นางอภิรดี ตันตราภรณ์ รมว.พาณิชย์ เปิดเผยว่า องค์กรระหว่างประเทศอย่างธนาคารพัฒนาเอเชีย (ADB) ได้ประมาณการการขยายตัวทางเศรษฐกิจของไทยในปี 60 ที่ 3.5% ซึ่งสูงกว่าปีที่ผ่านมาที่เศรษฐกิจไทยมีการขยายตัวที่ 3.2% ทั้งนี้ในช่วงไตรมาสแรกของปี 60 เศรษฐกิจไทยมีอัตราการขยายตัว 3.3% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมา ซึ่งแสดงให้เห็นถึงความเชื่อมั่นขององค์กรในต่างประเทศที่มีต่อระบบเศรษฐกิจของไทยในปัจจุบัน เช่นเดียวกันกับนาย David Liow ผู้บริหาร De Dynasty Arts ซึ่งดำเนินธุรกิจรับให้คำปรึกษาและจัดงานอีเว้นท์ ของประเทศสิงคโปร์ ให้ความเห็นว่าขณะนี้เศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มดีขึ้นเมื่อเทียบกับประเทศอื่นๆ และคาดว่าจะมีการขยายตัวเพิ่มสูงขึ้น
นอกจากนั้นแล้วยังมองว่าไทยมีความพร้อมที่จะเป็นฐานการลงทุนของนักลงทุนจากทั่วโลก เห็นได้จากการผ่อนคลายกฎระเบียบต่างๆ และการเตรียมความพร้อมด้านโครงสร้างพื้นฐานเพื่อรองรับการลงทุนจากต่างประเทศของรัฐบาลไทย สำหรับในส่วนของกระทรวงพาณิชย์เอง ก็จะเร่งทำงานกันอย่างเต็มที่เพื่อผลักดันการขยายตัวทางเศรษฐกิจของประเทศ ไปพร้อมๆ กับการดูแลและแก้ไขปัญหาปากท้องของพี่น้องประชาชนอย่างเต็มความสามารถ
ด้านสถานการณ์เศรษฐกิจโลกล่าสุด มีแนวโน้มฟื้นตัวอย่างต่อเนื่องและมีเสถียรภาพมากขึ้น โดยประเทศที่เพิ่งจะเป็นเจ้าภาพจัดการประชุม One Belt One Road อย่างจีนนั้น ในไตรมาสแรกของปี 2560 (ม.ค.-มี.ค.) มีการขยายตัวทางเศรษฐกิจได้ดีกว่าที่คาดการณ์ไว้ โดยมีอัตราการขยายตัวสูงถึง 6.9% ซึ่งเป็นอัตราการขยายตัวสูงสุดในรอบ 6 ไตรมาส โดยได้รับปัจจัยสนับสนุนจากการขยายตัวของการลงทุนสินค้าคงทนที่ขยายตัวสูงถึง 9.2% และผลผลิตภาคอุตสาหกรรมที่ขยายตัว 6.8%
สำหรับแนวโน้มเศรษฐกิจปี 2560 คาดว่าจะขยายตัวในระดับเดียวกันกับปีที่ผ่านมา 6.7% ซึ่งสูงกว่าเป้าหมายที่รัฐบาลจีนได้ตั้งไว้ที่ 6.5% โดยมีปัจจัยสนับสนุนจากการดำเนินมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจภาครัฐ โดยเฉพาะการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐาน และการปรับลดอัตราภาษี เช่นเดียวกันกับเศรษฐกิจของประเทศอื่นๆ ในเอเชีย เช่น ญี่ปุ่น ฮ่องกง ไต้หวัน และสิงคโปร์ ที่มีแนวโน้มปรับตัวดีขึ้นอย่างช้าๆ จากปีก่อนหน้า ตามแรงสนับสนุนจากอุปสงค์ภายในประเทศ นอกจากนี้ ประเทศที่มีการพึ่งพิงการส่งออกไปตลาดจีนในสัดส่วนที่สูงอย่างไต้หวัน ฮ่องกง และสิงคโปร์ มีแนวโน้มการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจอย่างชัดเจนตามเศรษฐกิจจีนที่มีการขยายตัวสูงกว่าที่ได้คาดการณ์ไว้
เมื่อหันกลับมาดูซีกโลกตะวันตกอย่างสหรัฐฯ จะพบว่าเศรษฐกิจสหรัฐฯ มีการชะลอตัวลงเล็กน้อย แต่คาดว่าจะชะลอตัวเพียงชั่วคราว เนื่องจากตัวชี้วัดโดยภาพรวมยังสะท้อนถึงการฟื้นตัวได้ดี โดยการลงทุนทั้งภาคที่อยู่อาศัยและนอกภาคที่อยู่อาศัยปรับตัวดีขึ้นจากไตรมาสก่อนหน้านี้ รวมทั้งการส่งออกที่มีอัตราการขยายตัวสูงสุดในรอบ 9 ไตรมาส และตัวชี้วัดที่น่าสนใจอีกประการหนึ่งก็คือ อัตราการว่างงานของสหรัฐฯที่อยู่ในระดับต่ำจนใกล้เคียงกับอัตราการจ้างงานเต็มที่ ซึ่งในเดือนมีนาคมที่ผ่านมานั้น มีอัตราการว่างงานอยู่เพียง 4.5% ต่ำสุดในรอบ 10 ปี
สำหรับแนวโน้มในปี 2560 นี้ คาดว่าเศรษฐกิจสหรัฐฯ จะมีการขยายตัว 2.3% โดยได้รับปัจจัยสนับสนุนจากการขยายตัวของการบริโภคตามอัตราการว่างงานที่อยู่ในระดับต่ำ ค่าจ้างมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น และการขยายตัวของการลงทุน โดยเฉพาะในกลุ่มอุตสาหกรรมพลังงานตามราคาน้ำมันที่มีทิศทางการปรับตัวที่สูงขึ้น เช่นเดียวกันกับเศรษฐกิจยูโรโซนในปี 2560 ที่คาดการณ์ว่าจะมีการฟื้นตัวอย่างค่อยเป็นค่อยไป โดยจะมีการขยายตัวทางเศรษฐกิจ 1.7% เมื่อเทียบกับปีที่ผ่านมา เนื่องจากนโยบายการเงินที่ผ่อนคลาย การว่างงานที่ลดลง และอุปสงค์จากต่างประเทศที่ปรับตัวดีขึ้น
"อาจกล่าวได้ว่าแนวโน้มเศรษฐกิจโลกนับจากนี้ไป มีแนวโน้มที่จะขยายตัวอย่างต่อเนื่อง โดยคาดว่าในปี 60 นี้ จะมีการขยายตัวอยู่ที่ 3.4% ซึ่งเพิ่มขึ้นจากปี 59 ที่ 3.1% โดยการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจดังกล่าวนี้ ได้รับปัจจัยสนับสนุนจาก (1) ความต่อเนื่องของการรักษาระดับการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจนับตั้งแต่ในช่วงครึ่งหลังของปี 2559 (2) ราคาสินค้าโภคภัณฑ์ปรับตัวสูงขึ้น (3) มูลค่าการค้าโลกเริ่มขยายตัวต่อเนื่อง และ (4) ความเชื่อมั่นในตลาดทุนยังอยู่ในระดับสูงกว่าก่อนเกิดวิกฤติเศรษฐกิจ แต่อย่างไรก็ตามก็ยังมีปัจจัยที่อาจมีผลกระทบต่อการขยายตัวทางเศรษฐกิจที่ต้องเฝ้าจับตามอง อาทิ ปัญหาความตึงเครียดและ ความขัดแย้งของการเมืองระหว่างประเทศ ความมีเสถียรภาพของยูโรโซน และการดำเนินนโยบายกีดกันทางการค้าที่มีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้น" รมว.พาณิชย์ กล่าว