นางอภิรดี ตันตราภรณ์ รมว.พาณิชย์ เปิดเผยว่า ในการเข้าร่วมประชุม Belt and Road Forum for International Cooperation:BRF ณ กรุงปักกิ่ง สาธารณรัฐประชาชนจีน ได้รับเชิญเข้าร่วมการประชุมกลุ่มย่อยภายใต้หัวข้อ "ความเชื่อมโยงทางการค้า" และร่วมแสดงข้อคิดเห็นที่เกี่ยวข้องกับการค้าและการพัฒนาที่ยั่งยืน เพื่อแสดงเจตนารมณ์อันแน่วแน่ของไทยในการสนับสนุนแนวคิดและเชื่อมโยงการพัฒนาเศรษฐกิจของไทยเข้ากับยุทธศาสตร์ One Belt, One Road (OBOR) ซึ่งเป็นการกระชับความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจระหว่างไทยกับจีนที่เป็นรูปธรรม ทั้งในระดับทวิภาคี ภูมิภาค และพหุภาคี
สำหรับการประชุม BRF เป็นการประชุมระดับสูงครั้งแรกนับตั้งแต่ประธานาธิบดี สี จิ้นผิง ของจีนประกาศข้อริเริ่ม One Belt, One Road (OBOR) เมื่อเดือน ต.ค.56 โดยเป็นการประชุมเพื่อหารือถึงแนวทางการขยายความเชื่อมโยงทางกายภาพทั้งทางบกและทางทะเลระหว่างภูมิภาคเอเชีย ยุโรป และแอฟริกา ความเชื่อมโยงทางดิจิทัล และความเชื่อมโยงระหว่างประชาชนผ่านการศึกษา วัฒนธรรม และวิทยาศาสตร์ เป็นต้น
ทั้งนี้ แผนการขับเคลื่อนแนวคิด OBOR ของจีน และการขับเคลื่อนการพัฒนาเศรษฐกิจของรัฐบาลไทยมีความสอดคล้องและเอื้อต่อกัน ได้แก่ 1.ความเชื่อมโยงด้านนโยบาย ไทยและจีนต่างให้ความสำคัญกับการยกระดับภาคการผลิต เน้นการสร้างมูลค่าเพิ่มด้วยนวัตกรรมและเทคโนโลยี กล่าวคือ นโยบาย Made in China 2025 กับนโยบายการพัฒนาอุตสาหกรรม S-Curves ของไทย กำลังเดินหน้าไปในทิศทางเดียวกัน
2.ความเชื่อมโยงด้านการพัฒนาสาธารณูปโภคขั้นพื้นฐาน ได้แก่ โครงข่ายรถไฟ/รถไฟความเร็วสูง ท่าเรือ และสนามบิน ซึ่งจะช่วยอำนวยความสะดวกและลดต้นทุนการขนส่ง และช่วยสร้างโอกาสทางการค้าและการลงทุนสำหรับพื้นที่ที่ห่างไกลความเจริญ ในการนี้ Asian Infrastructure Investment Bank (AIIB) และ Silk Road Fund จะมีบทบาทสำคัญในการสนับสนุนด้านการเงินสำหรับการลงทุนและดำเนินโครงการต่างๆ ให้เป็นรูปธรรม
3.ความเชื่อมโยงด้านข้อมูลและดิจิทัล นโยบาย Internet Plus & Information Highway ของจีน และการพัฒนา Digital Economy ของไทย เน้นการใช้ประโยชน์จากการบริหารจัดการข้อมูลต่างๆ ด้วยระบบดิจิทัลและอินเตอร์เน็ต รวมถึงการรองรับรูปแบบการค้าสมัยใหม่ผ่านพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์และระบบชำระเงินดิจิทัล
4.การพัฒนาเศรษฐกิจอย่างเข้มแข็งและยั่งยืน ไทยและจีนต่างให้ความสำคัญกับการมีส่วนร่วมในการพัฒนาเศรษฐกิจของธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อมและการพัฒนาธุรกิจ Startups เพื่อให้ประโยชน์จากการพัฒนาเศรษฐกิจมีการแบ่งปันอย่างทั่วถึงและเป็นสร้างความเข้มแข็งให้กับเศรษฐกิจชุมชน ภาครัฐต้องสร้างบรรยากาศที่เอื้อกับการประกอบธุรกิจและการใช้ประโยชน์จากช่องทางการค้าใหม่ๆ อาทิ e-Commerce เป็นต้น
5.ความเชื่อมโยงระหว่างประชาชน การแลกเปลี่ยนเรียนรู้ด้านการศึกษาและวัฒนธรรม ตลอดจนการพัฒนาด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี จะช่วยให้ประชาชนมีความเข้าใจ และเป็นการสร้างความไว้เนื้อเชื่อใจระหว่างกัน
ทั้งนี้ในการประชุมห้องย่อยในหัวข้อความเชื่อมโยงทางการค้า รมว.พาณิชย์ ได้แสดงวิสัยทัศน์ในการพัฒนาการค้าที่ยั่งยืนด้วยการส่งเสริมความเข้มแข็งและพัฒนาศักยภาพของ SMEs ที่มีสัดส่วนคิดเป็นร้อยละ 99 ของเศรษฐกิจไทย ให้สามารถดำเนินธุรกิจผ่านช่องทางการค้าออนไลน์ได้อย่างมีประสิทธิภาพ พร้อมยกตัวอย่างการพัฒนาเขตเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (Eastern Economic Corridor: EEC) ที่จะเชื่อมโยงกับ Belt and Road Initiative โดยไทยพร้อมเป็นศูนย์กลางการคมนาคมขนส่งและโลจิสติกส์ในภูมิภาค โดยมีเส้นทางรถไฟเชื่อมจีน-ไทย-มาเลเซีย-สิงคโปร์ และถนนเชื่อมโยงจีน-ลาว-ไทย ตลอดจนระเบียงเศรษฐกิจตะวันออก-ตะวันตก ที่เชื่อมโยงท่าเรือน้ำลึกมาบตาพุด-ดานังทางตะวันออกกับท่าเรือในเมียนมาร์ทางตะวันตก สนามบินนานาชาติและศูนย์ซ่อมบำรุง นอกจากนั้น EEC ยังเป็นศูนย์สำหรับการพัฒนาอุตสาหกรรมแห่งอนาคต ตลอดจนมีการตั้งเขตเศรษฐกิจพิเศษสำหรับการพัฒนานวัตกรรม Smart City ซึ่งการพัฒนาเหล่านี้ เน้นการมีส่วนร่วมของภาครัฐ ภาคเอกชน นักวิชาการ มหาวิทยาลัย และชุมชนท้องถิ่น
การประชุม BRF ครั้งนี้ มีผู้นำกว่า 29 ประเทศ พร้อมด้วยผู้แทนระดับสูงจากหน่วยงานภาครัฐและองค์กรระหว่างประเทศกว่า 130 ประเทศทั่วโลกเข้าร่วมการประชุม อาทิ ประธานาธิบดีรัสเซีย (นายวลาดิเมียร์ ปูติน) ประธานาธิบดีตุรกี (นายเรเจพ เทยิพ แอร์โดอาน) นายกรัฐมนตรีปากีสถาน (นายนาวาซ ชารีฟ) เลขาธิการองค์การสหประชาชาติ (นายอังตอนีอู กูแตรึช) ประธานธนาคารโลก (นายจิม ยอง คิม) และประธาน IMF (นางคริสติน ลาการ์ด) เป็นต้น ถือว่าเป็นความสำเร็จของจีนในการขยายบทบาทและแสวงหามิตรประเทศที่จะช่วยสนับสนุนให้จีนบรรลุเป้าหมายการเชื่อมโยงทางเศรษฐกิจ โดยได้รับการตอบรับเป็นอย่างดีมากจากประเทศต่างๆ ทั้งที่อยู่ในเส้นทาง Belt and Road และประเทศคู่ค้าสำคัญในทวีปยุโรปและอเมริกาใต้ ประเทศไทยซึ่งเป็นหนึ่งในประเทศที่ตั้งอยู่บนแนวระเบียงเศรษฐกิจจีน-อินโดจีน ได้ใช้โอกาสนี้ในการสนับสนุนนโยบายการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานและความเชื่อมโยงระหว่างภูมิภาค โดย EEC ของไทยพร้อมเป็นศูนย์กลางการค้าและการลงทุนให้กับนักลงทุนจีนเพื่อขยายโอกาสไปยังประเทศเพื่อนบ้าน โดยเฉพาะกลุ่มประเทศ CLMV ตามแนวระเบียงเศรษฐกิจจีน-อินโดจีน (China-Indochina Economic Corridor)