร์เก็ตส์ ธนาคารกรุงศรีอยุธยา (BAY) มีมุมมองต่อทิศทางค่าเงินบาทในสัปดาห์นี้ว่า มีแนวโน้มเคลื่อนไหวในกรอบ 34.45-34.80 บาท/ดอลลาร์ เทียบกับระดับปิดอ่อนค่าที่ 34.73 บาท/ดอลลาร์ในสัปดาห์ที่แล้ว โดยเงินบาทแตะระดับอ่อนค่าสุดในรอบกว่า 7 สัปดาห์ หลังดอลลาร์ได้ปัจจัยหนุนจากตัวเลขการจ้างงานนอกภาคเกษตรเดือนเมษายนของสหรัฐที่ออกมาแข็งแกร่งเกินคาด ทั้งนี้นักลงทุนต่างชาติซื้อสุทธิหุ้นไทยมูลค่า 4.1 พันล้านบาท และซื้อสุทธิในตลาดพันธบัตร 7.2 พันล้านบาท ส่วนใหญ่เป็นการซื้อพันธบัตรอายุไม่เกิน 1 ปี

ฝ่ายส่งเสริมธุรกิจและกำกับดูแลโกลบอลมาร์เก็ตส์ BAY มองว่า ปัจจัยชี้นำตลาดจะกลับมาที่การคาดการณ์เกี่ยวกับนโยบายการเงินของธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) แม้ว่าตัวเลขยอดค้าปลีกและเงินเฟ้อของสหรัฐจะต่ำกว่าคาด แต่ในภาพรวมถือว่าอยู่ในทิศทางฟื้นตัว ตอกย้ำมุมมองของเฟดที่ว่าการชะลอตัวทางเศรษฐกิจช่วงต้นปีเป็นเหตุการณ์ชั่วคราว ส่วนการประชุมรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังกลุ่มประเทศอุตสาหกรรมชั้นนำ 7 ประเทศหรือ จี-7 ช่วงสุดสัปดาห์ที่ผ่านมา ยุโรป ญี่ปุ่นและแคนาดาต้องการความชัดเจนเกี่ยวกับนโยบายของประธานาธิบดีทรัมป์ รวมทั้งผนวกวาระเกี่ยวกับความมั่นคงในระบบไซเบอร์ด้วย อย่างไรก็ดี ผู้นำด้านการเงินจากประเทศมหาอำนาจไม่ได้ประกาศนโยบายที่จะทำให้การค้าโลกเปิดเสรีต่อไป ซึ่งถือเป็นการยอมรับนโยบายกีดกันทางการค้าของสหรัฐมากขึ้น ในระยะนี้ นักลงทุนส่วนใหญ่จะเลือกใช้กลยุทธ์ซื้อขายตามสัญญาณทางเทคนิค เนื่องจากปัจจัยพื้นฐานทางเศรษฐกิจยังเหมือนเดิมและไม่มีกระแสข่าวใหม่ๆ มากระทบตลาด

สำหรับปัจจัยในประเทศ ค่าเงินบาทไม่ได้ตอบรับมากนักต่อรายงานจีดีพีไตรมาส 1/60 ของไทยที่บ่งชี้ถึงการเติบโต 3.3% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน และขยายตัว 1.3% เทียบรายไตรมาส ซึ่งแข็งแกร่งกว่าคาด โดยมีการใช้จ่ายภาคครัวเรือนและการส่งออกเป็นแรงขับเคลื่อนสำคัญ ขณะที่สภาพัฒน์ปรับกรอบคาดการณ์เศรษฐกิจปีนี้เป็นเติบโตในช่วง 3.3-3.8% จากเดิม 3.0-4.0% กลุ่มงานโกลบอลมาร์เก็ตส์ยังคงมีมุมมองว่า คณะกรรมการนโยบายการเงินจะตรึงดอกเบี้ยนโยบายที่ระดับ 1.50% ตลอดปีนี้ เนื่องจากอัตราเงินเฟ้อทั่วไปจะอยู่ในระดับต่ำ ส่วนเงินบาทยังมีทิศทางแข็งค่าในระยะยาว แต่สำหรับในช่วงสั้นๆ กระแสเงินทุนเคลื่อนย้ายยังเป็นไปอย่างจำกัด โดยท่าทีของเฟดต่อแนวโน้มการปรับขึ้นดอกเบี้ยสหรัฐฯในช่วงที่เหลือของปีจะเป็นตัวแปรสำคัญต่อไป


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ