พาณิชย์ แนะเจ้าของขึ้นทะเบียนคุ้มครองสิทธิ์ นัดถก USTR 19 พ.ค.หวังพ้น PWL

ข่าวเศรษฐกิจ Thursday May 18, 2017 17:41 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายทศพล ทังสุบุตร อธิบดีกรมทรัพย์สินทางปัญญา เปิดเผยว่า กรมฯ ได้ขอให้ผู้ประกอบการที่เป็นเจ้าของสินค้า ทั้งเจ้าของเครื่องหมายการค้า และตัวแทนสิทธิที่นำสินค้าจากต่างประเทศเข้ามาจำหน่ายในประเทศไทย แจ้งความจำนงเพื่อขอรับความคุ้มครองเครื่องหมายการค้า ณ จุดนำเข้าและส่งออก เพื่อป้องกันไม่ให้มีการนำสินค้าที่ปลอมเครื่องหมายการค้า เข้ามาจำหน่ายในประเทศ หรือส่งออกไปยังตลาดต่างประเทศ โดยเฉพาะสินค้าที่ได้รับความนิยม ทั้งเสื้อผ้า เครื่องหนัง รองเท้า นาฬิกา โทรศัพท์และอุปกรณ์เสริม แผ่นซีดี และดีวีดี เป็นต้น

"การดำเนินการดังกล่าวจะเป็นการสกัดกั้นสินค้าละเมิดเครื่องหมายการค้าที่ประตูหน้าด่านของประเทศ ก่อนที่สินค้าจะกระจายเข้าสู่ตลาดภายในประเทศหรือใช้ไทยเป็นฐานส่งออกไปต่างประเทศ ซึ่งผลการดำเนินการร่วมกับกรมศุลกากรในปีที่ผ่านมาถือว่าน่าพอใจ มีการจับกุมสินค้าละเมิดได้รวม 814 คดี มีของกลางที่ยึดได้ 1,213,454 ชิ้น" นายทศพล กล่าว

นอกจากนี้ กรมฯ ยังมีแผนตรวจสอบและจับกุมการจำหน่ายสินค้าละเมิดทรัพย์สินทางปัญญาอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะสินค้าที่ปลอมเครื่องหมายการค้าที่มีจำหน่ายตามร้านค้าตลาดนัด รวมถึงการจำหน่ายผ่านทางออนไลน์ ทั้งเว็บไซต์ เฟซบุ๊ก อินสตาแกรม ซึ่งที่ผ่านมา กรมฯ ได้ร่วมมือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องและภาคเอกชน ดำเนินการจับกุมมาโดยตลอด และจะดำเนินการตรวจสอบและจับกุมต่อไป

ด้านน.ส.วิบูลย์ลักษณ์ ร่วมรักษ์ ปลัดกระทรวงพาณิชย์ กล่าวว่า ในวันที่ 19 พ.ค.นี้ กรมทรัพย์สินทางปัญญาเตรียมหารือเชิงเทคนิคผ่าน VDO conference กับสำนักงานผู้แทนการค้าสหรัฐฯ (USTR) เพื่อรายงานความคืบหน้าแก้ไขปัญหา คาดว่า การหารือระหว่างกันอย่างต่อเนื่องจะส่งผลในทิศทางบวก ช่วยให้สหรัฐฯ ยกระดับไทยจากบัญชีประเทศที่ต้องจับตามองเป็นพิเศษ (PWL) มาเป็นประเทศที่ต้องจับตามอง (WL) ตามกฎหมายการค้าสหรัฐฯ มาตรา 301 พิเศษได้โดยเร็ว เนื่องจากไทยได้แก้ไขปัญหาในประเด็นเรื่องทรัพย์สินทางปัญญาตามที่ทางการสหรัฐฯ ให้ความสำคัญและเป็นกังวลมาอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะการป้องกันและปราบปรามการละเมิด ไม่ว่าจะเป็นการปรับปรุงกฎหมายและการบังคับใช้กฎหมาย รวมทั้งการเข้าเป็นภาคีพิธีสารมาดริดและสนธิสัญญาว่าด้วยลิขสิทธิ์ขององค์การทรัพย์สินทางปัญญาโลก เพื่อให้การคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญาของไทยมีประสิทธิภาพ


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ