KBANK คาดแนวโน้มเงินบาทสิ้น Q2/60 อ่อนค่าจาก Q1/60 รับปัจจัยเฟดขึ้นดอกเบี้ย,เชื่อกนง.คง R/P ตลอดปี

ข่าวเศรษฐกิจ Tuesday May 16, 2017 17:51 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายกอบสิทธิ์ ศิลปชัย ผู้บริหารงานวิจัยเศรษฐกิจและตลาดทุน ธนาคารกสิกรไทย (KBANK) กล่าวว่า แนวโน้มค่าเงินบาทในสิ้นไตรมาส 2/60 คาดว่าจะอ่อนค่าจากไตรมาส 1/60 มาอยู่ที่ 35.40 บาท/ดอลลาร์ จากปัจจัยคาดการณ์การปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยของธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ในการประชุมเดือน มิ.ย.นี้ ซึ่งทำให้กระแสเงินทุนชะลอตัวในช่วงก่อนหน้าที่เฟดจะปรับขึ้นดอกเบี้ย

แต่อย่างไรก็ตาม บางจังหวะเวลาในไตรมาสนี้ เงินบาทอาจจะแข็งค่าขึ้นมาได้จากการฟื้นตัวของเศรษฐกิจที่เห็นแนวโน้มจากอัตราการขยายตัวของเศรษฐกิจไทย (GDP) ในไตรมาส 1/60 ที่ขยายตัวดีในระดับ 3.3% สูงกว่าที่ประมาณการณ์ไว้ที่ระดับ 3%

ส่วนค่าเงินบาทเฉลี่ยในปีนี้จะมีแนวโน้มอ่อนค่าไปที่ 35.70 บาท/ดอลลาร์สหรัฐฯ เพราะปัจจัยการขึ้นอัตราดอกเบี้ยของเฟดด้วย

นายกอบสิทธิ์ มองว่า เฟดจะไม่ส่งสัญญาณการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยในวิธีที่ต่างออกไปจากการส่งสัญญาณผ่านการปาฐกถาของประธานเฟด ประกอบกับจะพิจารณาโอกาสปรับลดงบดุลของสหรัฐฯ (Balance Sheet) โดยการตัดสินใจขายสินทรัพย์ที่นำไปลงทุนในช่วงที่สหรัฐฯออกมาตรการผ่อนคลายทางการเงิน (QE) ซึ่งจะลดการถือครองสินทรัพย์ลงเหลือกว่า 2 ล้านล้านเหรียญสหรัฐฯ จากปัจจุบันที่ถือครองกว่า 4 ล้านล้านเหรียญสหรัฐฯ เพื่อทำให้ค่าเงินดอลลาร์สหรัฐฯกลับมาแข็งแกร่ง

ส่วนอัตราดอกเบี้ยนโยบายของไทยคาดว่าในปีนี้คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) จะยังคงอัตราไว้ที่ 1.5% และคาดว่าการประชุม กนง.ในสัปดาห์หน้าจะยังคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้เท่าเดิม แต่มองว่า กนง.มีโอกาสแสดงความเป็นห่วงแนวโน้มค่าเงินบาทที่อาจแข็งค่าในบางช่วง เพราะดุลบัญชีเดินสะพัดของไทยยังเกินดุลที่ 3.3 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐฯ เนื่องจากยังไม่มีการลงทุนขนาดใหญ่ออกมาอย่างชัดเจน ทำให้มีงบประมาณเกินดุลมาต่อเนื่อง

สำหรับแนวโน้มเศรษฐกิจไทยยังคาดว่า GDP จะเติบโตได้ 3.3% ในปีนี้ แต่การฟื้นยังมีความเปราะบาง เพราะการลงทุนภาครัฐยังไม่ออกมาอย่างเต็มที่ แต่มองว่าในครึ่งปีหลังจะออกมามากขึ้น ซึ่งจะช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจไทยให้ฟื้นขึ้นได้อย่างต่อเนื่อง อีกทั้งยังต้องรอผลของการปฏิรูปประเทศ โดยเฉพาะการเลือกตั้งที่จะต้องดูว่าหลังจากนั่นจะเห็นการขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยต่อไปอย่างไร

ขณะที่การปรับลดดอกเบี้ยเงินกู้ของธนาคารพาณิชย์เมื่อวานนี้ มองว่าเป็นการเปิดโอกาสให้กับผู้กู้รายใหม่เข้าถึงแหล่งเงินทุน และช่วยลดต้นทุนของผู้ประกอบการเอสเอ็มอี รวมไปถึงช่วยเสริมสภาพคล่องให้กับผู้ประกอบการเอสเอ็มอีให้สามารถดำเนินธุรกิจต่อไปได้ เพราะที่ผ่านมาได้รับผลกระทบจากภาวะเศรษฐกิจชะลอตัว

ด้านค่าเงินบาทที่ยังแข็งค่าอยู่ทำให้ผู้ประกอบการที่เกี่ยวกับการส่งออก เมื่อแปลงเงินกลับมาเป็นค่าเงินบาทจะมีรายได้ลดลง ซึ่งการลดดอกเบี้ยเงินกู้ระยะยาวเป็นการช่วยเหลือลูกค้าของแต่ละธนาคารได้ค่อนข้างดีระดับหนึ่ง


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ