รายงานข่าวจากกระทรวงการคลัง ระบุว่า กรมธนารักษ์ได้ชี้แจงข้อเท็จจริงโครงการบ้านธนารักษ์ประชารัฐ ซ.พหลโยธิน 11 โดยระบุถึงขั้นตอนการประกาศประกวดโครงการว่า กรณีที่บริษัท ปักกิ่ง เออร์บัน-คอนสตรัคชั่น ยาไถ่ (ไทย) คอนสตรัคชั่น กรุ๊ป จำกัด ได้มีนโยบายชะลอการขยายงานในประเทศไทย และให้บริษัท จูโน่ พาร์ค จำกัด ซึ่งทั้ง 2 บริษัท ได้จัดทำบันทึกข้อตกลงความร่วมมือในการพัฒนาโครงการบ้านธนารักษ์ประชารัฐร่วมกัน เข้ามารับโอนสิทธิการก่อสร้างและสิทธิการเช่าแทน ดังนั้นกรณีนี้จึงไม่ใช่การเปลี่ยนมือผู้พัฒนาโครงการอย่างแท้จริง แม้จะเป็นการเปลี่ยนมือผู้พัฒนาโครงการดังกล่าวแต่ก็สามารถดำเนินการได้ตามเงื่อนไขการประกวดโครงการ และกฎระเบียบที่เกี่ยวข้องทุกประการ
ทั้งนี้ แนวทางปฏิบัติที่ผ่านมา กรมธนารักษ์ ให้โอนสิทธิการก่อสร้างและสิทธิการเช่าได้ ถือเป็นแนวทางปฏิบัติที่ใช้กับผู้พัฒนาโครงการทั่วประเทศ โดยผู้รับโอนต้องมีคุณสมบัติตามเงื่อนไขการประกวดโครงการ และต้องรับไปทั้งสิทธิและหน้าที่ตามเงื่อนไขที่ทางราชการกำหนด
นอกจากนี้ กรมธนารักษ์ได้เคยมีความเห็นในกรณีที่ผู้เสนอโครงการได้ลำดับที่ 1 มีการเปลี่ยนแปลงบริษัทหรือมีการโอนสิทธิการบริหารจัดการโครงการ ทั้งงานก่อสร้างและการบริหารโครงการให้บริษัทอื่น ซึ่งกรมธนารักษ์ได้ทำคำเสนอเกี่ยวกับกรณีดังกล่าวไปยังผู้ชนะการประมูล และเมื่อผู้ชนะการประมูลได้มาชำระค่าธรรมเนียมการจัดหาประโยชน์พร้อมลงนามรับทราบเงื่อนไขแล้ว ถือว่าผู้ชนะได้ทำคำสนองรับคำเสนอของกรมธนารักษ์แล้ว จึงถือว่าผู้ชนะการประมูลได้สิทธิโดยสมบูรณ์ในการก่อสร้างอาคารยกกรรมสิทธิ์ให้กระทรวงการคลังตามเงื่อนไขการประมูลแล้ว ดังนั้นผู้ชนะการประมูลย่อมมีสิทธิขออนุญาตโอนสิทธิการก่อสร้างได้
กรมธนารักษ์ ยังได้ชี้แจงอีกว่าการกำหนดคุณสมบัติของผู้เสนอโครงการบ้านธนารักษ์ประชารัฐ โดยหลักเกณฑ์เงื่อนไขการประกวดโครงการ เป็นการกำหนดคุณสมบัติตามแนวทางปกติทั่วไป ซึ่งเงื่อนไขการประมูลโครงการพัฒนาที่ราชพัสดุที่ผ่านมาตรวจร่างจากสำนักงานอัยการสูงสุด ซึ่งมุ่งเน้นเรื่องทุนจดทะเบียนเพื่อแสดงฐานะบริษัท และการทิ้งงาน เพื่อแสดงความรับผิดชอบต่อการดำเนินงานของบริษัท และเปิดกว้างให้เกิดการแข่งขันอย่างเป็นธรรมมากที่สุด โดยหากการพิจารณาคุณสมบัติและประสบการณ์แล้ว จะเห็นได้ว่าโครงการนี้ บริษัท จูโน่ พาร์ค จำกัด ได้ร่วมทุนกับบริษัท สมบุญ พัฒนา จำกัด ซึ่งมีประสบการณ์และความสามารถด้านการก่อสร้าง โดยเฉพาะการก่อสร้างอาคารหอพักเอกชน ราชการ และการก่อสร้างอื่น ๆ ที่มีมูลค่าโครงการตั้งแต่ 10-600 ล้านบาท
"การกำหนดเงื่อนไขให้สามารถโอนสิทธิการก่อสร้างและสิทธิการเช่าได้นั้น เป็นการกำหนดเงื่อนไขเช่นเดียวกับกรณีการเปิดประมูลพัฒนาโครงการปกติทั่วไป โดยเจตนารมณ์มีความมุ่งหวังที่จะให้เป็นโครงการดำเนินการสำเร็จลุล่วงตามโครงการที่ผู้ได้รับสิทธิเสนอ ซึ่งบริษัท ปักกิ่ง เออร์บัน-คอนสตรัคชั่น ยาไถ่(ไทย) คอนสตรัคชั่น กรุ๊ป จำกัด และ บริษัท จูโน่ พาร์ค จำกัด ได้ทำบันทึกความร่วมมือในการพัฒนาโครงการดังกล่าวร่วมกัน ซึ่งจากข้อเท็จจริงในส่วนนี้จะเห็นได้ว่าทั้ง 2 บริษัท มีความเกี่ยวพันที่จะดำเนินการร่วมกันมาตั้งแต่ต้น จึงไม่ใช่การเปลี่ยนมือผู้พัฒนาโครงการอย่างแท้จริง" เอกสารชี้แจงของกรมธนารักษ์ระบุ
นอกจากนี้ ยืนยันว่ากรมธนารักษ์ได้พิจารณ์ความคุ้มค่าของโครงการในแง่เศรษฐกิจ โดยโครงการดังกล่าวเป็นไปตามนโยบายของรัฐบาลในการปฏิรูปแบบบริหารประเทศ เพื่อขับเคลื่อนการแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อมของประเทศ โดยแนวนโยบายด้านหนึ่งคือการลดความเหลื่อมล้ำของสังคมและการสร้างโอกาสในการเข้าถึงบริการของรัฐ อีกทั้งเป็นโครงการเพื่อสนับสนุนเจ้าหน้าที่ของรัฐที่มีรายได้น้อยได้เช่าที่พักอาศัยเป็นรายเดือน ลดภาระค่าใช้จ่ายในการเดินทาง และบริเวณดังกล่าวปัจจุบันชำรุดทรุดโทรมมาก เกิดสภาพแวดล้อมเสื่อมโทรม จึงมีแนวคิดในการนำที่ดินบริเวณนี้มาก่อสร้างที่อยู่อาศัยให้แก่ข้าราชการและเจ้าหน้าที่ของรัฐเพื่อให้เกิดประโยชน์และคุ้มค่า
อย่างไรก็ตาม กรมธนารักษ์ชี้แจงว่าขณะนี้บริษัท จูโน่ พาร์ค จำกัด อยู่ระหว่างการจัดทำข้อมูลรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA) และจัดทำรายละเอียดข้อมูลเกี่ยวกับผลกระทบต่อสภาพการจราจรเพิ่มเติม โดยหากโครงการดังกล่าวไม่ผ่านจัดทำ EIA กรมฯ จะได้ใช้สิทธิตามเงื่อนไขการประกวดโครงการเพื่อพิจารณายกเลิกโครงการต่อไป โดยทางราชการไม่ต้องจ่ายค่าเสียหายแต่อย่างใด แต่หากกรมธนารักษ์ยกเลิกโครงการขณะนี้โดยไม่มีเหตุที่ผู้ได้รับสิทธิปฏิบัติผิดเงื่อนไขการประกวดโครงการก็เท่ากับรัฐเป็นฝ่ายผิดสัญญาอาจถูกฟ้องร้องได้