คณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) รับทราบแนวทางการเตรียมความพร้อมเพื่อรองรับสภาวะวิกฤตก๊าซธรรมชาติปี 64-66 ตามที่กระทรวงพลังงานเสนอ เนื่องจากความล่าช้าของการสรุปแนวทางการบริหารจัดการก๊าซในอ่าวไทย ทำให้การผลิตไม่ต่อเนื่องและก๊าซมีปริมาณลดลง รวมทั้งการก่อสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินเทคโนโลยีสะอาดไม่สามารถดำเนินการได้ ส่งผลทำให้การจัดหาก๊าซธรรมชาติไม่เพียงพอกับความต้องการใช้ที่คาดการณ์ไว้ตามแผนบริหารจัดการก๊าซธรรมชาติ พ.ศ. 2558-2579 (Gas Plan 2015) ที่ปรับปรุงใหม่ ทั้งนี้ คาดว่าปัญหาดังกล่าวฯ จะส่งผลกระทบต่อการผลิตไฟฟ้าของประเทศ คิดเป็นพลังงานไฟฟ้าสูงถึง 13,623 ล้านหน่วย หรือเทียบเท่ากับโรงไฟฟ้าก๊าซธรรมชาติ ขนาด 1,700 เมกะวัตต์
กระทรวงพลังงานมีมาตรการในการดำเนินการต่าง ๆ ดังนี้ การเจรจาตกลงราคาและปริมาณการจัดหาก๊าซธรรมชาติโครงการบงกชเหนือ โดยมีการรับประกันอัตราขั้นต่ำในการผลิต ในช่วงปี 2562-2564 เพื่อให้มีปริมาณการผลิตก๊าซธรรมชาติก่อนสิ้นอายุสัมปทานในปี 2565 เพิ่มขึ้น พร้อมกำหนดแนวทางเลือกสำหรับการเตรียมความพร้อม ทั้งด้านการลดความต้องการใช้ไฟฟ้า (Demand Side) อาทิ การส่งเสริมติดตั้งแผงโซลาร์บนหลังคา (Solar Rooftop) เพื่อลดความต้องการไฟฟ้าช่วงพีคกลางวันและการใช้มาตรการ Demand Response (DR) เพื่อประหยัดไฟฟ้าตามช่วงเวลาที่ภาครัฐกำหนดเป็นการเฉพาะ
สำหรับด้านการจัดหาเชื้อเพลิง/พลังงานไฟฟ้า (Supply Side) อาทิ การจัดหาก๊าซธรรมชาติเพิ่มเติมจากพื้นที่พัฒนาร่วมไทย - มาเลเซีย (JDA) การเพิ่มความสามารถในการเก็บสำรองก๊าซธรรมชาติเหลว (LNG) เช่น การขยายโครงการ LNG Receiving Terminal แห่งที่ 1 มาบตาพุด จ.ระยอง และเร่งรัดการพัฒนาโครงการ Floating Storage and Regasification Unit (FSRU) ในพื้นที่ภาคใต้ เป็นต้น
รวมถึงการจัดหาพลังงานไฟฟ้าเพิ่มเติม เช่น รับซื้อไฟฟ้าจากประเทศเพื่อนบ้าน ทั้งสปป.ลาว หรือกัมพูชา และรับซื้อไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนเพิ่มเติมอีกตามนโยบาย SPP Hybrid-Firm และ VSPP-Semi Firm เพิ่มขึ้น เป็นต้น