น.ส.จริยา สุทธิไชยา เลขาธิการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยถึงการดำเนินโครงการบริหารจัดการเขตเกษตรเศรษฐกิจสำหรับสินค้าเกษตรโดยการใช้แผนที่เพื่อการบริหารจัดการเชิงรุก (zoning by Agri-Map)ว่า สศก.ได้จัดประชุมหารือร่วมกับภาคส่วนที่เกี่ยวข้องทั้งภาครัฐ เอกชน และเกษตรกรในระดับพื้นที่เกี่ยวกับแนวทางปรับเปลี่ยนเป็นสินค้าทางเลือกที่ให้ผลตอบแทนสูงกว่า โดยมีเป้าหมายศึกษา 24 จังหวัดทั่วประเทศ
ที่ผ่านมา สศก. ได้จัดประชุมหารือในพื้นที่ภาคกลาง ณ ศูนย์เรียนรู้การเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตสินค้าเกษตร (ศพก.) อำเภออรัญประเทศ จ.สระแก้ว, ศพก. อำเภอเมือง จ.ปราจีนบุรี และ ศพก. อำเภอเมือง จ.ลพบุรี เพื่อเป็นข้อมูลและทางเลือกให้กับเกษตรกรในการปรับเปลี่ยนการผลิต พบว่า มีหลายปัจจัยที่เป็นตัวกำหนดให้เกษตรกรตัดสินใจปรับเปลี่ยนการผลิต เช่นเกษตรกรในพื้นที่ ต.หนองสังข์ อ.อรัญประเทศ ส่วนใหญ่ปลูกอ้อยและมันสำปะหลังเนื่องจากใกล้โรงงานมันเส้นและโรงงานน้ำตาล
สำหรับเกษตรกรในพื้นที่ อ.พัฒนานิคม จ.ลพบุรี ปลูกข้าวนาปีและแบ่งพื้นที่บางส่วนปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ เนื่องจากมีโรงงานแปรรูปอาหารสัตว์ตั้งอยู่ไม่ไกลจากพื้นที่ สนใจปรับเปลี่ยนพื้นที่นาข้าวมาปลูกอ้อยเพราะมีโรงงานน้ำตาลอยู่ไม่ไกล และในช่วงปลายพฤษภาคมนี้ สศก. จะลงพื้นที่จังหวัดพิษณุโลก และชัยภูมิ ส่วนเดือนกรกฎาคม ลงพื้นที่ ชัยนาท จันทบุรี สงขลา และสุราษฎร์ธานี ซึ่งเป็น 6 จังหวัดนำร่อง ของ 6 ภูมิภาค ตามโครงการบริหารจัดการเขตเกษตรเศรษฐกิจสำหรับสินค้าเกษตรโดยการใช้แผนที่เพื่อการบริหารจัดการเชิงรุก (zoning by Agri-Map)
ด้านเกษตรกรในพื้นที่ อ.เมืองปราจีนบุรี ทำนาข้าวและสวนผลไม้ เกษตรกรเพาะปลูกข้าวขึ้นน้ำในฤดูฝนเพราะเป็นพื้นที่ลุ่มมีน้ำท่วมขังสูงปลูกพืชชนิดอื่นไม่ได้ และตลาดยังมีความต้องการข้าวชนิดนี้เพื่อแปรรูป ขณะที่ฤดูแล้งสามารถปรับเปลี่ยนมาปลูกพืชสมุนไพรซึ่งเป็นพืชที่มีศักยภาพเนื่องจากมูลนิธิโรงพยาบาลเจ้าพระยาอภัยภูเบศร ตั้งอยู่ในพื้นที่มีความต้องการพืชสมุนไพรเพิ่มขึ้น
ทั้งนี้ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ยังได้ร่วมมือกับศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (NECTEC) พัฒนาระบบการจัดทำแผนที่เกษตรเพื่อการบริหารจัดการเชิงรุกออนไลน์ (Agri-Map Online) ที่สามารถนำไปใช้เป็นเครื่องมือบริหารจัดการสินค้าเกษตรให้สอดคล้องตามสภาพพื้นที่ เกษตรกรสามารถนำ Agri-Map Online มาเป็นตัวช่วยในการวางแผนการผลิตสินค้าเกษตรในอนาคตได้อย่างมีประสิทธิภาพ