ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ร่วมกับ ธนาคารพาณิชย์ 16 แห่ง และบริษัท บริหารสินทรัพย์สุขุมวิท จำกัด (SAM) ได้ร่วมกันจัดตั้งโครงการแก้ไขปัญหาหนี้ส่วนบุคคลที่ไม่มีหลักประกัน หรือ "คลินิกแก้หนี้"ขึ้น เพื่อช่วยให้ลูกหนี้ที่สุจริตและมีความมุ่งมั่นที่จะแก้ปัญหาได้มี โอกาสแก้ปัญหาภาระหนี้สินที่มีกับเจ้าหนี้หลายรายอย่างครบวงจรและเป็นมาตรฐานเดียวกัน โดย SAM จะทำหน้าที่เป็นหน่วยงานกลางเพื่อทำหน้าที่แทนเจ้าหนี้ในการปรับปรุงโครงสร้างหนี้ให้อยู่ในระดับที่บริหารจัดการได้ตามศักยภาพจริง
นายวิรไท สันติประภพ ผู้ว่า ธปท. กล่าวว่า ตามที่ปัญหาหนี้ในภาคครัวเรือนมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นจนอาจจะกระทบต่อการดำรงชีวิตของประชาชนและภาพรวมของเศรษฐกิจในระยะยาว (ธปท.) สมาคมธนาคารไทย สมาคมธนาคารนานาชาติ และ SAM เล็งเห็นถึงความสำคัญในการวางโครงสร้างพื้นฐานในการแก้ปัญหาหนี้อย่างเป็นระบบ โดยเฉพาะการปรับปรุงโครงสร้างหนี้สำหรับลูกหนี้ที่มีเจ้าหนี้หลายราย ซึ่งอาจจะมีอุปสรรคในขั้นตอนการเจรจา ทำให้การแก้ปัญหาไม่เบ็ดเสร็จและขาดประสิทธิภาพ
"จากข้อมูลล่าสุด พบว่าหนี้ภาคครัวเรือน ณ สิ้นปี 59 อยู่ที่ระดับ 79.9% ของจีดีพี แม้จะหักส่วนที่กู้ไปประกอบธุรกิจประมาณ 20% ของจีดีพี ก็ยังถือว่าหนี้ครัวเรือนอยู่ในระดับสูง โดยประเด็นที่น่ากังวลใจ คือ ถ้าพิจารณาข้อมูลที่บริษัทข้อมูลเครดิตแห่งชาติ ร่วมกับสถาบันวิจัยป๋วย อึ้งภากรณ์ จะพบว่า คนไทยเป็นหนี้เร็ว และเป็นหนี้นาน โดยปริมาณหนี้ต่อหัวเร่งขึ้นเร็วสำหรับคนอายุ 29-30 ปี คิดเป็น 50% หรือ 1 ใน 5 ของลูกหนี้ที่เป็นหนี้เสีย และระดับหนี้ไม่ลดลงมากแม้จะเข้าสู่วัยใกล้เกษียณ รวมทั้งมีหนี้มูลค่ามากขึ้น โดยค่ากลางของหนี้ต่อหัว ณ สิ้นปี 2559 เฉลี่ยอยู่ที่ 1.5 แสนบาท" นายวิรไท กล่าว
สำหรับโครงการนำร่องที่จะเริ่มต้นในวันที่ 1 มิถุนายน 2560 นี้ครอบคลุมเฉพาะสินเชื่อส่วนบุคคลที่ไม่มีหลักประกันของธนาคารไทยและสาขาของธนาคารพาณิชย์ต่างประเทศที่มีเจ้าหนี้หลายราย ซึ่งมีสถานะเป็นหนี้เสีย (ค้างชำระมากกว่า 90 วัน) ก่อนวันที่ 1 พฤษภาคม 2560 โดยลูกหนี้ที่เข้าร่วมโครงการจะต้องแสดงเจตนาที่ปรับเปลี่ยนพฤติกรรม สร้างวินัยในการใช้จ่าย ทั้งนี้ จะมีการติดตามประเมินผลโครงการนี้เป็นระยะ เพื่อปรับปรุงและพัฒนาอย่างต่อเนื่อง
ผู้ว่าฯ ธปท. กล่าวว่า คนที่มีหนี้ในระบบยังมีสถานะการเงินเปราะบาง โดย 16% ของคนที่มีหนี้ หรือประมาณ 3 ล้านคนมีหนี้ที่มีสถานะค้างชำระเกินกว่า 90 วัน สะท้อนถึงการเป็นหนี้เสียที่ต้องถูกเจ้าหนี้ติดตามทวงถามหรืออยู่ระหว่างกระบวนการทางกฎหมาย โดยการแก้ปัญหาต้องทำแบบบูรณาการสถาบันการเงินเองก็ต้องทำธุรกิจด้วยความรับผิดชอบ ไม่ควรมีการขายผลิตภัณฑ์ทางการเงินที่ส่งเสริมให้ประชาชนเป็นหนี้เพิ่มขึ้น และต้องมีกลไกหรือทางออกให้ประชาชนกรณีเป็นหนี้ด้วย
สำหรับประชาชนที่ต้องการเข้าร่วมโครงการต้องเป็นบุคคลธรรมดา มีเงินเดือนประจำ อายุไม่เกิน 65 ปี มีหนี้บัตรเครดิต หนี้กดเงินสด หรือสินเชื่อส่วนบุคคลที่ไม่มีหลักประกันค้างเกินกว่า 3 เดือน กับธนาคารตั้งแต่ 2 แห่งขึ้นไป ไม่ถูกฟ้องร้องดำเนินคดี และมียอดหนี้เงินต้นค้างชำระรวมไม่เกิน 2 ล้านบาท โดยจากข้อมูลของ บริษัทข้อมูลเครดิต เบื้องต้นพบว่าอาจจะมีลูกหนี้ในกลุ่มนี้หลายแสนราย ยอดเงินรวมกันมากกว่า 1 แสนล้านบาท
"โครงการดังกล่าวเป็นโครงการนำร่อง โดยหลังจากนี้หากมีการแก้ไขกฎหมายของ SAM เพื่อเปิดกว้างในการทำงานมากขึ้น ก็จะสามารถเข้าไปดูแลลูกหนี้ในกลุ่มนอนแบงก์ได้ โดยเบื้องต้นคาดว่าจะมีลูกหนี้ที่เข้าเกณฑ์สนใจเข้าร่วมโครงการหลายแสนราย จากปัจจุบันมีลูกหนี้ที่มีรายได้ประจำราว 70% ของลูกหนี้ทั้งหมด โดยยืนยันว่าโครงการคลินิกแก้หนี้ไม่ใช่ยาวิเศษที่จะสามารถรักษาหนี้ทุกคนให้หายขาดได้ แต่เป็นหนึ่งในมาตรการที่จะเปิดโอกาสให้ลูกหนี้ที่สุจริตและมีความมุ่งมั่นตั้งใจอยากแก้ไขปัญหาสามารถเริ่มต้นใหม่ด้วยการปรับปรุงโครงสร้างหนี้ที่มี" ผู้ว่าฯ ธปท.ระบุ
ด้านนายปรีดี ดาวฉาย ประธานสมาคมธนาคารไทย เปิดเผยว่า โครงการดังกล่าวมีเป้าหมายเพื่อลดและปลดหนี้สินของลูกค้าของธนาคาร และถือเป็นโอกาสที่ดีที่ธนาคารพาณิชย์ที่พร้อมจะให้ความร่วมมือในการแก้ไขปัญหาหนี้สินภาคครัวเรือนอย่างเป็นระบบด้วย