พาณิชย์ เผยภาวะศก.การค้าไทย Q1/60 ขยายตัวดี เงินเฟ้ออยู่ในระดับเหมาะสมกับการฟื้นตัวของศก.

ข่าวเศรษฐกิจ Thursday May 18, 2017 11:07 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

น.ส.พิมพ์ชนก วอนขอพร ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) และโฆษกกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า สนค.ได้จัดทำรายงานภาวะเศรษฐกิจการค้าไตรมาส 1 ของ ปี 2560 และแนวโน้มทั้งปี 2560 พบว่าภาพรวมเศรษฐกิจการค้าไทยไตรมาสแรกของปี 2560 ขยายตัวในเกณฑ์ดีต่อเนื่องจากปี 2559 ทั้งเศรษฐกิจการค้าในประเทศและการค้าต่างประเทศ โดยการส่งออกขยายตัวสูงที่สุดในรอบ 17 ไตรมาส การจัดตั้งนิติบุคคลในประเทศขยายตัวดี การลงทุนโดยตรงของไทยทั้งขาออกและขาเข้าขยายตัวต่อเนื่อง ในขณะที่เสถียรภาพด้านราคาเพิ่มขึ้นเล็กน้อยและอยู่ในระดับที่เหมาะสมต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ โดยรวมคาดว่าเศรษฐกิจไทยการค้าไทยทั้งปีจะขยายตัวได้ดีต่อเนื่องจากปีก่อน

สถานการณ์เศรษฐกิจการค้าในประเทศ อยู่ในเกณฑ์ดี สะท้อนได้จากสถานการณ์การจดทะเบียนนิติบุคคลในไตรมาสแรกที่ยังขยายตัวได้ดีต่อเนื่อง โดยจำนวนนิติบุคคลจดทะเบียนจัดตั้งใหม่มีการขยายตัวเพิ่มขึ้น ขณะที่การจดทะเบียนเลิกกิจการของนิติบุคคลมีจำนวนลดลง รวมถึงสถิติทะเบียนทรัพย์สินทางปัญญาไทยมีปัจจัยบวกจากการรับจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าเพิ่มขึ้น นอกจากนี้เสถียรภาพด้านราคาอยู่ในเกณฑ์ดี โดยอัตราเงินเฟ้อทั่วไปกลับมาขยายตัวเป็นบวกเล็กน้อยต่อเนื่องเป็นไตรมาสที่ 4 จากราคาน้ำมันและราคาอาหารสด ในขณะที่อัตราเงินเฟ้อพื้นฐานยังคงขยายตัวในเกณฑ์ดีได้อย่างต่อเนื่อง และดัชนีความเชื่อมั่นต่างๆ มีทิศทางที่ดีขึ้น สะท้อนการฟื้นตัวของอุปสงค์ในประเทศที่เป็นไปอย่างต่อเนื่อง

สถานการณ์เศรษฐกิจการค้าระหว่างประเทศ มีแนวโน้มกลับเข้าสู่ระดับศักยภาพ โดยมูลค่าการส่งออกสินค้าไตรมาสแรกของปี 2560 อยู่ในระดับสูงที่สุดในรอบ 17 ไตรมาส และขยายตัวในลักษณะกระจายมากกว่ากระจุก ทั้งในมิติรายสินค้าและรายตลาด สะท้อนถึงความสามารถในการแข่งขันและการปรับตัวในระดับที่ดีของไทยตามสถานการณ์เศรษฐกิจโลก สำหรับการส่งออกบริการในปี 2559 ยังคงขยายตัวในระดับสูง โดยบริการที่สร้างรายได้ให้กับประเทศได้มากที่สุด ได้แก่ สาขาการท่องเที่ยว และสาขาที่มีแนวโน้มเติบโตได้ดี ได้แก่ บริการทางการเงิน ประกันภัย โทรคมนาคม คอมพิวเตอร์ และบริการข้อสนเทศ

สถานการณ์การลงทุน ไตรมาส 4 ปี 2559 การลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศของไทยมีแนวโน้มทรงตัวอยู่ในระดับที่ดี และมีมูลค่าการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศสุทธิเพิ่มขึ้นทั้งสาขาการผลิตและสาขาบริการ ส่งผลให้ยอดคงค้างเงินลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศของไทยเพิ่มขึ้น โดยกลุ่มประเทศที่มีการลงทุนในไทยสะสมสูงที่สุด 5 อันดับแรก ได้แก่ ญี่ปุ่น อาเซียน สหภาพยุโรป สหรัฐอเมริกา และฮ่องกง ตามลำดับ สำหรับการลงทุนในต่างประเทศของไทยมีแนวโน้มเติบโตต่อเนื่อง โดยกลุ่มประเทศที่ไทยออกไปลงทุนสูงได้แก่กลุ่มประเทศอาเซียน โดยเฉพาะสิงคโปร์ เมียนมาร์ และเวียดนาม ทั้งนี้ ส่วนใหญ่ธุรกิจไทยลงทุนในสาขาการผลิตสินค้าอาหารและเครื่องดื่ม การทำเหมืองแร่ การบริการค้าปลีกและบริการทางการเงิน

"โดยรวม คาดว่าเศรษฐกิจไทยในปี 2560 จะขยายตัวได้ดี โดยเฉพาะการบริโภคและการลงทุนในประเทศ รวมทั้งการส่งออกที่มีแนวโน้มขยายตัวได้ดีที่ 3.0-4.0% ตามภาวะเศรษฐกิจที่เริ่มฟื้นตัว และราคาสินค้าโภคภัณฑ์ที่ปรับตัวสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง ในขณะที่เสถียรภาพด้านราคายังอยู่ในเกณฑ์ดี โดยอัตราเงินเฟ้อในปี 2560 คาดว่าจะขยายตัวที่ 1.5-2.2%" โฆษกกระทรวงพาณิชย์ ระบุ

อย่างไรก็ตาม ยังมีความเสี่ยงของราคาสินค้าเกษตรบางรายการ เนื่องจากมีปริมาณผลิตคาดว่าจะสูงขึ้นจากปีก่อนรวมถึงสถานการณ์เศรษฐกิจโลกและกระแสการค้าที่เริ่มซับซ้อนขึ้น โดยประเด็นที่ต้องติดตาม ได้แก่ เสถียรภาพของยูโรโซน ความตึงเครียดและความขัดแย้งของการเมืองระหว่างประเทศ และการดำเนินนโยบายกีดกันทางการค้าที่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้น รวมถึงการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยของธนาคารกลางสหรัฐฯ ซึ่งอาจจะทำให้เกิดความผันผวนของตลาดเงินและตลาดทุน

น.ส.พิมพ์ชนก กล่าวว่า นโยบายของกระทรวงพาณิชย์ในปี 2560 เน้นการดำเนินการเชิงรุก ใช้อุปสงค์ตลาดเป็นตัวนำ และสร้างพันธมิตรทางการค้าทั้งในประเทศและต่างประเทศ ให้สอดคล้องกับสถานการณ์อย่างมีประสิทธิภาพ โดยด้านการส่งเสริมเศรษฐกิจในประเทศ มุ่งเน้นการดูแลราคาสินค้าเกษตร เพื่อให้รายได้ของเกษตรกรไทยอยู่ในระดับที่เหมาะสม ด้วยการบริหารจัดการ Supply และ Demand โดยใช้การตลาดนำ (Demand Driven) และการดูแลค่าครองชีพที่ใช้นโยบายเชิงรุก ในการตรวจตราราคาสินค้า โดยให้พาณิชย์จังหวัดรายงานภาวะราคาสินค้าเป็นประจำทุกสัปดาห์ และติดตามการขึ้นราคาสินค้าโดยไม่เป็นธรรม ส่งเสริมเศรษฐกิจท้องถิ่นเชื่อมโยงกับการท่องเที่ยว รวมไปถึงพัฒนาผู้ประกอบการส่งเสริมให้ผู้ประกอบการเรียนรู้การนำเทคโนโลยี นวัตกรรม และความคิดสร้างสรรค์

ด้านการค้าระหว่างประเทศ ส่งเสริมการพัฒนาเครือข่ายความร่วมมือ (Strategic Partnership) ทั้งในระดับรัฐต่อรัฐ และเอกชนต่อเอกชน และติดตามแนวโน้มการค้าโลก เพื่อพัฒนาสินค้าให้สอดคล้องกับความต้องการตลาด โดยให้ความสำคัญกับการสร้างมูลค่าเพิ่มตามแนวนโยบาย Thailand 4.0 และ Creative Economy รวมไปถึงส่งเสริมการค้าชายแดนและสนับสนุนภาคเอกชนไทยในการสร้างศูนย์กระจาย/เปลี่ยนถ่ายสินค้าตามแนวชายแดน และจัดตั้งศูนย์กระจายสินค้าในประเทศเพื่อนบ้าน

ขณะเดียวกันมุ่งอำนวยความสะดวกแก่ผู้ประกอบการ โดยทบทวนกฎหมายแพ่งและพาณิชย์บางฉบับที่มีความเข้มงวดและขาดความยืดหยุ่นในการเริ่มต้นธุรกิจให้มีความทันสมัย โดยการลดขั้นตอนต่างๆ ลง เพื่อให้มีความสะดวกในการดำเนินธุรกิจมากยิ่งขึ้น จะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพและยกระดับมาตรฐานแก่ SME รวมถึงกลุ่ม Startup ให้สามารถขยายธุรกิจให้เติบโตต่อไปได้ รวมทั้งใช้ระบบอัตโนมัติ และเทคโนโลยีออนไลน์ เพื่อช่วยอำนวยความสะดวกในการติดต่อกับภาครัฐในด้านต่างๆด้วย


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ